นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า การเดินหน้าโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัล วอลเล็ต เฟส 3 นั้น คณะอนุกรรมการกลั่นกรองโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ อยู่ระหว่างพิจารณาผ่อนปรนให้ร้านค้า และประชาชน สามารถใช้ดิจิทัล วอลเล็ตได้ง่ายขึ้น เช่น ในมิติของร้านค้าจะผ่อนปรนให้นำวงเงินจากดิจิทัล วอลเล็ตออกมาใช้ได้ง่ายขึ้น จากเดิมที่กำหนดให้ร้านค้าถอนเงินสดได้เมื่อมีการใช้จ่ายตั้งแต่ในรอบที่ 2 เป็นต้นไป และร้านค้าที่ถอนเงินสดได้ต้องอยู่ในระบบภาษีเท่านั้น
ขณะที่ในด้านประชาชนนั้น จะปรับเงื่อนไขให้ใช้งานได้สะดวกมากยิ่งขึ้น อย่างไรก็ตาม กรณีที่มีกระแสข่าวว่าจะมีการปรับเงื่อนไขให้ประชาชนใช้จ่ายเป็นเงินสดได้ ยืนยันว่า รูปแบบการใช้จ่ายยังเป็นการใช้ในระบบดิจิทัล วอลเล็ต ขณะที่เรื่องเงื่อนไขการจำกัดใช้จ่ายเฉพาะพื้นที่อำเภอตามทะเบียนบ้านนั้น ขอให้รอข้อสรุปจากคณะกรรมการ แต่มีแนวโน้มที่จะใช้เป็นพื้นที่เหมือนเดิม
“ยืนยันว่า ดิจิทัล วอลเล็ต เฟส 3 ประชาชนไม่สามารถแลกเป็นเงินสดได้ แต่เราจะออกแบบให้มีการใช้งานได้ง่าย อำนวยความสะดวกให้กับประชาชน ซึ่งยังไม่สามารถแจ้งรายละเอียดได้ แต่เรื่องเงื่อนไขยังเป็นรูปแบบคล้ายเดิม แต่อาจจะผ่อนปรนเกณฑ์ลงบ้าง”
ทั้งนี้ จากการประชุมคณะกรรมการ ที่ผ่านมา ได้มอบหมายให้หน่วยงานกลับไปทำการบ้าน แล้วกลับมาสรุปกันอีกครั้ง ส่วนการประชุมคณะกรรมการนโยบายโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ ที่มีนางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน จะประชุมภายในเดือนก.พ.นี้หรือไม่ ต้องรอกำหนดการอีกครั้ง ส่วนการทดสอบระบบแพลตฟอร์ม ขณะนี้ก็อยู่ในกระบวนการ
ขณะที่การประเมินผลการแจกเงิน 10,000 บาท เฟสแรก สำหรับกุล่มเปราะบาง และผู้พิการ สามารถลดความเหลื่อมล้ำได้เร็วขึ้นถึง 3 ปีนั้น ยืนยันว่า ผลการประเมินไม่ได้มากไป เนื่องจากวิธีการคำนวณได้รวมการใส่เม็ดเงินลงไปให้กับประชาชน การกระจายเม็ดเงินเข้าไปด้วย ทั้งด้านรายจ่าย และรายได้ เห็นได้ว่าการลดความเหลื่อมล้ำลดลง 0.01%
“จากการศึกษาดัชนี GINI (ซึ่งใช้วัดความเหลื่อมล้ำ หากลดลงแปลว่ามีความเท่าเทียมเพิ่มขึ้น) ของกระทรวงการคลังพบข้อมูลในอดีตที่ผ่านมา หากไม่ได้ออกมาตรการอะไรเลย การลดความเหลื่อมล้ำ 0.01% จะใช้เวลานานถึง 3 ปี แต่การใช้เม็ดเงิน 10,000 บาท ให้กับประชาชน ทำให้ความเหลื่อมล้ำลดลง 0.01% เทียบเท่าการไม่ทำอะไรเลยใน 3 ปี”
นายเผ่าภูมิ กล่าวว่า การแจกเงินดิจิทัล เป็นเม็ดเงินที่ใหญ่ ซึ่งนำมาใส่ให้กับผู้รายได้น้อย ฉะนั้น เปรียบเทียบการใส่เม็ดเงินมหาศาลให้คนรายได้น้อยโดยเฉพาะ จึงเป็นการเพิ่มความสามารถการจับจ่ายใช้สอย และเพิ่มฐานะให้กับเขา ถือเป็นการลดความเหลื่อมล้ำโดยอัติโนมัติ