นโยบาย America First ของประธานาธิบดีสหรัฐฯ นายโดนัลด์ ทรัมป์ กำลังสร้างความปั่นป่วนไปทั่วโลก เพราะหลังรับตำแหน่งไม่ถึงเดือน ก็ได้ลงนามดำเนินการไปหลายเรื่อง ทั้งการเข้มงวดผู้อพยพ การหันหลังให้นโยบายสีเขียวและถอนตัวออกจากข้อตกลง Paris Agreement
ล่าสุดยังเปิดฉากสงครามการค้ารอบใหม่ (Trade War 2.0) ด้วยการเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนเพิ่มขึ้น 10% และอยู่ระหว่างเจรจากับเม็กซิโกและแคนาดา ภายใต้เงื่อนไขการพิจารณาเพิ่มภาษีนำเข้าจากทั้ง 2 ประเทศ 25% ในเดือนหน้า
ประมาณการเศรษฐกิจไทย
ขณะที่จีนตอบโต้ด้วยการขึ้นภาษีนำเข้า 15% สำหรับถ่านหินและ LNG และ 10% สำหรับน้ำมันดิบ เครื่องจักรทางการเกษตร และรถยนต์บางประเภท รวมถึงจำกัดการส่งออกแร่หายาก ซึ่งสงครามการค้ารอบใหม่ที่กำลังปะทุขึ้น สร้างความกังวลต่อธุรกิจไทยและการขยายตัวทางเศรษฐกิจ
ดร.พชรพจน์ นันทรามาศ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ และ Chief Economist ธนาคาร กรุงไทย จำกัด(มหาชน) เปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ”ว่า ตัวเลขเศรษฐกิจไทยเดือนธ.ค.ปีที่ผ่านมาพบว่า บางส่วนชะลอตัวเพิ่มเติม โดยเฉพาะภาคการผลิต ซึ่งจริงๆ อาจจะประหลาดใจ เพราะก่อนหน้าเห็นภาคการส่งออกเติบโตต่อเนื่องหลายเดือน มีการเร่งนำเข้าสินค้า
ดร.พชรพจน์ นันทรามาศ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ และ Chief Economist ธนาคาร กรุงไทย จำกัด(มหาชน)
"เข้าใจว่า เพื่อหลบความไม่แน่นอนจากนโยบายกีดกันทางการค้าของโดนัลด์ ทรัมป์ ทำให้การส่งออกเดือนพ.ย.เร่งตัวค่อนข้างมาก แต่พอเดือนธ.ค.ก็ทรงตัว"
ขณะที่ตัวเลขภาคการผลิตที่ออกมาเห็นว่า มีการชะลอตัว ดังนั้นผู้ประกอบการอาจจะมองว่า เป็นการเร่งส่งออกชั่วคราว เพราะผู้นำเข้าหลบภาษีไม่ได้เป็นดีมานด์ถาวรจากต่างประเทศ ซึ่งตัวเลขการผลิตไม่ได้วิ่งตามตัวเลขการส่งออก
ดังนั้น จีดีพีไตรมาส 4 ปีที่แล้ว จะไม่สูงเท่าที่มองไว้ ทั้งปีประเมินไว้ที่ 2.8% และด้วยข้อมูลล่าสุดที่ออกมา ไม่ว่าตัวเลข MPI ที่ชะลอลงเป็นไปตามแนวทางตามที่แบงก์ชาติคาดไว้คือ ตัวเลขภาคการผลิตไม่ได้รับอานิสงส์จากการส่งออกที่ค่อนข้างดูดี น่าจะเป็นเรื่องคาดการณ์ของผู้ประกอบการว่า ดีมานด์สินค้าที่เพิ่มขึ้นอาจจะไม่เป็นเป็นดีมานด์ที่เพิ่มขึ้นจริง แต่เป็นดีมานด์ในอนาคตมาเป็นปัจจุบันเท่านั้นเอง
สำหรับแนวโน้มปี 2568 กรุงไทยมอง 2 เครื่องยนต์หลักที่ยังขับเคลื่อนเศรษฐกิจคือ ภาคการท่องเที่ยวและรายรับจากการท่องเที่ยวต่างประเทศยังเป็นแรงส่งหลักและภาคการท่องเที่ยวจะช่วยในเรื่องรายได้เข้าประเทศและการจ้างงานน่าจะยังดีต่อเนื่อง โดยแนวโน้มจำนวนนักท่องเที่ยวทั้งปีน่าจะอยู่ที่ประมาณ 39ล้านคน จากสิ้นปีที่ผ่านมา 35.5 ล้านคน
ส่วนอีกเครื่องยนต์ที่คาดว่า น่าจะดีและต้องติดตามคือ ภาคลงทุนภาคเอกชน โดยเฉพาะตัวเลขขอรับการส่งเสริมการลงทุนหรือ บีโอไอ สูงขึ้นต่อเนื่อง 2-3แล้ว ซึ่งปี 2568 น่าจะเห็นการลงทุนจริงมากขึ้น แต่อาจจะต้องลุ้นต่อว่า ความไม่แน่นอนจากสงครามทางการค้าจะกดดันการลงทุนดังกล่าวให้ชะลอหรือไม่
ที่ผ่านมาสัญญาณตรงนี้ค่อนข้างดี ยิ่งสงครามทางการค้ามีแนวโน้มที่จะต่อเนื่อง การย้ายฐานการผลิตจากประเทศจีนออกมาจากต่างประเทศรวมถึงไทยน่าจะเป็นเทรนด์ระยะยาวและขับเคลื่อนเศรฐกิจไทยใน 2-3ปีข้างหน้า
ดร.ทิม ลีฬหะพันธุ์ นักเศรษฐศาสตร์ ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์ดเตอร์ด(ไทย)กล่าวว่า สแตนชาร์ด ระมัดระวังในมุมมองจีดีพีมาตลอด โดยประเมินปีนนี้ จะอยู่ประมาณ 2.5-3% แนวคิดสำคัญคือ นโยบายกีดกันการค้าสหรัฐอเมริกาที่เริ่มต้นเก็บภาษีในหลายประเทศ ซึ่งไม่สามารถจะสบายใจได้ แม้จะได้เรียนรู้ว่า ช่วง 10ปีที่ผ่านมา การบริโภคในประเทศเป็นเครื่องยนต์หลักที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย
ดร.ทิม ลีฬหะพันธุ์ นักเศรษฐศาสตร์ ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์ดเตอร์ด(ไทย)
ทั้งนี้ สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.) จะประกาศตัวเลขอัตราเติบโตทางเศรษฐกิจปี 2567 ในวันที่ 17 ก.พ.นี้
แต่มองไปข้างหน้า ด้วยสงครามการค้าที่เริ่มต้นขึ้น แม้ว่า ไทยจะใช้การส่งออกเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจไม่มากเท่ากับการบริโภคในประเทศ แต่ตัวเลขการบริโภคในประเทศและการผลิตที่ออกมาปลายปีที่แล้วก็ไม่ได้แข็งแรงนัก
“ไอเดียหลักของเรา จึงระมัดระวังและอาจจะพึ่งพาภายนอกไม่ได้มากนัก เพราะมีสงครามทางการค้า และในประเทศที่จะพึ่งพาการบริโภคกลับมาชะลอลง ซึ่งแนวทางเราไม่แตกต่างจากมุมมองของแบงก์ชาติ เพียงแต่ภาพเหล่านี้ เราเห็นมาสักระยะหนึ่งแล้ว และแนวคิดที่ระมัดระวังมาก่อนหน้านานแล้ว และอยากจะเห็นโอกาสลดดอกเบี้ยมากกว่านี้"
ดร.ทิมกล่าวเพิ่มเติมว่า เครื่องยนต์หลักที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในปี 68 ให้น้ำหนักกับการท่องเที่ยวแนวโน้มน่าจะดีต่อเนื่อง แต่จะเห็นแรงส่งชัดในครึ่งปีหลังหรือไตรมาส 2 เพราะครึ่งแรกช่วงตรุษจีนมีความกังวลเรื่องความปลอดภัย (เช่น ยกเลิกการเดินทางมาท่องเที่ยวในไทย หรือ เหตุการณ์ลักพาตัว)
ในส่วนของการใช้จ่ายภาครัฐ ม้จะกลับมาอาจจะไม่ใช่ปัจจัยขับเคลื่อนหลักเช่น การบริโภคในประเทศ การท่องเที่ยว การส่งออกและการลงทุน
สำหรับความกังวลยังคงมีอยู่ค่อนข้างมาก ซึ่งจะเป็นความเสี่ยงที่ท้าทาย ทั้ง เศรษฐกิจไทย การค้าระหว่างประเทศ ทิศทางค่าเงินบาท และดอกเบี้ย โดยสงครามทางการค้าที่ยังไม่ทราบสหรัฐอเมริการจะดำเนินนโยบายการค้าแบบไหน มาตรการทางภาษีที่ทำได้คือ การเตรียมตัว หรือการท่องเที่ยวที่เข้าสู่โลซีซันและความปลอดภัยจากข่าวที่ออกมา
รวมทั้งการผันผวนของค่าเงินบาท อีกทั้งทิศทางดอกเบี้ยโลกยังไม่นิ่ง เมื่อเผชิญนโยบายภาษีสหรัฐ หรืออัตราเงินเฟ้อจะกลับมาแนวโน้มดอกเบี้ย “ขาลง”ยังสร้างความผันผวนกับตลาดรวมทั้งตลาดหุ้นของไทย ดังนั้นส่วนตัวมองว่า ครึ่งปีแรกช่วงผันผวน ต้องระมัดระวัง เพราะหากจะเปรียบเทียบกับครึ่งปีหลังอาจจะมีสตอรี่ที่ดีกว่าซึ่งมาจากการท่องเที่ยว
นายจิติพล พฤกษาเมธานันท์ หัวหน้าส่วนงานกลยุทธ์การลงทุนต่างประเทศ บล.ฟินันเซีย ไซรัส จำกัด (มหาชน)กล่าวว่า ไตรมาสแรกปีนี้จริงๆ ควรจะดีจากมาตรการแจกเงิน แต่ขึ้นอยู่กับกระบวนการตรวจสอบ ซึ่งหากไม่มีมาตรการกระตุ้นกำลังซื้ออาจจะยังไม่มา เศรษฐกิจไม่ก้าวกระโดด ขณะที่ภาคการท่องเที่ยวและส่งออกไตรมาส1 ก็น่าจะยังไม่อู้ฟู่เท่าที่ควร
นายจิติพล พฤกษาเมธานันท์ หัวหน้าส่วนงานกลยุทธ์การลงทุนต่างประเทศ บล.ฟินันเซีย ไซรัส จำกัด (มหาชน)
ส่วนการส่งออกยังไม่มั่นใจว่า จะดีต่อเนื่องจากไตรมาส 3-4 ซึ่งอาจจะต้องดูกันยาวๆ เพราะเริ่มจะเห็นการเปลี่ยนแปลงจากนโยบายโดนัล ทรัมป์ที่จะเข้ามากระทบ แนวโน้มจึงยังไม่ค่อยสดใส แต่ระหว่างปีจำนวนนักท่องเที่ยวน่าจะกลับมา
โดยเฉพาะปัจจัยที่คาดหวังจะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจคือ การลงทุนภาคเอกชนนั้น ส่วนตัวมองว่า ด้วยความไม่แน่นอนจากนโยบายทรัมป์ จะทำให้การลงทุนยังไม่ฟื้น เพราะนักลงทุนไม่กล้าซื้ออุปกรณ์ วัตถุดิบหรือลงทุน
ขณะที่กำลังซื้ออาจจะพอมีบ้างจากมาตรการภาครัฐ แต่ไม่ถึงกับยิ่งใหญ่ ดังนั้นเซ็กเตอร์ที่จะดึงเศรษฐกิจไทยหลักๆ จะมาจากการท่องเที่ยว ถ้าการลงทุนภาครัฐเดินหน้าชัดเจน อาจจะเห็นตัวเลขเศรฐกิจไทยไตรมาสแรกอย่างน้อยไม่ต่ำกว่า 2.5-3.0% ซึ่งทำให้ใกล้เคียงกับไตรมาส4 ที่ประมาณ 3.0%
“ส่วนตัวมองไตรมาส1 ปีนี้เศรษฐกิจน่าจะขยายตัวประมาณ 2.5-3.0% โดยมีแรงส่งจากการบริโภคภาคเอกชน การท่องเที่ยวบางส่วนและนโยบาย easy receipt ที่จะช่วยดันในกับต่างประเทศ"
สำหรับทั้งปีมองจีดีพีจะเติบโต 3.0% บนสมมติฐานว่า คณะกรรมการนโยบายการเงินจะปรับลดดอกเบี้ย 1-2 ครั้งแต่เชื่อว่ายังไม่ลดดอกเบี้ยในการประชุมรอบวันที่ 26 ก.พ.นี้ แนวโน้มน่าจะเริ่มตั้งแต่กลางปีหากจีดีพีไตรมาส1-2 ไม่เวิร์ก
ขณะที่แนวโน้มอัตราเงินเฟ้อยังต่ำ แต่ความเสี่ยงก็อยู่ที่ค่าเงินบาทต่อดอลลาร์ที่ยังผันผวน ซึ่งภาคธุรกิจทั้งตลาดเงินตลาดทุนเริ่มมีความกังวลต่อการเคลื่อนไหวของเงินบาทที่เร็วและถี่ ทั้งแข็งค่า/อ่อนค่า ซึ่งความผันผวนที่ขยับต่อวัน 1-2%นั้น เหมาะสมกับภาวะเศรษฐกิจปัจจุบันหรือไม่ ซึ่งแนวโน้มยังไม่มีความชัดเจน
ในแง่ทิศทางเงินบาทจะแข็งค่าหรืออ่อนค่า ในภาวะเศรษฐกิจไม่ดี หากเจอค่าเงินผันผวนเข้าไปอีก ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการค้าระหว่างประเทศไม่มั่นใจมากกว่าเดิม
ส่วนตัวมองค่าเงินบาทจะเคลื่อนไหวที่ 33-33.5 บาทต่อดอลลาร์ ในปลายปี68 เหตุผลหลักมาจากนโยบายการค้าของทรัมป์มีผลต่อตลาดอัตราแลกเปลี่ยน ซึ่งระยะสั้น ทำให้เงินดอลลาร์แข็งค่า แต่ท้ายที่สุด หากแต่ละประเทศคู่ค้าสามารถเจรจาต่อรองได้ มีความเป็นไปได้สูงที่ดอลลาร์จะอ่อนค่าลง ซึ่งจะตอบโจทย์สหรัฐในการแก้ปัญหา ทั้งเรื่องเศรษฐกิจและการขาดดุลการค้าของสหรัฐ
นายพิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร (KKP Research) กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยกำลังเผชิญความเสี่ยงจากนโยบายของสหรัฐฯ ซึ่งนอกจากกลุ่มสินค้าส่งออกที่อาจได้รับผลกระทบแล้ว ไทยอาจถูกกดดันให้เปิดตลาดบางกลุ่มสินค้า รวมถึงสินค้าเกษตรที่ไทยมีอัตราภาษีและมาตรการกีดกันการนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ
นายพิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร (KKP Research)
ในขณะที่ไทยอาจได้รับประโยชน์จากการย้ายฐานลงทุน จึงมีความจำเป็นที่ประเทศไทยต้องเตรียมพร้อมในการรับมือและเจรจาต่อรองให้เกิดผลดีที่สุด
ดังนั้น ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจที่มีไม่แน่นอนนั้น การใช้นโยบายการคลัง และนโยบายการเงินจะมีบทบาทสำคัญในการรับมือกับความเสี่ยง รวมถึงการปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจ เพื่อสนับสนุนการลงทุนและยกระดับศักยภาพของเศรษฐกิจยังมีความสำคัญอย่างยิ่ง โดยคาดว่าน่าจะมีการปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงอีกในปีนี้ และรัฐบาลยังคงใช้นโยบายขาดดุลด้านการคลังเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ
อย่างไรก็ดี ด้วยข้อจำกัดด้านการคลังกำลังมีมากขึ้นและหนี้สาธารณะที่ขยับใกล้แตะเพดาน 70% ของ GDP รัฐบาลอาจต้องมีการทบทวนว่า จะเลือกใช้นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างไรเพื่อให้เกิดผลดีที่สุดต่อเศรษฐกิจ
นอกจากนั้น จากระดับรายได้ภาษีของรัฐบาลที่มีแนวโน้มลดลงเมื่อเทียบกับขนาดเศรษฐกิจ ตลอดจนความจำเป็นในการใช้จ่ายภาครัฐที่มีมากขึ้น ทำให้จำเป็นต้องปฏิรูประบบราชการเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของรัฐ ขยายฐานภาษี และปฏิรูประบบภาษีเพื่อเพิ่มรายได้ ดูแลเรื่องปัญหาความเหลื่อมล้ำ และเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ
หน้า 1 หนังสือพิมพ์ ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 4,069 วันที่ 9 - 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2568