การเดินหน้า “เศรษฐกิจไทย” ในปีนี้ (Go Thailand 2025) ยังต้องเผชิญกับความท้าทายรอบด้านจากปัจจัยลบทั้งภายในและภายนอกประเทศ ส่งผลให้แนวโน้มการเติบโตยังคงเผชิญกับแรงกดดัน โดยเฉพาะหลังการเข้ามารับตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาคนใหม่ “โดนัลด์ ทรัมป์” ที่ทำให้ไทยและทั่วโลกล้วนได้รับผลกระทบจากนโยบาย “America First” สร้างความแปรปรวนต่อเศรษฐกิจโลก พร้อมกับการมาของยุคทรัมป์ 2.0 ยังไม่นับรวมความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ และเศรษฐกิจในประเทศเองที่ยังคงผันผวนและขาดความเชื่อมั่นของนักลงทุน
นางกอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร ประธานกรรมการ ธนาคารกสิกรไทย, ประธานกรรมการ บริษัท โตชิบา ไทยแลนด์ จำกัด และรองประธานหอการค้าไทย เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า เศรษฐกิจไทยปีนี้ มีโอกาสที่รออยู่ แม้สถานการณ์เศรษฐกิจโลกจะยังคงมีความไม่แน่นอน แต่เชื่อมั่นว่าเศรษฐกิจไทยกำลังอยู่ในทิศทางที่ดีขึ้นเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม การเติบโตของเศรษฐกิจไทยจะไม่เท่ากันในทุกภาคส่วน ทุกธุรกิจ และทุกกลุ่มคน การจะประสบความสำเร็จในปีนี้ขึ้นอยู่กับว่าเราจะมองเห็นโอกาสและปรับตัวอย่างไร
ตลอดหลายปีที่ผ่านมา ประเทศไทยต้องเผชิญกับความท้าทายมากมาย ไม่ว่าจะเป็นวิกฤตเศรษฐกิจโลก การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี หรือการแข่งขันจากประเทศเพื่อนบ้าน แต่ก็สามารถผ่านพ้นอุปสรรคเหล่านั้นมาได้เสมอ แม้จะมีความท้าทาย แต่ก็ยังมีโอกาสมากมายรออยู่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่ประเทศไทยกำลังให้ความสำคัญกับการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานและการส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศ
“จริง ๆ ทุกปีมีความท้าทาย อย่างในกรณีทรัมป์ 2.0 มีคนบอกว่าเราแย่แน่ ไทยแย่แน่ เราต้องคิดย้อนกลับไปทุกปีคือวิกฤตตลอดเราต้องมองหาโอกาสให้ได้ อย่างในกรณีทรัมป์ 2.0 การลงทุนในประเทศไทยและเอเชียจะมีมากขึ้น และไม่ใช่ประเทศไทยอย่างเดียว เราต้องแข่งขันกับเวียดนาม อินโดนีเซีย เราต้องเห็นโอกาสและพัฒนาตัวเอง
เราต้องหาจุดเด่นของเรา คนไทยมีความสามารถน่าเชื่อถือ ลงทุนในไทยเจ็บน้อยสุด ต้องสร้างโอกาสให้กับตัวเอง อย่าคิดว่าเราสู้ไม่ได้ รอให้เป็นหน้าที่รัฐบาลอย่างเดียวไม่ได้ เพราะฉะนั้นโอกาสยังมีอยู่ แม้จะถามว่าเศรษฐกิจดีขึ้นอย่างรวดเร็วไหมคงไม่ ต้องมองอย่างละเอียดเราต้องก้าวหน้าไปก่อนถ้าเราไปก่อนเราก็จะเห็นโอกาส”
ทั้งนี้ ภาคเอกชนมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ต้องพร้อมที่จะปรับตัวให้เข้ากับสภาวะแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว และมองหาโอกาสใหม่ๆ ที่จะเกิดขึ้นเสมอแม้ว่าสถานการณ์เศรษฐกิจโลกจะยังคงมีความไม่แน่นอน แต่เชื่อมั่นว่าประเทศไทยจะสามารถผ่านพ้นวิกฤตนี้ไปได้ และเติบโตอย่างยั่งยืนในอนาคต การที่เราจะประสบความสำเร็จได้นั้น ขึ้นอยู่กับความร่วมมือของทุกภาคส่วน และความสามารถในการปรับตัวของเราเอง
ขณะที่นางสาวพราวพุธ ลิปตพัลลภ กรรมการบริหาร กลุ่มบริษัท พราว กล่าวไปในทิศทางเดียวกันว่า เศรษฐกิจไทยในปีนี้ถือว่าท้าท้าย เพราะเศรษฐกิจโลกมีความผันผวนค่อนข้างมาก ไม่ว่าจะเป็นการกลับมาของ โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาอีกสมัย นโยบายที่จะเกิดขึ้นของประเทศจีน ซึ่งไทยในฐานะที่เป็นประเทศเปิดมากๆ ดังนั้นไม่ว่าจะว่ามากหรือจะน้อยก็ได้ผลกระทบต่อเรื่องนี้เช่นกัน
สำหรับในแง่ของ Growth Engine ของประเทศไทย การท่องเที่ยวก็ยังเป็นหนึ่งในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่แข็งแรงและไปต่อผลักดันการเติบโตของเศรษฐกิจได้ แต่การท่องเที่ยวไม่สามารถขับเคลื่อนการเติบโตจีดีพีของประเทศได้ 100% จำเป็นต้องหา Growth Engine อื่นๆ เพิ่มเติมด้วย ดังนั้นประเทศไทยต้องหา Growth Engine อื่นให้กับประเทศ โดยเรื่องของนวัตกรรมเป็นเรื่องสำคัญ รวมถึงการจะสร้างโอกาสให้ผู้บริหารรุ่นใหม่ Next Generation Leaders
การจะเพิ่มผลผลิต ( Productivity) โดยการสร้างอุตสาหกรรมใหม่ เข้าสู่ประเทศไทยเป็นเรื่องจำเป็น เพราะถ้าไม่ทำ หรือไม่มี New S-Curve ประเทศไทยถ้าจะหยุดอยู่กับที่ การเติบโตจีดีพี ก็จะไม่เกิน 3 % ขณะที่ถ้าไปดูประเทศเพื่อนบ้าน จะเห็นว่าเรื่องอุตสาหกรรมการผลิต มีการปรับเปลี่ยนไปทำเรื่องของอุตสาหกรรมไฮเทคเพิ่มมากขึ้น อย่าง เวียดนาม หรืออินโดนีเซีย ทำให้ประเทศเหล่านี้มีจีดีพีที่เติบโตดี
ด้านนายสมชัย เลิศสุทธิวงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ เอไอเอส กล่าวว่า ในฐานะที่เป็นคนไทยเราทุกคนต้องมีความหวัง กับประเทศใครว่าปีนี้ลำบากเศรษฐกิจโลกแปรปรวน ภูมิรัฐศาสตร์ ต่าง ๆ มากมาย ในฐานะอยู่ประเทศไทยเราต้องมีความหวัง หลายคนประมาณการณ์จีดีพีไม่ถึง 3% แต่อยากให้ทุกคนเชื่อมั่นว่า จีดีพีของประเทศจะสูงกว่า 3% ดังนั้นหลายๆ คนต้องเข้ามาช่วยกัน
ในเมื่อรับรู้ปัญหาโครงสร้างทั้งหมด ทุกภาคส่วนต้องร่วมมือกันจับมือให้ได้ เอไอเอส เป็นองค์กรใหญ่มีเป้าหมายชัดเจนว่าไม่ใช่เดินเป็นองค์กรใหญ่คนเดียวต้องกล้าที่จะเดินเข้ามาช่วยเศรษฐกิจรายย่อยเติบโตเพิ่มเติมขึ้นมา เราเห็นว่าโครงสร้างอุตสาหกรรมจากเดิมประกอบสินค้ายังไม่พอ รัฐบาลต้องเข้ามาสนับสนุนและส่งเสริมให้เกิดการทำอุตสาหกรรมไฮเทค มีการทำวิจัยและพัฒนาเพิ่มเติมขึ้น เพราะฉะนั้นทุกภาคส่วนต้องมีกฎหมายและบูรณาการต่างๆ ให้ถูกต้องและเป็นธรรม
นางสาวจรีพร จารุกรสกุล ประธานคณะกรรมการบริหาร และประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ WHA กล่าวถึงเศรษฐกิจไทยว่า ปีนี้จะเป็นปีที่ดีมาก ๆโดยเฉพาะการที่รัฐบาลมีแผนที่จะดึงการลงทุนให้เข้ามาภายในประเทศไทยมากขึ้น โดยเน้นในส่วนของการลงทุนด้านเทคโนโลยี ทั้งเซมิคอนดักเตอร์และดาต้าเซ็นเตอร์
ทั้งนี้ การลงทุนจากต่างชาติคือโอกาสที่จะทำให้เศรษฐกิจไทยเติบโต โดยข้อมูลจากบีโอไอ ระบุว่า ในปีที่ผ่านมามีคำขอรับการส่งเสริมการลงทุน 3,137 โครงการ เพิ่มขึ้น 40% จากปีก่อน สูงที่สุดนับตั้งแต่ก่อตั้งบีโอไอ และมีมูลค่าเงินลงทุน 1,138,508 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 35% สูงสุดในรอบ 10 ปีเช่นกัน
“ในฐานะภาคเอกชนต้องปรับตัว และเตรียมความพร้อมที่จะคว้าโอกาสที่กำลังจะมีเม็ดเงินใหม่มหาศาลไหลเข้ามาในไทย โดยฐานทุนใหม่จากต่างชาติกำลังจะเข้ามามีบทบาทในระบบเศรษฐกิจไทยมากขึ้นกว่าปีที่ผ่านมาแน่นอน”
ดร.เมธินี จงสฤษดิ์หวัง กรรมการผู้จัดการ ดีลอยท์ ประเทศไทย กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยยังคงต้องเผชิญกับความท้าทายจากหลายปัจจัยภายนอกที่ควบคุมไม่ได้ ดังนั้นฟันเฟืองหลักที่จะเป็นความหวังให้เศรษฐกิจไทยสามารถไปต่อได้ มี 2 ภาคส่วนสำคัญ ได้แก่ ภาคการท่องเที่ยว ที่ยังเติบโตได้ดี ซึ่งภาครัฐและทุกหน่วยงานจะต้องส่งเสริมให้เต็มที่ เพื่อให้เกิดส่วนที่ 2 คือ การบริโภคภายในประเทศ
ทั้งนี้ ในส่วนที่ 2 รัฐบาลจะต้องเป็นผู้ดูแล ด้วยการกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศ ต้องอาศัยการออกนโยบายการคลัง นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ หรือมาตรการทางเศรษฐกิจต่าง ๆ เพื่อพยุงหรือกระตุ้นเศรษฐกิจ ให้เกิดการจ้างงานและการกระจายรายได้ลงสู่ฐานรากให้มากที่สุด
“การบริโภคภายในประเทศ เป็นฐานรากที่สำคัญ การดำเนินนโยบายรัฐที่มุ่งเน้นให้เกิดการกระจายรายได้และการจ้างงาน จึงน่าจะมีบทบาทสำคัญสำหรับเศรษฐกิจไทยในปีนี้ น่าจะเอื้ออำนวยให้เศรษฐกิจเติบโตได้ดี”
นางสาวมณีรัตน์ อนุโลมสมบัติ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท Sea (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่าปีนี้เศรษฐกิจไทยยังคงมีความท้าทายอยู่ แต่จากนโยบายของรัฐบาล โดยเฉพาะแนวคิดเรื่อง Soft Power ถือเป็นมิติที่น่าสนใจมาก ถ้าหากสามารถนำเทคโนโลยี AI และอนาไลติกส์ (Analytics) มาผสมผสานกับ Soft Power
หรือนโยบาย 5F Food อาหารไทยที่มีชื่อเสียงระดับโลก Film อุตสาหกรรมภาพยนตร์และซีรีส์ที่เริ่มเติบโต Festival งานเทศกาลที่มีเอกลักษณ์ Fighting ศิลปะการต่อสู้ เช่น มวยไทย และ Fashion อุตสาหกรรมแฟชั่นที่มีเอกลักษณ์ไทย จะเป็นแรงผลักดันสำคัญในการนำเศรษฐกิจไทยสู่เวทีโลก และทำให้ประเทศไทยเป็นที่รู้จักมากขึ้น
“คนไทยมีความสามารถและศักยภาพสูง ถ้าได้รับการสนับสนุนที่เหมาะสม เรามีโอกาสที่จะเติบโตไปสู่เวทีโลกได้ การทำงานร่วมกันอย่างเป็นระบบและการขับเคลื่อนด้วยนโยบายที่ชัดเจน จะช่วยให้เศรษฐกิจไทยสามารถแข่งขันได้อย่างแท้จริง อย่างไรก็ตามต้องมีการทำงานร่วมกันระหว่างภาครัฐ เอกชน และภาคการศึกษา เชื่อว่าประเทศไทยไปได้”
“วันนี้ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ รวมถึงการมีเทคโนโลยีใหม่ๆเข้ามา ก็ทำให้เกิดอิมแพ็คต่อเศรษฐกิจด้วย ผมมองว่าในทุกการเปลี่ยนแปลง จะเป็นการปรับเปลี่ยนตัวเองให้ได้เท่าทันกับอนาคตที่เราคาดการณ์ไว้ได้ ก็จะเป็นโอกาสสำหรับใครหลายคน” นายเฉลิมชัย มหากิจศิริ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โทรีเซนไทย เอเยนต์ซีส์ จำกัด (มหาชน) กล่าวอีกว่า
ไม่ว่าใครจะอยู่ในเซ็กเตอร์ไหน ถ้าเรามองและสามารถพัฒนาตัวเองให้ไปอยู่ในแนวทางของอนาคตได้ ก็จะเป็นโอกาสที่ดี แต่ถ้าใครมองว่าเป็นวิกฤต ทุกคนก็จะไม่เห็นโอกาสหรือหาทางออกได้ สำหรับตนทุกวิกฤตหรือทุกการเปลี่ยนแปลง คือ โอกาสในการพัฒนาตัวเองไปสู่จุดๆหนึ่งได้
สำหรับเศรษฐกิจของไทยเชื่อว่ารัฐบาลที่มีประสบการณ์ในการนำพาเศรษฐกิจไปในทิศทางที่ดีได้โดยรัฐบาลนี้เศรษฐกิจไทยน่าจะไปได้ แต่ไม่ใช่แค่รัฐบาลอย่างเดียว แต่ต้องเป็นหน่วยงานเอกชน รวมถึงทุกคนที่พร้อมจะปรับเปลี่ยนไปด้วยกัน แต่ถ้าวันนี้โดยเฉพาะประเทศไทยแล้ว ยังมีความคิดยังไม่เป็นหนึ่งอยู่ หรือว่ามีความคิดหลากหลาย ถ้าในความคิดหลากหลายในการเดินทาง ถ้าแต่ละคนบอกวันนี้จะไปซ้าย บางคนบอกจะไปขวา คนนี้จะถอยหลัง คนนี้จะเดินหน้า
ถามว่าทั้งประเทศไทยจะไปตรงไหน แน่นอนก็จะหยุดอยู่ที่เดิมก็หวังและเชื่อว่าถ้าคนไทยทุกคนมีความคิดเป็นความเป็นไทย และอยากเดินไปข้างหน้าพร้อมๆกัน ช่วยกันคิดช่วยกันทำช่วยกันพัฒนา ประเทศไทยเป็นประเทศที่น่าอยู่มากๆ ตนไปมาแล้วทุกประเทศเชื่อว่าไม่มีที่ไหนน่าอยู่เท่ากับประเทศไทย