8 CEO คว้ารางวัล The Best Woman Leadership

05 ก.พ. 2568 | 05:13 น.

8 CEO หญิงคว้ารางวัล The Best Woman Leadership บนเวที “Go Thailand 2025: Women Run the World” ภายใต้แนวคิด “พลังหญิงเปลี่ยนโลก” เนื่องในโอกาสครบรอบ 45 ปี จัดโดยฐานเศรษฐกิจร่วมกับหอการค้าไทย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และมหาวิทยาลัยรามคำแหง

เนื่องในโอกาสครบรอบ 45 ปี “ฐานเศรษฐกิจ” จัดงาน Go Thailand 2025: Women Run the World” ภายใต้แนวคิด “พลังหญิงเปลี่ยนโลก” โดยได้รับเกียรติจากนางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ปาฐกถาพิเศษ ในหัวข้อ “Go Thailand 2025: The Nation Power – Vision to Action” ในค่ำวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2568 ณ TRUE ICON HALL ชั้น 7 ไอคอนสยาม

พร้อมกันนี้ฐานเศรษฐกิจ ยังร่วมกับหอการค้าไทย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และมหาวิทยาลัยรามคำแหง จัดมอบรางวัล The Best Woman Leadership ให้กับผู้นำหญิงเพื่อยกย่องและเชิดชูเกียรติผู้บริหารสตรีที่มีผลงานโดดเด่นใน 8 สาขา

8 CEO คว้ารางวัล The Best Woman Leadership

โดย CEO หญิง ที่ได้รับรางวัล ประกอบด้วย รางวัล Upcoming Star Award ได้แก่ คุณธนวรรณ วงศ์เจริญรัตน์ ผู้ก่อตั้งแบรนด์ Butterbear, รางวัล ESG Leadership Award ได้แก่ คุณกอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร ประธานกรรมการ ธนาคารกสิกรไทย, ประธานกรรมการ บริษัท โตชิบา ไทยแลนด์ จำกัด และรองประธานหอการค้าไทย

รางวัล Financial Leadership Award ได้แก่ คุณขัตติยา อินทรวิชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกสิกรไทย, รางวัล Marketing Excellence Award ได้แก่ คุณชฎาทิพ จูตระกูล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัท สยามพิวรรธน์, รางวัล Health & Wellness Leadership Award ได้แก่ ดร.อาทิรัตน์ จารุกิจพิพัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์

รางวัล Innovation & Technology Leadership Award ได้แก่ คุณมณีรัตน์ อนุโลมสมบัติ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร Sea (ประเทศไทย), รางวัล Gender Equality Award ได้แก่ คุณลภัสรดา เลิศภานุโรจ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท มาสเตอร์ สไตล์ จำกัด (มหาชน) และ รางวัล Visionary Leadership Award ได้แก่ คุณจรีพร จารุกรสกุล ประธานคณะกรรมการบริหารและประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)หรือ WHA

 

ความยั่งยืนเป็นหัวใจสำคัญของทุกภาคส่วน

นางกอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร ประธานกรรมการ ธนาคารกสิกรไทย, ประธานกรรมการ บริษัท โตชิบา ไทยแลนด์ จำกัด และรองประธานหอการค้าไทย ผู้ได้รับรางวัล “The Best Woman Leadership” สาขา ESG Leadership Award กล่าวกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ในยุคที่ความยั่งยืนเป็นหัวใจสำคัญของทุกภาคส่วน ธุรกิจก็เช่นกัน การเติบโตอย่างยั่งยืนไม่ใช่เพียงแค่คำพูดสวยหรู แต่เป็นเป้าหมายที่ธุรกิจทุกแห่งควรมุ่งไป

ในฐานะที่ได้สวมหมวกหลายใบและได้สัมผัสกับหลากหลายมิติ ได้เรียนรู้ว่าความยั่งยืนนั้นครอบคลุมทุกมิติ ไม่ว่าจะเป็นด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม การที่ธุรกิจจะเติบโตอย่างยั่งยืนได้นั้น จำเป็นต้องให้ความสำคัญกับทุกมิติเหล่านี้ไปพร้อมๆ กัน

กอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร

เศรษฐกิจพอเพียง โมเดลต้นแบบของความยั่งยืน หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงได้สอนให้เราเห็นถึงความสำคัญของการดำรงอยู่ที่สมดุล การรู้จักใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า และการดำเนินชีวิตที่พอเพียง ไม่มากเกินไปและไม่น้อยเกินไป ซึ่งหลักการเหล่านี้สามารถนำมาประยุกต์ใช้ในการทำธุรกิจได้เป็นอย่างดี

“ความสมดุลคือกุญแจสำคัญ สิ่งที่เราควรโฟกัสให้เป็นก้าวสำคัญต่อ ๆ ไป ธุรกิจต้องรับผิดชอบต่อทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นลูกค้า พนักงาน ผู้ถือหุ้น ชุมชน และสิ่งแวดล้อม การสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับทุกภาคส่วน จะช่วยให้ธุรกิจเติบโตอย่างยั่งยืนในระยะยาว เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ สู่สังคมที่เท่าเทียม”

ซึ่งต้องอยู่บนพื้นฐานของความถูกต้องและความยุติธรรม การดำเนินธุรกิจอย่างโปร่งใส ตรวจสอบได้ และเป็นธรรมต่อทุกฝ่าย จะช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้กับลูกค้า พนักงาน และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกคน การทำธุรกิจที่ยั่งยืน ไม่ใช่เพียงแค่เทรนด์ แต่เป็นสิ่งจำเป็นที่ทุกธุรกิจต้องให้ความสำคัญ การให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม การสร้างความสมดุล การดูแลคนในทุกภาคส่วน และการดำเนินธุรกิจอย่างถูกต้องและยุติธรรม จะช่วยให้ธุรกิจเติบโตอย่างยั่งยืนและสร้างสรรค์สังคมที่ดีขึ้น

“สุดท้ายยังยึดมั่นในปรัชญาการทำงานที่ได้รับจากคุณแม่ คือ“ปรัชญาอิฐแดง” ต้อง “รักในสิ่งที่ทำ” เรา

ต้องเชื่อว่าทุกคนสำคัญไม่ยิ่งหย่อยไปกว่ากัน ตำแหน่งไหนก็แล้วแต่ อยากให้รู้ถึงพลังของอิฐแต่ละก้อน เมื่อมาเรียงต่อกันเราก็จะเป็นพลังที่สร้างสรรค์สิ่งใหม่ได้”

 

ทุกอย่างเกิดขึ้นจากวิสัยทัศน์

นางสาวจรีพร จารุกรสกุล ประธานคณะกรรมการบริหาร และประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ WHA ซึ่งได้รับรางวัล Visionary Leadership Award กล่าวว่า มีความยินดีเป็นอย่างมาก เพราะทุกอย่างเกิดขึ้นจากวิสัยทัศน์ ก่อนที่จะเป็นแผนงานจริง โดยในปีที่ผ่านมา WHA ได้ดำเนินการตาม 3 เมกกะเทรนด์ สำคัญที่ตั้งเป้าไว้ ได้แก่

1.ภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitics) ที่ยังคงยืดเยื้อ ส่งผลให้ประเทศในกลุ่มอาเซียน ได้รับอานิสงส์ นักลงทุนต่างชาติได้ย้ายหรือขยายฐานการลงทุนเข้ามามากขึ้น เช่น Google ได้ประกาศลงทุน 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สร้างดาต้าเซ็นเตอร์ และ Cloud Region ในไทย รวมถึงก่อนหน้านี้ไฮเออร์จากจีนได้เตรียมลงทุนกว่า 1 หมื่นล้านบาท เพื่อผลิตเครื่องปรับอากาศส่งออก ซึ่งทั้ง 2 โครงการตั้งอยู่ในนิคมฯ WHA

จรีพร จารุกรสกุล

เทรนด์ที่ 2 ได้แก่ เทคโนโลยี (Technology) ซึ่งปีที่แล้ว WHA ได้ใช้เอไอกับทุกเรื่อง ทั้ง Internal และ External Process พร้อมเปิดตัวธุรกิจใหม่ WHA Mobility นอกจากนี้ WHA ยังสามารถนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้และขยายธุรกิจได้ดี ทำให้ WHA มีผลประกอบการที่ดีที่สุดเป็นประวัติการณ์

และ เทรนด์ที่ 3 คือความยั่งยืน (Sustainability) ที่จะเห็นได้ชัดเจนว่า เทรนด์ที่ WHA มองไว้ สามารถทำได้ถูกต้องทั้งหมด โดยเฉพาะเรื่องความยั่งยืนที่ได้ขยายธุรกิจใหม่ ๆ เกี่ยวข้องกับพลังงานสะอาด ซึ่งได้นำมาผสมผสานกับการขยายในหมดเทคโนโลยี

              

ยืนหยุ่นกับความเปลี่ยนแปลงของโลกได้

CEO หญิง ผู้ได้รับรางวัล Health & Wellness Leadership Award “ดร.อาทิรัตน์ จารุกิจพิพัฒน์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ กล่าวแสดงความคิดเห็นว่า ในยุคนี้ศักยภาพของผู้นำไม่ว่าผู้หญิงผู้ชาย เพศไหน หรือใครก็ตามจะต้องพร้อมปรับเปลี่ยน และยืนหยุ่นกับความเปลี่ยนแปลงของโลกได้ตลอดเวลา โดยผู้นำหญิงในยุคปัจจุบันถือว่ามีความมั่นใจมากขึ้น ซึ่งอาจจะต้องใช้ความเป็นเฟมินิสต์ให้เป็นประโยชน์ เพื่อใช้เป็นจุดแข็งสำหรับสร้างแรงจูงใจ แรงบันดาลใจ ให้กับคนรอบข้างหรือลูกน้อง ขับเคลื่อนองค์กรให้ประสบความสำเร็จได้

ดร.อาทิรัตน์ จารุกิจพิพัฒน์

ทั้งนี้ ผู้นำหญิงในประเทศไทย มักจะมีบุคลิกที่มีความอ่อนน้อมถ่อมตน มีความอ่อนโยน เข้มแข็งและแข็งแกร่ง บางคนนอกจากดูแลองค์กรแล้วยังสามารถดูแลทั้งครอบครัวได้ด้วย ฉะนั้นจึงปรับตัวกับการเปลี่ยนแปลงในเรื่องต่างๆได้ดี ซึ่งความสามารถก็ไม่แพ้ผู้ชาย และแน่นอนว่าทัดเทียมกับผู้นำระดับโลกได้

“โดยส่วนตัวที่อยู่ในแวดวงธุรกิจเฮลท์แคร์ บริหารงานโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ มีความมั่นใจมากที่สามารถนำพาโรงพยาบาลก้าวไปสู่ความเป็นผู้นำในระดับโลกได้ ติดอันดับ 130 โรงพยาบาลของโลก และเป็นพยาบาลเอกชนอันดับ 1 ของประเทศไทย สะท้อนให้เห็นความเป็นผู้นำในแบบของผู้หญิง และอยากเป็นกำลังใจให้ผู้นำที่เป็นผู้หญิงในองค์กรอื่นๆ ทุกคน”

“สิ่งที่ทุกองค์กรและทุกวงการกำลังให้ความสนใจคือความยั่งยืน และความเป็นอยู่ที่ดี (Well Being) ยกตัวอย่างในธุรกิจเฮลท์แคร์ มองว่าประเทศไทยต้องปรับตัวเป็นอย่างมาก สำหรับการพัฒนาคนให้กินดีอยู่ดีและมีสุขภาพที่ดี ช่วยให้ชีวิตยืนยาวแบบมีสุขภาพแข็งแรง และการดูแลสุขภาพในยุคนี้จะไม่ใช่แค่การรักษาโรค โดยจุดเปลี่ยนสำคัญคือ AI และดิจิทัล จะช่วยเข้ามาซับพ็อตดูแลสุขภาพของคน”

 

ทุกคนมีความเท่าเทียม มีศักยภาพไม่แพ้กัน

นางสาวลภัสรดา เลิศภานุโรจ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทมาสเตอร์ สไตล์ จำกัด (มหาชน) ผู้ได้รับรางวัล Gender Equality Award กล่าวว่า ปัจจุบันผู้หญิงเริ่มเข้ามามีบทบาทในด้านของธุรกิจ เทคโนโลยี ผู้นำสังคม ตลอดจนการเมืองการปกครอง ในเวทีต่างๆ เริ่มเห็นผู้หญิงอยู่ในระดับแนวหน้ามากขึ้น

ลภัสรดา เลิศภานุโรจ

โดยส่วนตัวมองว่าผู้หญิงและผู้ชาย ต่างมีศักยภาพภายในและทักษะความสามารถไม่แตกต่างกัน แต่สำหรับผู้นำที่เป็นผู้หญิงจะสามารถบู้ได้และบุ๋นได้ มีมุมมองในการบริหารจัดการกับบางเรื่องที่ยากให้เกิดความละมุน และด้วยคาแรกเตอร์ของความเป็นผู้หญิงบางครั้งก็อาจจะได้เปรียบในการเป็นผู้นำมากกว่าผู้ชาย โดยจะเห็นได้ว่าเทรนด์ของการเป็นผู้นำหญิงในปัจจุบันเริ่มมีมากขึ้น

สำหรับ ความโดดเด่นของ CEO คนไทยที่เป็นผู้หญิง จะมีอยู่ 2 ด้าน คือ 1. ด้านทักษะและความสามารถในการแข่งขัน 2. ด้านบุคลิกและลักษณะเฉพาะตัว ในภาคธุรกิจหลายอุตสาหกรรมมักมีชื่อนักบริหารผู้หญิงติดอันดับผู้นำเสมอ นอกจากนี้ยังมีความโดดเด่น สามารถแบทเทิลกับผู้นำที่เป็นผู้ชายได้

“ตอนนี้โลกเปลี่ยนไปแล้ว ผู้นำไม่ว่าจะในประเทศหรือต่างประเทศ จะมีทักษะความสามารถไม่ต่างกันแต่ที่แตกต่างคือลักษณะบุคลิกเฉพาะตัว โดยผู้นำหญิงจะมีความเข้มแข็งและอ่อนโยน เมื่อเจอกับสถานการณ์ยากก็ไม่จำเป็นต้องจัดการด้วยวิธีแบบฮาร์ดคอร์ นอกจากนี้อาจจะไม่จำเป็นว่าต้องเป็นผู้นำหญิงหรือชาย ตอนนี้ผู้นำที่อยู่ในกลุ่มของ LGBTQ+ ก็มี เพราะทุกคนเท่าเทียมกัน มีศักยภาพไม่น้อยหน้าใคร ทั้งยังเป็นแรงบันดาลใจให้กับหลายคนได้”

 

เทคโนโลยีช่วยทำให้ชีวิตผู้คนดีขึ้น

นางสาวมณีรัตน์ อนุโลมสมบัติ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท Sea (ประเทศไทย) จำกัด ผู้ได้รับรางวัล Innovation & Technology Leadership Award ซีอีโอหญิงคนแรกของ Sea (ประเทศไทย) บอกว่า หลักการสำคัญในการทำธุรกิจของกลุ่ม Sea คือ การนำเทคโนโลยีมาช่วยทำให้ชีวิตผู้คนดีขึ้น ซึ่งเป็นเหมือนกับวิสัยทัศน์ของเรา จะเห็นได้ว่าธุรกิจหลักของ Sea ไม่ว่าจะเป็นการีนา ที่เป็นธุรกิจเกมออนไลน์หรือซีมันนี่ บริการทางการเงินดิจิทัล หรือช้อปปี้ ที่เป็นอีคอมเมิร์ซ คือเรื่องของการนำเทคโนโลยีมาทำให้คนสะดวกสบายขึ้น ขณะที่เอสเอ็มอี ก็ได้รับประโยชน์มากขึ้น

มณีรัตน์ อนุโลมสมบัติ

“ผู้หญิงอาจจะมีความใส่ใจในรายละเอียดมากกว่า ทำให้เวลาสื่อสารหรือทำงานกับคู่ค้า ผลิตสินค้าบริการ หรือทำงานในองค์กร เราอาจจะมองเห็นรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ มากกว่า แต่ก็มีความท้าทายเช่นกัน ความเป็นผู้หญิงมันก็มีความคาดหวังจากสังคมรอบข้างอีกแบบหนึ่ง โดยเฉพาะเรื่องการบาลานซ์ระหว่างงานกับครอบครัว”