ตัดไฟ 5 จุดเมียนมาไม่พอสกัดแก๊งคอลฯ พร้อมรับมือ-มีไฟสำรอง

05 ก.พ. 2568 | 11:18 น.
อัปเดตล่าสุด :05 ก.พ. 2568 | 11:19 น.

นักวิชาการชี้ ตัดไฟ 5 จุดเมียนมา ไม่พอ แก๊งคอลเซ็นเตอร์ เนื่องจากมีการพร้อมรับมือ ตั้งเครื่องปั่นไฟสำรอง หวั่นกระทบการค้า-โรงพยาบาล-ธุรกิจไทย แนะจี้รัฐบาลท้องถิ่นร่วมปราบปราม

ไทยสั่งตัดไฟ 5 จุดชายเเดนไทย-เมียนมา สกัดอาชญากรรมข้ามชาติ  หลังจากที่สภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ได้มีการหารือร่วมกันเมื่อวันก่อน โดยมีมติให้ สมช. ส่งข้อมูลสำคัญด้านความมั่นคงให้ กฟภ. พิจารณา พร้อมทั้งให้เจรจากับบริษัทคู่สัญญาเพื่อกำหนดมาตรการตั้งแต่เบาไปหาหนัก และให้กระทรวงการต่างประเทศประสานกับรัฐบาลเมียนมาร์เพื่อกำชับบริษัทที่ได้รับสัมปทานให้ตรวจสอบการใช้ไฟที่ไม่เหมาะสม

นายประสิทธิ์ จันทร์ประสิทธิ์ รองผู้ว่าการ กฟภ. ยังคงยืนยันว่าการตัดไฟฟ้าที่ส่งขายให้กับประเทศเพื่อนบ้านนั้นต้องใช้มติคณะรัฐมนตรี ซึ่งทำให้นายภูมิธรรมไม่พอใจที่มีการ "โยนกันไปมา" และชี้แจงว่า สมช. ได้ระบุถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นจริง และ กฟภ. สามารถดำเนินการได้ทันทีโดยไม่ต้องรอให้ สมช. ชี้แจง เนื่องจากพบการใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นผิดปกติ

นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม เห็นว่าการค่อยๆ ตัดไฟอาจจะช้าเกินไปเพราะปัญหามีความรุนแรงแล้ว จึงสั่งการให้ สมช. แจ้ง กฟภ. ให้ตัดไฟทันที พร้อมเตือนว่าหากหน่วยงานใดไม่ปฏิบัติตามจะถูกยืมตัวมาช่วยราชการ โดยยืนยันว่าการตัดไฟฟ้าไม่จำเป็นต้องผ่านมติ ครม.

ล่าสุด หลังการประชุม สมช. ในวาระเร่งด่วน โดยมีการหารือร่วมกับนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และ รมว.มหาดไทย และ พ.ต.ท.ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม นายภูมิธรรมได้เปิดเผยว่า จากข้อมูลที่ สมช. รวบรวมพบว่ามีผลกระทบต่อความมั่นคงภายในประเทศและคนไทยอย่างรุนแรง จึงมีคำสั่งให้ตัดทั้งไฟฟ้า อินเทอร์เน็ต และน้ำมัน ใน 5 จุด ตั้งแต่เวลา 9.00 น. ของวันที่ 5 ก.พ. เป็นต้นไป

5 จุดโยงแก๊งคอลเซนเตอร์ ถูกตัดกระแสไฟฟ้า

  • จุดซื้อขายบริเวณบ้านพระเจดีย์สามองค์ เมืองพญาตองซู รัฐมอญ
  • บ้านเหมืองแดง-เมืองท่าขี้เหล็ก
  • สะพานมิตรภาพไทย-เมียนมา-เมืองท่าขี้เหล็ก รัฐฉาน
  • สะพานมิตรภาพไทย-เมียนมา แห่งที่ 2 ส่งไปที่เมียวดี
  • จุดซื้อขายไฟฟ้า ที่บ้านห้วยม่วง-อำเภอเมียวดี

ตัดไฟแล้วจะหยุดศูนย์หลอกลวงได้จริงหรือไม่

รศ.ดร.ปณิธาน วัฒนายากร นักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญด้านการต่างประเทศและด้านความมั่นคง ให้ความเห็นว่า ถึงแม้ว่าการตัดไฟอาจชะลอการดำเนินงานของศูนย์หลอกลวงบางแห่ง แต่องค์กรเหล่านี้มีทางเลือกในการหาแหล่งพลังงานสำรอง เช่น เครื่องปั่นไฟ หรือการดึงไฟจากเครือข่ายพลังงานของเมียนมาร์เอง ขณะที่โรงงานเหล่านี้สามารถเคลื่อนตัวได้ไม่ยาก อาจเห็นการย้ายไปยังพื้นที่อื่นก็เป็นไปได้เช่นกัน ดังนั้นการระงับไฟฟ้าไม่ได้ช่วยทั้งหมดเป็นเพียงสัญลักษณ์การทำงานเชิงนโยบายว่าไทยเอาจริงขึ้นเท่านั้น 

ไม่น่าจะได้ผลเต็มที่อย่างที่คาดหวัง ก่อนหน้านี้มีความเคลื่อนไหวที่จะตั้งเครื่องปั่นไฟเเละหาเเหล่งพลังงานอื่น ตอนนี้ยิ่งจะเร่งปฎิบัติการ อีกทั้งกลุ่มนี้ทราบดีอยู่เเล้วเพราะมีคนเข้าไปจำนวนหลายหมื่นคน ไฟฟ้า 3-4 เมกกะวัตต์ไม่เพียงพอ เริ่มเห็นเเนวโน้มว่าต้องเตรียมการ เริ่มมีการประหยัดไฟ ตั้งเครื่องปั่นไฟสำรองขนาดเล็ก จากนี้อาจจะมีการต่อรองกับไทย เพราะเป็นคู่สัญญาทาางธุรกิจเพื่อไม่ให้ผิดสัญญา  

รศ.ดร.ปณิธาน ตั้งข้อสังเกตสำคัญว่า การตัดไฟอาจเป็นเพียงมาตรการชั่วคราวที่ไม่ได้แก้ปัญหาที่ต้นเหตุจำเป็นต้องมีมาตรการร่วมมือระหว่างประเทศเพื่อปราบปรามอาชญากรรมไซเบอร์อย่างจริงจัง ไม่ใช่แค่การกดดันผ่านพลังงานเท่านั้น การปิดกั้นแหล่งพลังงานอาจส่งผลกระทบต่อประชาชนทั่วไปในพื้นที่ชายแดน ซึ่งอาจสร้างแรงกดดันทางมนุษยธรรม พร้อมเตือนไทยว่า "อย่าตกเป็นเครื่องมือ" ขณที่การปราบปรามควรมุ่งเป้าตรงไปที่กลุ่มโดยตรง ไม่เช่นจั้นอาจกระทบกับโรงพยาบาล ธุรกิจของไทยที่ไปลงทุน การค้าชายเเดน ซึ่งหากกำลังซื้อไม่ดีก็กระทบไทยด้วย เช่นเดียวกับจีนซึ่งทำการค้าขายในพื้นที่ 

ถ้าจะให้ได้ผลจริงๆ ต้องกดดันให้รัฐบาลท้องถิ่นเข้าไปปราบปรามซึ่งยังยาก เเม้เเต่กับจีนเพราะเอื้อประโยชน์กัน รัฐท้องถิ่นได้เงินจากจีน บางส่วนไหลไปให้กองกำลังชนกลุ่มน้อยเพื่อสู้รบกับรัฐบาลกลาง ซึ่งจริงๆ รัฐบาลทหารเมียนมาร์ต้องการจะปราบปรามกลุ่มนี้ เเละอาจจะอาศัยไทยกดดัน ทั้งตัดไฟ จับกุม ยิ่งทำได้มากเท่าไหร่ก็ดีต่อรัฐบาลทหารเมียนมาร์ไปโดยปริยาย ดังนั้นต้องระวังเพื่อไม่ให้ไทยกลายเป็นเครื่องมือของใคร

การตัดไฟดังกล่าวเกิดขึ้นในรอบหนึ่งสัปดาห์ หลิว จงอี้ ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงความมั่นคงสาธารณะแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน พร้อมด้วยคณะผู้บริหารหน่วยงานด้านความมั่นคงของจีน มีความเคลื่อนไหวในประเทศไทยในหลายพื้นที่ จึงชัดเจนว่าเกิดขึ้นเพราะแรงกดดันจากจีน

มีความเกี่ยวโยงเรื่องการกดดัน โดยค่อนข้างชัดเจนว่าจีนให้ความสำคัญเรื่องนี้มากขึ้นเพราะคนจีนเข้าไปทำงานในพื้นที่โดยเฉพาะเมืองพญาตองอูจำนวนมาก จีนรู้สึกว่าต้องปราบปรามเเต่ก็ไม่อยากให้กระทบกับพันธมิตรในรัฐฉานก็ต้องเดินให้สมดุล สิ่งที่ทำคือส่งรัฐมนตรีมาหน้างาน ประเทศไทยก็ต้องไปหน้างานเหมือนกัน  

เมียนมาร์จะหาไฟฟ้าจากที่ไหน

ปัจจุบัน เมียนมาร์พึ่งพาเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำและโรงไฟฟ้าถ่านหินเป็นหลัก แต่การขาดแคลนแหล่งพลังงานในประเทศทำให้ต้องพึ่งพาการนำเข้าพลังงาน  แม้ว่าการตัดไฟจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อศูนย์หลอกลวง แต่เมียนมาร์มีทางเลือกในการจัดหาไฟฟ้าจากประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะ ลาว ซึ่งเป็นแหล่งพลังงานสำคัญของภูมิภาค 

การนำเข้าไฟฟ้าจากลาว

เมียนมาร์ได้ลงนามในข้อตกลงความร่วมมือกับลาวตั้งแต่ปี 2561 เพื่อซื้อไฟฟ้า โดยเริ่มจาก 5 เมกะวัตต์และขยายเป็น 100 เมกะวัตต์สำหรับการใช้ในรัฐชาน

ในปี 2566 ทั้งสองประเทศได้ลงนาม MOU ใหม่เพื่อเพิ่มการนำเข้าไฟฟ้าอีก 600 เมกะวัตต์ และมีแผนสร้างสายส่งไฟฟ้าเชื่อมต่อไปยังเมืองเชียงตุงและเมืองเมะทีลา ซึ่งเป็นพื้นที่สำคัญของเมียนมาร์

คาดว่าสายส่งไฟฟ้าจะเชื่อมต่อถึงเชียงตุงภายในปี 2567 และถึงเมืองเมะทีลาในปี 2569 ซึ่งแสดงให้เห็นว่าเมียนมาร์กำลังพยายามลดการพึ่งพาไฟฟ้าจากไทย