ติวเข้ม “แพทองธาร” ถก “สี จิ้นผิง” หนุนไทย 7 เรื่องใหญ่ พัฒนา AI-นำเข้าเพิ่ม

05 ก.พ. 2568 | 05:05 น.
อัปเดตล่าสุด :05 ก.พ. 2568 | 13:01 น.
505

นักวิชาการติวเข้มนายกฯ เดินทางเยือนจีน ฉวยโอกาสถก “สี จิ้นผิง” หนุนไทยศูนย์ปราบแก๊งคอลเซ็นเตอร์และค้ามนุษย์ นำเข้าสินค้าไทยเพิ่ม โปรโมตไทยฐานลงทุนใหม่นอกประเทศ พร้อมช่วยพัฒนาด้าน AI อีกด้านระบุไทยต้องนำเข้าสินค้าสหรัฐเพิ่ม สร้างความพอใจ “ทรัมป์”ไม่ขึ้นภาษี

จากที่จีนเป็นคู่ค้า และนักลงทุนอันดับ 1 ของไทย ในโอกาสที่นายกรัฐมนตรี “แพทองธาร ชินวัตร”จะเดินทางเยือนสาธารณรัฐประชาชนจีนระหว่างวันที่ 5-8 กุมภาพันธ์ 2568 และจะได้เข้าพบและหารือกับประธานาธิบดี “สี จิ้นผิง” ของจีน ผู้นำของไทยควรใช้โอกาสนี้ในการหารือกับผู้นำของจีนอย่างไรนั้น

รองศาสตราจารย์ ดร.อัทธ์ พิศาลวานิช ผู้เชี่ยวชาญเศรษฐกิจระหว่างประเทศและอาเซียน เปิดเผยกับ“ ฐานเศรษฐกิจ” ว่า จากที่สหรัฐอเมริกายุค “ทรัมป์ 2.0” ที่ประกาศ ยังเดินหน้าทำสงครามการค้า และสงครามเทคโนโลยีกับจีน ขณะที่ทั้งสหรัฐและจีนเป็นพันธมิตร และเป็นคู่ค้า และนักลงทุนที่สำคัญของไทย ในการเดินทางเยือนจีนครั้งนี้ของนายกรัฐมนตรี ไทยควรใช้โอกาสให้เป็นประโยชน์กับประเทศไทยในหลายด้าน

ได้แก่ 1. การสร้างความเชื่อมั่นว่าสินค้าไทย โดยเฉพาะผลไม้ไทยที่ส่งเข้าไปจีนเป็นไปตามมาตรฐานความปลอดภัยสากล และมาตรฐานของจีน มีความปลอดภัยสำหรับผู้บริโภคชาวจีน

2. ดึงอุตสาหกรรมของจีนด้านเทคโนโลยีเข้ามาลงทุนและถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กับผู้ประกอบการของไทยเพื่อสร้างห่วงโซ่การผลิตใหม่

3.ขอให้จีนนำเทคโนโลยีทางการเกษตรเข้ามาช่วยพัฒนาศักยภาพการผลิตของไทยให้ทันสมัย

4.อยากให้จีนมาช่วยพัฒนาพันธุ์ข้าวที่ทนต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพสภาพภูมิอากาศให้กับไทย โดยการตั้งศูนย์นวัตกรรมข้าวร่วมกัน

ติวเข้ม “แพทองธาร” ถก “สี จิ้นผิง” หนุนไทย 7 เรื่องใหญ่ พัฒนา AI-นำเข้าเพิ่ม

5.ขอให้ไทยเป็นศูนย์ปราบแก๊งคอลเซ็นเตอร์และค้ามนุษย์โดยการสนับสนุนของจีน

6. ให้จีนเปิดตลาดสินค้าไทยเพิ่มขึ้น โดยพัฒนาร่วมกันกับสถาบันในประเทศไทยและจีน

และ 7. ร่วมพัฒนาหลักสูตร AI ในไทยโดยพัฒนาร่วมกันกับสถาบันในประเทศไทย

“นอกจากนี้ในโอกาสครบรอบความสัมพันธ์ 50 ปี ไทย-จีน ทั้งสองประเทศควรมีการแลกเปลี่ยนกันทางด้านภาษา อาหาร มหาวิทยาลัย นักวิชาการ นักเรียน นักศึกษา รวมถึงวัฒนธรรมของสองประเทศให้มีความแน่นแฟ้นมากขึ้น ผ่านการจัดสัมมนา นิทรรศการ การเดินทางเยือน และการทำวิจัยร่วมกัน”

รองศาสตราจารย์ ดร.อัทธ์ พิศาลวานิช ผู้เชี่ยวชาญเศรษฐกิจระหว่างประเทศและอาเซียน

ต่อความขัดแย้งของสหรัฐและจีนผ่านสงครามการค้า และสงครามเทคโนโลยีของสองมหาอำนาจยักษ์ใหญ่โลก ไทยจะรักษาความสมดุลอย่างไรเพื่อให้ทั้ง 2 ประเทศยังเข้ามาขยายการค้า-การลงทุนกับไทยเพิ่มขึ้น

รองศาสตราจารย์ ดร.อัทธ์ กล่าวว่า กรณีสหรัฐอเมริกาที่เป็นตลาดส่งออกอันดับ 1 ของไทย ซึ่งเวลานี้ไทยมีความเสี่ยงที่จะถูกสหรัฐขึ้นภาษีสินค้า เนื่องจากเป็นหนึ่งในประเทศที่เกินดุลการค้ากับสหรัฐมากคือ 1.ซื้อสินค้าสหรัฐ เพิ่มขึ้น และดึงทุนสหรัฐฯ เข้ามาลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมที่ไทยคิดว่าต้องนำเข้าจากสหรัฐ

 2.นำเข้าสินค้าสหรัฐ ในกลุ่มเทคโนโลยีให้เพิ่มขึ้น โดยการปรับเปลี่ยนห่วงโซ่การผลิตให้สอดคล้องกับการปรับเปลี่ยนอุตสาหกรรมเป็น 4.0 ที่ไทยมีเป้าหมาย

ส่วนกรณีจีน คือ 1.สร้างความเชื่อมั่นในสินค้าไทยว่ามีคุณภาพและมาตรฐานตามที่จีนกำหนด และนักท่องเที่ยวจีนที่เข้ามาเที่ยว ไทยต้องสร้างความเชื่อมั่นว่ามีความปลอดภัย 2.ไทยแสดงความจำนงต้องการพึ่งทุนจีนในการลงทุนในไทยในอุตสาหกรรมเทคโนโลยี

 “ปี 2566 ไทยได้ดุลการค้าสหรัฐ 2.9 หมื่นล้านดอลลาร์ ปี 2567 ล่าสุดเพิ่มขึ้นเป็น 3.5 หมื่นล้านดอลลาร์ หากไทยไม่ลดการเกินดุลในปีนี้ มีโอกาสสูงที่จะถูกสหรัฐเก็บภาษีนำเข้าเพิ่ม และอาจถูกตรวจสอบอุตสาหกรรมทั้งระบบว่าจงใจหลบเลี่ยงว่าเป็นสินค้าจากจีน ส่วนการค้าไทย-จีน ปี 2566 เราขาดดุล 1.2 ล้านล้านบาท และปี 2567 เพิ่มเป็น 1.6 ล้านล้านบาท ซึ่งเกิดจากสินค้าจีนที่ทะลักเข้ามาไทยเพิ่ม จากสงครามการค้ากับสหรัฐ ส่วนด้านบวกทำให้โรงงานจีนย้ายฐานมาไทยเพิ่มขึ้น”