“DeepSeek” เพิ่มแข่งขัน ลดอำนาจผูกขาดสหรัฐ แนะไทยเร่งปรับตัวรับความท้าทาย

03 ก.พ. 2568 | 08:59 น.
อัปเดตล่าสุด :03 ก.พ. 2568 | 09:01 น.

DeepSeek เอไอสัญญาชาติจีนเขย่าวงการ อนุสรณ์ ธรรมใจชี้เพิ่มแข่งขัน ลดอำนาจผูกขาดสหรัฐอเมริกา แนะไทยเร่งปรับตัวรับมือความท้าทาย ต้องคิดจริงจังเรื่องจะพัฒนาต่อยอดและสร้างใหม่จากเทคโนโลยีที่มีอย่างไร

นายอนุสรณ์ ธรรมใจ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ และผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเศรษฐกิจดิจิทัล การลงทุนและการค้าระหว่างประเทศมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย (DEIIT-UTTC) เปิดเผยว่า หลังจากมีการเปิดตัว DeepSeek เอไอสัญชาติจีนเขย่าวงการเอไอโลกด้วยด้วยต้นทุนต่ำมาก ต่อไปก็คงมีเอไอจีนต้นทุนต่ำเปิดตัวตามเพิ่มเติมขึ้นมาอีก รวมทั้งเอไอของสหรัฐฯและยุโรปต้นทุนต่ำด้วย 

ปรากฎการณ์ดังกล่าวเป็นประโยชน์ต่อผู้ใช้ทั้งภาคธุรกิจอุตสาหกรรมและผู้ใช้ทั่วไป สามารถเข้าถึงได้ในราคาถูกลงมาก เพิ่มการแข่งขันในธุรกิจอุตสาหกรรมเอไอโลก ลดอำนาจผูกขาดเอไอสหรัฐอเมริกา ทำให้โครงสร้างตลาดของธุรกิจอุตสาหกรรมเอไอเคลื่อนตัวจากอำนาจผูกขาดโดยยักษ์ใหญ่ไฮเทคเอไอสหรัฐฯ สู่ โครงสร้างตลาดที่มีการแข่งขันเพิ่มขึ้น 

แต่ยังคงสภาพการแข่งขันน้อยรายอยู่ดีเพราะอุตสาหกรรมเอไอใช้เงินลงทุนสูง การแข่งขันจะผลักดันให้นวัตกรรมเอไอก้าวหน้าเร็วขึ้น ก้าวหน้ามากขึ้นกว่าเดิม ราคาหุ้นและมูลค่าตลาดของบริษัท 7 นางฟ้าอาจปรับลดลงเนื่องจากกำไรจะลดลงจากการแข่งขันที่เพิ่มขึ้น ฟองสบู่ของราคาหุ้นเกี่ยวกับเอไอจึงมีโอกาสแตกได้เช่นเดียวกับที่เคยเกิดภาวะฟองสบู่แตกของธุรกิจดอทคอมเมื่อปี พ.ศ. 2543 

ภาวการณ์เก็งกำไรเกินควรในหุ้นเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับอินเตอร์เนตเมื่อปี พ.ศ. 2540-2543 นั้น เป็นฟองสบู่ที่เกิดขึ้นจากความเชื่อมั่นล้นเกินต่อความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีว่าจะสร้างผลกำไรให้กับบริษัทในตลาดหุ้นแนสแดก NasDaq ไปเรื่อยๆไม่สิ้นสุด โดยมองข้ามพื้นฐานการลงทุนไป การก่อตัวของฟองสบู่จนถึงการแตกตัวของฟองสบู่ครั้งนั้นใช้เวลา 3 ปี แต่ ฟองสบู่เอไอคงต้องติดตามดูว่าจะใช้เวลานานกว่าหรือไม่ 

แน่นอนที่สุดว่า เทคโนโลยีเอไอจะทำให้ผลิตภาพของระบบเศรษฐกิจโดยรวมสูงขึ้น แต่แรงงานทักษะต่ำจะว่างงานมากขึ้น ความเหลื่อมล้ำอาจเพิ่มขึ้นหากไม่มีการออกแบบระบบสวัสดิการเสียใหม่ให้สอดรับกับยุคเอไอ การทำลายล้างอย่างสร้างสรรค์ของนวัตกรรมเอไอจะพลิกผันธุรกิจอุตสาหกรรมโลก 

ไทยต้องปรับตัวให้เร็วเพื่อรับความท้าทาย ไทยในฐานะผู้ซื้อและใช้บริการต้องคิดอย่างจริงจังมากขึ้นว่า เราจะพัฒนา ต่อยอดและสร้างใหม่จากเทคโนโลยีเอไอที่มีอยู่อย่างไร และควรศึกษาความสำเร็จและบทเรียนจากจีน 

ทั้งนี้ การทำลายล้างอย่างสร้างสรรค์(Creative Destruction) จากนวัตกรรมใหม่ๆทางด้านเอไอจะพลิกธุรกิจอุตสาหกรรมโลก ไทยต้องปรับตัวเร็วรับความท้าทาย การแข่งขันเพิ่มขึ้นธุรกิจอุตสาหกรรมเอไอเป็นประโยชน์ต่อไทยในฐานะผู้ซื้อและใช้บริการ ควรนำการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วเหล่านี้มาเป็นฐานในการพัฒนาต่อยอดสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น 

ซึ่งรัฐบาลและภาคเอกชนควรให้ความสำคัญต่อการลงทุนทางการวิจัยและพัฒนา การทำลายล้างอย่างสร้างสรรค์ (Creative Destruction) เป็นภาวะปรกติของระบบเศรษฐกิจทุนนิยมโลกาภิวัตน์ไร้พรมแดน กระบวนการก่อเกิดการทำลายล้างอย่างสร้างสรรค์ เกิดจาการที่ผู้ประกอบการต่างก็หาทางใช้นวัตกรรมเทคโนโลยีในกระบวนการผลิตสินค้า บริการหรือนวัตกรรมที่เป็นสินค้าใหม่ เพื่อสร้างประโยชน์เชิงธุรกิจให้กับองค์กร โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากนวัตกรรมนั้นสามารถทำให้องค์กรมีกำไรจากการเป็นผู้ผูกขาด(Monopoly profit) สร้างความได้เปรียบในการแข่งขัน 

อำนาจผูกขาดนี้อยู่กับกลุ่มบริษัทยักษ์ใหญ่ไฮเทคของสหรัฐฯ แต่ก็ยังมีนักลงทุนบางคนที่พยายามจะลอกเลียนแบบเทคโนโลยีของผู้อื่นหรือดัดแปลงพัฒนาต่อยอดก็ทำให้เกิดนวัตกรรมใหม่ๆ ตลอดเวลาเช่นกัน เกิดเป็นวงจรเช่นนี้เรื่อยไป จนกระทั่งถึงจุดที่ความสามารถในการผูกขาดหมดไป ณ จุดนี้สิ่งต่างๆ จะวนกลับมาเป็นวัฏจักร เพื่อหนีการลอกเลียนแบบผู้ประกอบการเดิมหรือคนที่มองหานวัตกรรมใหม่ๆ จะทำให้เกิดรูปแบบการแข่งขันใหม่ๆ จากการคิดค้นนวัตกรรมต่างๆ การทำลายที่สร้างสรรค์ (creative destruction) 

เมื่อมีการคิดสิ่งใหม่ๆ ทำลายสิ่งที่มีอยู่เดิม และสร้างสรรค์สิ่งใหม่โอกาสใหม่รวมทั้งโอกาสทางธุรกิจและเศรษฐกิจ เอไอของจีนอย่าง DeepSeek ทำให้ต้นทุนในการเข้าถึงเอไอถูกลงด้วยการใช้ระบบ Open Source ที่เป็นระบบเปิด การใช้ระบบเปิด Open source มีการเปิดเผย Code และ รายละเอียดทางเทคนิค 

สิ่งนี้จะช่วยดึงดูดนักพัฒนาและนักวิจัยที่มีความสามารถจากทั่วโลกมาร่วมพัฒนานวัตกรรมให้ก้าวหน้าขึ้นไปอีก รวมทั้งช่วยสร้างระบบนิเวศของการพัฒนาเอไอที่มีพลวัตและเติบโตอย่างรวดเร็ว สิ่งสำคัญ คือ DeepSeek ได้ปล่อยโมเดล DeepSeek-R1 เป็น Open Source พร้อมเปิดรายงานเชิงเทคนิคออกมาเต็มรูปแบบ ซึ่งทำให้องค์กรสามารถนำไปใช้ต่อยอดกันในเชิงพาณิชย์ได้