สิ่งที่ประเทศคู่ค้าของสหรัฐจับตามองคือคำขู่ของทรัมป์ที่ประกาศก่อนหน้านี้ว่า จะขึ้นภาษีสินค้าจากทั่วโลก 10-20% และขึ้นภาษีสินค้าจากจีน 60-100% ของจริงจะเป็นอย่างไร
ต่อทิศทางแนวโน้มดังกล่าวภาคธุรกิจของไทยจะตั้งรับและรุกอย่างไร “ฐานเศรษฐกิจ” สัมภาษณ์ นายประมุข เจิดพงศาธร ประธานกรรมการบริหาร กลุ่มบริษัท PJUS GROUP ผู้จัดหา และนำเข้าสินค้าไทยป้อนให้กับตัวแทนจำหน่าย รวมถึงห้างสรรพสินค้า ซูเปอร์มาร์เก็ต และเรือนจำในสหรัฐ และในฐานะที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ ด้านการค้าระหว่างประเทศ (HTA) กระทรวงพาณิชย์ ถึงทิศทางการค้าไทย-สหรัฐ หลังโดนัลด์ ทรัมป์จะเข้ารับตำแหน่งในอีกไม่กี่วันนี้
นายประมุข กล่าวว่า ต้องอดใจรอว่าหลังจากที่โดนัลด์ ทรัมป์ เข้ารับตำแหน่งในวันที่ 20 มกราคมนี้แล้ว นโยบายหรือมาตรการทางการค้าที่เคยประกาศไว้ของจริงจะเป็นอย่างไร เฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องกำแพงภาษีที่ทรัมป์ประกาศจะปรับขึ้นภาษีสินค้าจากทั่วโลก อย่างไรก็ดีในส่วนของสินค้าจากเม็กซิโก และแคนาดาที่ทรัมป์เคยประกาศจะปรับขึ้นภาษีอีก 25% เฉพาะอย่างยิ่งเม็กซิโกที่เป็นฐานผลิตสำคัญของจีนในหลายกลุ่มสินค้าและใช้เป็นฐานส่งออกไปสหรัฐ เช่น เครื่องอิเล็กทรอนิกส์ต่าง ๆ รถยนต์ไฟฟ้า(EV) และอื่น ๆ
“หากเม็กซิโกถูกสหรัฐขึ้นภาษี อาจจะส่งผลดีต่อการส่งออกสินค้าของไทยไปสหัฐได้เพิ่มขึ้นเพื่อทดแทนสินค้าจากเม็กซิโก เฉพาะอย่างยิ่งในหมวดอาหาร ขณะที่ความเสี่ยงที่ไทยจะถูกสหรัฐขึ้นภาษีสินค้า 10-20% ยังต้องลุ้น”
ทั้งนี้จากที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ของไทยมีกำหนดการเดินทางเยือนสหรัฐในต้นเดือนกุมภาพันธ์ ทราบว่าส่วนหนึ่งจะไปชี้แจงเหตุผลการขาดดุลการค้าของสหรัฐที่มีต่อไทย มีปัจจัยสำคัญจากผู้ประกอบการของอเมริกันได้มาลงทุนในไทยแล้วส่งกลับสินค้าไปยังสหรัฐ เช่นในกลุ่มสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ แผงวงจรต่าง ๆ
นอกจากนี้ไทยยังมีแผนจะนำเข้าสินค้าวัตถุดิบอาหารสัตว์จากสหรัฐเพิ่ม เช่น ข้าวโพด ถั่วเหลือง เพื่อลดการขาดดุลการค้าของสหรัฐที่มีต่อไทย ซึ่งก็มีโอกาสที่สหรัฐจะไม่ขึ้นภาษี
อย่างไรก็ตามจากที่ผู้ประกอบการส่งออกของไทยเคยผ่านประสบการณ์ที่เลวร้ายจากผลกระทบจากเชื้อโรค (โควิด) สงครามการค้าสหรัฐ-จีน และสงครามที่ใช้อาวุธจริงจากความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ ซึ่งถือว่าผ่านจุดเลวร้ายสูงสุดมาแล้ว เชื่อมั่นว่าจะผ่านเรื่องนี้ไปได้ โดยต้องมองวิกฤตให้เป็นโอกาส ต้องติดตามลูกค้าและตอบโจทย์ในเรื่องความต้องการสินค้าอย่างใกล้ชิด และส่งมอบสินค้าให้ตรงเวลา
นายประมุข กล่าวอีกว่า ในส่วนของ PJUS GROUP ในปีนี้ยังคงรุกตลาดสหรัฐต่อเนื่อง ภายใต้แบรนด์ของบริษัท เช่น QUEEN ELEPHANT ในสินค้าข้าวหอมมะลิจากทุ่งกุลาร้องไห้ รวมถึงในสินค้าใหม่ที่จะรุกตลาดในปีนี้คือผลไม้อบแห้ง 16 รายการ อาทิ มะม่วง มะละกอ ฝรั่ง ส้มแมนดาริน สตอว์เบอร์รี่ ส้มเช้ง แตงโม เป็นต้น นอกจากนี้ยังจับตลาดเรือนจำในสหรัฐต่อเนื่องในส่วนของซอสต่าง ๆ ภายใต้แบรนด์ Gourmet Stars
รวมถึงอยู่ระหว่างพัฒนาสินค้าสะดวกทาน เช่น ข้าวพร้อมทานที่สามารถใส่นํ้าร้อน หรือเข้าโมโครเวฟแล้วทานได้เลย ข้าวพื้นนุ่มชนิดต่าง ๆ ในราคาที่ถูกลงเพื่อสร้างเลือกให้ผู้บริโภคในสหรัฐ โดยเวลานี้มีผู้ประกอบการ/โรงงานเอสเอ็มอีในประเทศได้เข้ามาเสนอสินค้าเพื่อนำไปจำหน่ายในสหรัฐจำนวนมาก ซึ่งทางกลุ่มจะพิจารณาจากความต้องการของลูกค้าปลายทางเป็นหลัก
"ตลาดผลไม้อบแห้งในสหรัฐมีมูลค่ากว่า 1 หมื่นล้านบาทต่อปี ซึ่งผมได้รับโจทย์จากคุณนภินทร ศรีสรรพางค์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ให้ดำเนินการในเรื่องนี้เพื่อช่วยเหลือเกษตรกร และโรงงานเอสเอ็มอีในประเทศให้มีช่องทางการส่งออก ซึ่งก็สามารถทำได้สำเร็จภายในปีเดียว
ส่วนในสินค้าข้าวหอมมะลิในแต่ละปีได้ไปออกงานเทรดโชว์ในมลรัฐต่างๆของสหรัฐ ปีหนึ่ง 10 กว่าครั้ง หรือออกงานแทบทุกเดือน โดยร่วมมือกับผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ หรือทูตพาณิชย์ไทยที่แอลเอ ทำให้เราสามารถรุกตลาดข้าวถุงในแบรนด์ QUEEN ELEPHANT ได้เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ”
อย่างไรก็ดี นายประมุข กล่าวอีกว่า หากที่สุดแล้วสหรัฐขึ้นภาษีสินค้าไทย 10-20% ไม่ว่าจะขึ้นภาษีทุกสินค้า หรือบางหมวด หรือบางรายการ บริษัทคงไม่ได้รับผลกระทบมากนัก เพราะหากมีการปรับขึ้นภาษีจริง ก็สามารถขอคู่ค้าปรับขึ้นราคาสินค้าในล็อตใหม่ที่ถูกขึ้นภาษีได้ ขณะที่เวลานี้สินค้าของบริษัทเป็นสินค้าที่มีแบรนด์ และติดตลาดในสหรัฐ ส่วนหนึ่งผลิตสินค้าภายใต้แบรนด์ของลูกค้าที่ไม่มีผลกระทบกับสินค้าของบริษัท มีเครือข่ายการตลาดและฐานลูกค้าที่แน่นอน ทำให้ได้เปรียบผู้ค้ารายใหม่ ๆ ที่เข้าไปทำตลาดในสหรัฐ
“ผมพยายามขยายตลาดด้วยความระมัดระวัง จะไม่ประมาท จนกระทั่งได้เห็นความชัดเจนซัก 2 เดือนหลังโดนัลด์ ทรัมป์เข้ารับตำแห่งประธานาธิบดีซึ่งจะทำให้เห็นความชัดเจนของนโยบายและมาตรการต่าง ๆ แล้วผมจะมาดูอีกทีว่าจะบุกตลาดอย่างไร อย่างไรก็ตาม ปีนี้เราได้ตั้งเป้ายอดขายจะโตสองเท่าจากปีที่ผ่านมา จากจะขยายกลุ่มสินค้า และไอเท็มสินค้าในการทำตลาดให้มากขึ้น” นายประมุข กล่าว