จากกรณีที่ นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ได้ขึ้นปราศัยนำเว็บพนันออนไลน์ ที่อยู่ใต้ดิน ขึ้นมาบนดิน เพื่อให้เสียภาษีอย่างถูกต้องเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ
ล่าสุด นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม หรือ ดีอี เปิดเผยถึงความคืบหน้าในการทำเว็บพนันออนไลน์ให้ถูกกฎหมายว่า การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 13 มกราคม 2568 ที่ผ่านมา ได้มีมติเห็นชอบให้กระทรวงดีอี กระทรวงมหาดไทย และสำนักงานกฤษฎีกา ในการออกกฎหมายลำดับรองเพื่อทำให้การพนันออนไลน์ถูกกฎหมาย คาดว่าภายใน 1 เดือน จะสามารถทำรายละเอียดแล้วเสร็จ
สำหรับวาระที่กระทรวงดีอีนำเสนอต่อที่ประชุม ครม. คือ การทำข้อเสนอในการแก้ไขปัญหาเรื่องการทุจริตการพนันออนไลน์ โดยมีสาระสำคัญคือ การพนันออนไลน์แบบผิดกฎหมายเป็นปัญหาต่อทั้งสังคม และเศรษฐกิจ ดังนั้นการแก้ปัญหาคือต้องนำเรื่องใต้ดินที่ผิดกฎหมาย ให้ขึ้นมาอยู่บนดินแบบถูกกฎหมาย จะทำให้เงินที่อยู่นอกระบบ สามารถช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจประเทศ ได้อย่างถูกกฎหมาย ซึ่งกระทรวงเห็นว่าเรื่องนี้มีความจำเป็น และกระทรวงขออาสาเป็นคนร่างกฎหมายรองนี้เอง
กระทรวงดีอีต้องทำงานร่วมกับกระทรวงมหาดไทย เพราะว่ากระทรวงมหาดไทยดูแล กฎหมายการพนัน แต่สิ่งที่กระทรวงเสนอคือการพนันในรูปแบบดิจิทัล ไม่ได้มีสถานที่เล่นการพนัน
“ยกตัวอย่าง การพนันบอลยูโร ซึ่งมีเม็ดเงินมหาศาล ให้กลายเป็นเม็ดเงินกลับเข้ารัฐบาล ซึ่ง กระทรวงดีอี ได้สั่งปิดไปแล้ว และ ยังมีเว็บไซต์พนันที่ยังลักลอบอยู่ รัฐบาล จะนำเว็บใต้ดิน ซึ่งมีมูลค่าถึง 3 ล้านล้านบาท เหล่านี้ขึ้นมาบนดินเพื่อเสียภาษีนำเงินภาษีเหล่านี้มาสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับเศรษฐกิจ” นายประเสริฐ กล่าว
นายประเสริฐ ยังกล่าวอีกว่า เรื่องการแก้ไขพนันออนไลน์ให้ถูกกฎหมาย กับ เรื่องการมีกาสิโนในเอ็นเตอรเทนเม้นท์ คอมเพล็กซ์ เป็นเรื่องแยกกัน แต่ถึงเวลาแล้วที่ประเทศไทยต้องนำการเล่นพนันออนไลน์ขึ้นมาบนดินให้ถูกต้องตามกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็น การพนันบอลยูโร ซึ่งมีเม็ดเงินมหาศาลให้กลายเป็นเม็ดเงินกลับเข้ารัฐบาล
ส่วนความคืบหน้าเรื่องการแก้ไข พระราชกำหนด (พ.ร.ก) มาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ.2566 เพื่อเอาผิดธนาคารและค่ายมือถือรวมถึงแพลตฟอร์ม โซเชียล มีเดีย ที่ละเลยทำให้ประชาชนถูกหลอกโอนเงินให้มิจฉาชีพนั้น ในการประชุมครม.เมื่อวันที่ 13 ม.ค. 2568 กระทรวงดีอีได้เสนอวาระเข้าที่ประชุมแล้ว แต่ระหว่างการหารือกลุ่มย่อยกว่า 1 ชั่วโมง พบข้อท้วงติงจากบางฝ่ายที่ไม่เห็นความจำเป็นเร่งด่วนในการออกเป็นพระราชกำหนด ดังนั้นทำให้ต้องนำวาระออกเพื่อไปพิจารณาให้รอบคอบและจะนำเสนออีกครั้งวันที่ 28 ม.ค. 2568 เนื่องจากวันที่ 21 ม.ค. 2568 ตนต้องเดินทางไปสวิสเซอร์แลนด์ร่วมกับนายกรัฐมนตรี หากผ่านความเห็นชอบ คาดว่าไม่เกิน 3 วันจะสามารถประกาศลงราชกิจจานุเบกษา และมีผลบังคับใช้ทันที.