คืบหน้า "ท่าเรือแหลมฉบัง เฟส3" ถึงไหน-เปิดให้บริการเมื่อไร

23 ก.ย. 2565 | 19:11 น.
อัปเดตล่าสุด :24 ก.ย. 2565 | 02:19 น.
2.0 k

"กทท." เร่งสปีดท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3 ท่า F ภาพรวมคืบหน้า 5% ล่าช้า 3-4 เดือน เซ่นพิษโควิด จ่อส่งมอบพื้นที่บางส่วนดึง GPC บริหารพื้นที่ ลุ้นเปิดประมูลจ้างเหมาก่อสร้าง ต.ค.นี้

นายเกรียงไกร ไชยศิริวงศ์สุข ผู้อำนวยการการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าการดำเนินโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังระยะที่ 3 โดยได้จ้างเหมากิจการร่วมค้าซีเอ็นเอ็นซีเป็นผู้ดำเนินโครงการฯ ในวงเงิน 21,230 ล้านบาทว่า ปัจจุบันโครงการมีความคืบหน้าภาพรวม 5% ล่าช้าจากแผนที่เดิมจะต้องแล้วเสร็จ 7-8% หรือล่าช้าประมาณ 3-4 เดือน เนื่องจากเกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19

 

 

 

 

"ขณะนี้ กทท. ได้ส่งมอบงานก่อสร้างงานทางทะเลในส่วนของงานพื้นที่ถมทะเล 1 (Key Date 1) เรียบร้อยแล้วตั้งแต่เมื่อวันที่ 31 ส.ค. 2565 ที่ผ่านมา จากเดิมต้องส่งมอบภายใน พ.ค. 2565 โดยหลังจากนี้ กทท.ได้เร่งรัดผู้รับจ้างดำเนินการ ดำเนินงานพื้นที่ถมทะเล 2 (Key Date 2) ได้แก่ การขนย้ายดินเลน การถมทราย ฯลฯ คาดว่า จะแล้วเสร็จภายใน ธ.ค. 2565"

 

 

 

นอกจากนี้กิจการร่วมค้าซีเอ็นเอ็นซีมีแผนที่จะเพิ่มเรือ ขุดลอกอีก 2 ลำ ซึ่งมีประสิทธิภาพในการขุดมากกว่าเดิม อีกทั้งเร่งรัดก่อสร้างหลักผูกจอดเรือชั่วคราวเพื่อนำหิน ไปก่อสร้างคันหินล้อมพื้นที่ท่าเทียบเรือ EO ท่าเทียบเรือ F ท่าเรือบริการ และท่าเรือชายฝั่งของโครงการฯ

 

 

 

สำหรับพื้นที่ถมทะเล 3 (Key Date 3) คาดว่า จะแล้วเสร็จภายในกลางปี 2556 อย่างไรก็ตาม คาดว่า จะส่งมอบพื้นที่ท่าเทียบเรือ F ขนาด 1,000 เมตร ให้บริษัท จีพีซี อินเตอร์เนชั่นแนล เทอร์มินอล จำกัด (GPC) เอกชนคู่สัญญาได้ภายใน พ.ค.-พ.ย. 2566 จากนั้นจะส่งมอบพื้นที่ครบ 2,000 เมตร ประมาณ พ.ค. 2568

นายเกรียงไกร กล่าวต่อว่า ส่วนที่ 2 งานจ้างเหมา ก่อสร้างโครงการฯ ได้แก่ งานก่อสร้างอาคาร ท่าเทียบเรือ ระบบถนน และระบบสาธารณูปโภค วงเงินประมาณ 7,000 ล้านบาทนั้น กทท. จะเร่งรัดการดำเนินงานให้แล้วเสร็จตามแผนงาน โดยขณะนี้ อยู่ในขั้นตอนการประชาพิจารณ์ร่างรายละเอียดเงื่อนไขการประกวดราคา คาดว่า จะเปิดประมูลได้ใน ต.ค. 2565 และจะได้ตัวเอกชนผู้รับจ้างภายในปีนี้

 

 

 

ส่วนงานที่ 3 งานก่อสร้างระบบรถไฟ และส่วนงานที่ 4 งานติดตั้งเครื่องจักและระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ ขณะนี้ อยู่ระหว่างการประกาศประกวดราคา โดยคาดว่า ส่วนงานที่ 3 จะดำเนินการแล้วเสร็จภายใน พ.ย. 2565 และส่วนงานที่ 4 จะแล้วเสร็จภายใน ธ.ค. 2565 นี้ ก่อนส่งมอบพื้นที่ให้ GPC เริ่มบริหารจัดการท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 ภายในปี 2568

 

 

 

นายเกรียงไกร กล่าวต่อว่า สำหรับโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 เป็นหนึ่งในโครงการสำคัญตามแผนพัฒนาพื้นที่ระเบียง เศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) มูลค่าการลงทุน รวม 1.1 แสนล้านบาท แบ่งเป็น กทท. ลงทุน 50,000 ล้านบาท ขณะที่เอกชนลงทุน 60,000 หมื่นล้านบาท ระยะเวลาสัมปทาน 35 ปี (ท่าเทียบเรือ F)

 

 

 

ทั้งนี้ โครงการดังกล่าว เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการรองรับตู้สินค้า ประกอบด้วย ท่าเทียบเรือตู้สินค้า จำนวน 4 ท่า สามารถรองรับตู้สินค้าได้ไม่ต่ำกว่า 7 ล้าน ที.อี.ยู. ต่อปี, ท่าเทียบเรือรถยนต์ (RO/RO) 1 ท่า รองรับรถยนต์ได้ 1 ล้านคันต่อปี, ท่าเทียบเรือบริการ และท่าเทียบเรือชายฝั่ง อย่างละ 1 ท่า (ท่าเทียบเรือ E ในอนาคต) ซึ่งจะทำให้ท่าเรือแหลมฉบังมีขีดสามารถรองรับความจุตู้สินค้าเพิ่มขึ้นเป็น 18 ล้าน ที.อี.ยู. ต่อปีในปี 2578

นายเกรียงไกร กล่าวต่ออีกว่า ปัจจุบันท่าเรือแหลมฉบังมีขีดสามารถรองรับความจุตู้สินค้าอยู่ที่ 11 ล้าน ที.อี.ยู. ต่อปี และในปี 2568 จะดำเนินการโครงการท่าเทียบเรือ F ส่วนที่ 1 (F1) แล้วเสร็จ จะสามารถรองรับความจุตู้สินค้าเพิ่มอีก 2 ล้าน ที.อี.ยู. รวมเป็น 13 ล้าน ที.อี.ยู. จากนั้นจะเพิ่มขึ้นอีก 2 ล้าน ที.อี.ยู. เมื่อดำเนินการท่าเทียบเรือ F ส่วนที่ 2 (F2) แล้วเสร็จในปี 2572 รวมเป็น 15 ล้าน ที.อี.ยู.

 

 

ขณะเดียวกัน ในปัจจุบันมีตู้สินค้าผ่านท่าเรือแหลมฉบัง จำนวน 8.5 ล้าน ที.อี.ยู. จากขีดความสามารถ 11 ล้าน ที.อี.ยูู. โดยคาดการณ์ว่า ในปี 2568 เมื่อโครงการท่าเทียบเรือ F แล้วเสร็จ จะมีตู้สินค้าประมาณ 10 ล้าน ที.อี.ยู. จากขีดความสามารถ 13 ล้าน ที.อี.ยูู.

 

 

นายเกรียงไกร กล่าวต่อว่า หลังจากนี้ กทท. จะต้องไปวางแผนบริหารจัดการเพื่อเพิ่มตู้สินค้ามากขึ้น โดยการเปลี่ยนถ่ายสินค้าถ่ายลำ (Transhipment) จากพื้นที่ EEC ไปยังระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ (SEC) เพื่อรองรับการเป็นศูนย์กลาง (Hub) และประตูเศรษฐกิจในการขนส่งสินค้า (Gateway) ต่อไป

 

 

อย่างไรก็ตามเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศด้านการพัฒนาอุตสาหกรรมและการค้า ที่เชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้าน โดยให้ความสำคัญกับสภาพแวดล้อมหรือเป็นท่าเรือสีเขียว (Green Port) ในเวลาเดียวกัน เพื่อสนองตอบนโยบายของรัฐบาลในการพัฒนา โครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่งและระบบโลจิสติกส์ของประเทศให้ได้มาตรฐานในระดับสากล