แผนพลังงานแห่งชาติ 5 แผนหลักแล้วเสร็จ ต.ค.นี้ สนพ. เตรียมเปิดรับฟังความเห็น

21 ก.ย. 2565 | 18:47 น.
อัปเดตล่าสุด :22 ก.ย. 2565 | 01:47 น.
1.1 k

แผนพลังงานแห่งชาติ 5 แผนหลักแล้วเสร็จ ต.ค.นี้ สนพ. เตรียมเปิดรับฟังความเห็น คาดกำหนดใช้ทันต้นปี 66 ยัน 2 ปัจจัยหลัก ต้องคำนึงถึงความมั่นคง และราคา

นายวีรพัฒน์ เกียรติเฟื่องฟู รองผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) เปิดเผยในการเสวนาพิเศษ "ผ่าแผนนโยบายพลังงานชาติฉบับใหม่กับเส้นทางเพื่อมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนของประเทศไทยทั้ง 4 ด้าน ไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ น้ำมัน พลังงานทดแทนและการอนุรักษ์พลังงาน" ที่จัดขึ้นภายในงาน“SETA 2022, Solar+Storage Asia 2022, Enlit Asia 2022” ว่าปัจจุบันกระทรวงพลังงานอยู่ระหว่างการหารือเพื่อจัดทำแผนพลังงานแห่งชาติ รวมถึงแผนลูกทั้ง 5 แผน ที่ประกอบไปด้วย 

 

  • แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ (PDP) 2022 

 

  • แผนบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติ (Gas Plan) 

 

  • แผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก(AEDP) 
  • แผนอนุรักษ์พลังงาน (EEP) 

 

  • แผนบริหารจัดการน้ำมันเชื้อเพลิง (Oil Plan) 

 

ทั้งนี้ เบื้องต้นคาดว่าทั้ง 5 แผนจะแล้วเสร็จภายในต.ค. 65 นี้ และจะมีการเปิดรับฟังความคิดเห็นสาธารณะต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ก่อนที่จะนำแผนเสนอเข้าที่ประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน(กบง.) และคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ(กพช.) เพื่ออนุมัติแผนฯภายในสิ้นปีนี้ และสามารถกำหนดใช้ได้ตั้งแต่ต้นปี 2566

 

นายวีรพัฒน์ กล่าวอีกว่า การจัดทำแผนดังกล่าวมีความซับซ้อนมากขึ้นจากการจัดทำแผน PDP ฉบับที่ผ่านมา เนื่องจากในปัจจุบันจะต้องกำหนดโครงสร้างใหม่รวมถึงรูปแบบของพลังงานไฟฟ้าที่นำไปใส่ไว้ในแผนให้สามารถตอบสนองแนวโน้มที่กำลังเปลี่ยนไป 
 

อย่างไรก็ดี แผนดังกล่าวนั้น  แหล่งที่มาของพลังงานไฟฟ้าจะไม่ใช่โรงงานขนาดใหญ่อีกต่อไป  แต่จะมาจากแหล่งไฟฟ้าขนาดเล็กที่กระจายตัวมากขึ้น  เนื่องจากในอนาคตประชาชนจะสามารถซื้อขายไฟฟ้ากันได้เอง ซึ่งข้อกำหนกในการจัดทำแผนพลังงานครั้งนี้ต้องคำนึงถึง 2 เรื่องสำคัญ ได้แก่

 

  • ความมั่นคง ปัจจุบันที่การเข้ามาของรถยนต์ไฟฟ้า หรืออีวี (EV) และพลังงานทดแทนที่เพิ่มขึ้นจำเป็นต้องมีแผนรองรับอย่างชัดเจน เพราะประชาชนจะมีรูปแบบการใช้ไฟเปลี่ยนแปลงไป ทั้งการชาร์จไฟฟ้าในช่วงกลางคืน หรือการเลือกใช้ไฟฟ้าที่ผลิตได้เอง 

 

  • ราคาพลังงาน โดยต้องคำนึงถึงปริมาณของการเข้ามาผลิตไฟฟ้าของพลังงานสะอาดที่อาจจะกระทบกับราคาขายปลีกในอนาคตอันใกล้ โดยในระยะเวลาของแผนพลังงาน 20 ปี กระทรวงฯพยายามจัดทำแผนให้สะท้อนราคาตามจริง และส่งผลกระทบน้อยที่สุด รวมถึงต้องคำนึงในด้านของการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ เพื่อให้เป็น Net Zero ด้วย 

 

นายวัชรินทร์ บุญฤทธิ์ ผู้อำนวยการกองยุทธศาสตร์และแผนงาน กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน(พพ.) กล่าวว่า การกำหนดแผนอนุรักษ์พลังงาน(EEP) ในแผนพลังงานชาติฯ ในสัดส่วน 30% เหมือนในอดีตอาจจะไม่เพียงพอ ซึ่งในแผนใหม่นี้อาจจะต้องปรับเพิ่มขึ้นไปเป็น 30-40% รวมถึงเพิ่มสัดส่วนในการใช้พลังงานทดแทนเป็น 50% และเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานอยู่ที่ 40% รวมถึงแผนรองรับการใช้ EV เพิ่มเติมด้วย

 

"การกำกับดูแลต้องแบ่งเป็นตามกฎหมาย โดยจะกำหนดใช้มาตรฐานการจัดการพลังงานในอาคารและโรงงาน ซึ่งในอนาคตหากใครจะก่อสร้างอาคารใหม่จำเป็นต้องมีคุณสมบัติในการประหยัดพลังงานด้วย รวมถึงต้องมีมาตรการสนับสนุนและส่งเสริมทั้งด้านการกำหนดมาตรฐานและสนับสนุนด้านการเงินผ่านกองทุนต่างๆโดยยึดหลัก BCG model"