ข้อเสนอชิงรถไฟฟ้าสายสีส้ม บวกดอกเบี้ย10% BTS ยังถูกกว่าอื้อ!

22 ก.ย. 2565 | 05:55 น.
617

วงการรับเหมาตั้งสมมุติฐาน ชิงสายสีส้ม ข้อเสนอขอสนับสนุนก่อสร้าง บีทีเอส รอบแรก ลบ 9,675.42 ล้านหากชาร์จ ดอกเบี้ย 10% ยังต่ำกว่า ประมูลรอบสอง ขอรับสนับสนุนเงินค่าก่อสร้าง 78,287.95 ล้าน ‘สามารถ ราชพลสิทธิ์’ ย้ำชัดนำตัวเลขมาบวกลบกันได้ทันที รัฐเสียประโยชน์ 6.8 หมื่นล้าน

 

การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ประกาศผล การประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี(สุวิทวงศ์) รอบที่สอง มูลค่า 1.4แสนล้านบาท ว่า บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM คือผู้ชนะประมูล

 

โดยแบ่งเป็นการก่อสร้างเส้นทางสายสีส้มช่วงตะวันตก(บางขุนนนท์-ศูนย์วัฒนธรรม)ระยะทาง 13.4 กิโลเมตร และการสัมปทานเดินรถทั้งระบบ (ช่วงตะวันออก-ตกวันตก) ระยะทางรวม 35.9 กิโลเมตร เป็นเวลา 30 ปี

ข้อเสนอชิงรถไฟฟ้าสายสีส้ม บวกดอกเบี้ย10% BTS ยังถูกกว่าอื้อ!

 

 

โดยเสนอผลประโยชน์สุทธิ (ประมูลครั้งที่2) ที่ -78,287.95ล้านบาท หรือขอรับเงินสนับสนุนก่อสร้างสุทธิจากรฟม.เป็นมูลค่าณปีปัจจุบัน 78,287.95ล้านบาท เปรียบเทียบกับบริษัทระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTSC

 

 

ที่เปิดตัวเลข ที่เคยยื่นข้อเสนอประมูล รอบแรก ขอรับเงินสนับสนุนก่อสร้างสุทธิจาก รฟม.เป็นมูลค่าณปีปัจจุบัน เพียง 9,675.42 ล้านบาท เมื่อนำตัวเลขมาหักลบกันพบว่าห่างกัน มากถึง 68,612.53 ล้านบาท ทำให้รฟม.ถูกจับตามองว่าเป็นตัวเลขที่ทำให้รัฐเสียประโยชน์มากกว่ากันหลายเท่าตัว

 

 

ทั้งนี้ มีคนในแวดวงก่อสร้าง ตั้งสมมุติฐานว่า ตัวเลขของ BTSC ตั้งแต่ซื้อซองประกวดราคาเมื่อปี2563ไปจนถึงการยกเลิกประมูลรอบแรก วันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2564 ที่ขอรับเงินสนับสนุนสุทธิจากรฟม. วงเงิน 9,675.42 ล้านบาท

 

เมื่อคำนวณบวกด้วยดอกเบี้ยที่ 10% เป็นเวลา 1 ปี จะอยู่ประมาณ 967 ล้านบาทและเมื่อนำเงินต้นมารวมกันจะเท่ากับ 10,642 ล้านบาท หาก BTSC จะใช้ตัวเลขคำนวณนี้ที่บวกค่าเสียโอกาสเสนอเข้าไปร่วมประมูลรอบสองรัฐก็ยังเสียประโยชน์น้อยกว่าอยู่ดี

อย่างไรก็ตามนายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ BTSC อธิบายไว้ก่อนหน้านี้ว่า การคำนวณส่วนต่างที่รัฐเสียประโยชน์มากน้อยแค่ไหน สามารถนำตัวเลขขอรับสนับสนุนมาบวกลบได้ทันทีหรืออาจคำนวณโดยมีดอกเบี้ยเข้ามาเกี่ยวข้อง เนื่องจากระยะเวลาการประมูล ห่างกัน ระหว่างรอบแรกและรอบที่สอง เพื่อความเป็นธรรมของอีกฝั่ง

              

 

ขณะนายสามารถ ราชพลสิทธิ์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ตามกติกาของการ เปรียบเทียบว่าสายสีส้มทำให้รัฐเสียประโยชน์มากน้อยแค่ไหนนั้นสามารถนำตัวเลข การขอรับเงินสนับสนุน ก่อสร้าง จากการประมูลรอบแรกและรอบที่สอง มาหักลบกันได้เลย คือ 78,287.95 ล้านบาท (รอบสอง) ลบ 9,675.42 ล้านบาท (รอบแรก) เหลือส่วนต่าง 68,612.53 ล้านบาท

 

ที่เป็นเช่นนี้เพราะ 1. ราคากลางของการประมูลรอบแรกและรอบสอง ไม่มีการเปลี่ยนแปลง ยังอยู่ที่วงเงิน 96,012 ล้านบาท 2.ผลตอบแทนตามระยะเวลา  30 ปี ไม่เปลี่ยน แปลง และ 3.ระยะเวลาก่อสร้าง 6 ปียังคงเดิม

              

ดังนั้นตัวเลขที่เป็นส่วนต่างที่ทำให้รัฐเสียประโยชน์ รฟม.สามารถก่อสร้างรถไฟฟ้าได้อีก เส้นทาง เทียบจากโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้ารางหนักแบบสายสีม่วงเหนือ (บางใหญ่-บางซื่อ) ได้ 25 กิโลเมตร หรือก่อสร้างรถไฟฟ้าโมโนเรลแบบสายสีชมพู(แคราย-มีนบุรี) หรือสายสีเหลือง(ลาดพร้าว-สำโรง) ได้ยาวถึง 42 กิโลเมตร

              

ขณะเหตุผลที่รัฐให้ความสำคัญกับงานก่อสร้างสายสีส้มตะวันตกค่อนข้างมากเพราะ เป็นเส้นทางใต้ดินตลอดเส้นทาง ที่รฟม.อ้างว่าต้องใช้ เทคนิคชั้นสูงพร้อมการกำหนดเกณฑ์ ทีโออาร์ที่เข้มข้น ที่ในประเทศหรือทั้งโลกมีเพียงสองรายเท่านั้นที่สามารถผ่านคุณสมบัติ

 

ได้แก่ บริษัทช.การช่าง จำกัด (มหาชน) และ บริษัทอิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) ส่วนการลงทุนระบบรถไฟฟ้าและการเดินรถมีสองรายคือ BEM กับ BTSC โดยวงเงินการลงทุนระบบราง ราคากลางเฉลี่ย 32,000 ล้านบาท

              

 

สำหรับเกณฑ์การประมูลโครงการฯในรอบสอง มีการกำหนดคุณสมบัติด้านงานโยธา สายสีส้มตะวันตก 3 เรื่อง ประกอบด้วย 1.อุโมงค์, สถานี, การติดตั้งระบบรถไฟฟ้า ซึ่งทั้ง 3 เกณฑ์ต้องมีคุณสมบัติร่วมกับรัฐบาลไทย

 

ซึ่งมีผู้รับเหมาเพียงไม่กี่รายเข้ายื่นประมูลในรอบนี้ ท้ายที่สุดที่สามารถยื่นประมูลได้เหลือเพียง 1 ราย คือ บริษัทที่ได้ข้อเสนอดีที่สุด ส่วนอีก 1 ราย คือ ITD อาจไม่ผ่านคุณสมบัติเนื่องจากติดปัญหาเรื่องกรรมการของบริษัทดังกล่าว

              

 

ทั้งนี้ตามหลักการของพ.ร.บ.ร่วมทุนปี 62  (PPP) มีการเปิดกว้าง โดยมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ระบุชัดเจนว่า จะต้องเป็นการประมูล International Bidding ซึ่งควรเป็นการเปิดกว้างในการประมูลให้กับบริษัทต่างชาติร่วมลงทุนได้  แต่หลักเกณฑ์ดังกล่าวระบุว่า ผู้รับเหมาต้องมีประสบการณ์ด้านงานโยธาเฉพาะในประเทศเท่านั้น ซึ่งชัดเจนแล้วที่มีผู้ยื่นได้เพียงรายเดียวเท่านั้น

              

ขณะคดีในศาลปกครองที่เกี่ยวข้องกับโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มจำนวน 3 คดี ประกอบด้วย 1.คดีเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์และวิธีการพิจารณาผู้ชนะในการประมูลรอบแรก 2. คดียกเลิกการประกวดราคา และคำสั่งของผู้ว่าการ รฟม.ที่มีคำสั่งและออกประกาศยกเลิกการประกวดราคาโครงการสายสีส้ม เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2564 ปัจจุบันศาลปกครองกลางได้พิพากษาเมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2565

 

ชี้ว่าไม่ชอบด้วยกฎหมาย และปัจจุบัน รฟม.อยู่ระหว่างยื่นอุทธรณ์ไปยังศาลปกครองสูงสุด และ 3.คดีกำหนดหลักเกณฑ์ประมูลรถสายสีส้มครั้งที่สอง ชอบหรือมิชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งเป็นคดีล่าสุดที่ศาลปกครองกลางรับไว้พิจารณา

 

ปัจจุบันอยู่ในขั้นตอนพิจารณา นอกจากนี้ยังมีอีก 1 คดี คือ คดียกเลิกการประมูล ซึ่งศาลนัด 27 กันยายน 2565 ชี้ว่ามีมูลความผิดหรือไม่ ซึ่งอยู่ในศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง