“บีทีเอส”ชำแหละ“รฟม.”เปิดประมูลสายสีส้มรอบใหม่ กีดกันการแข่งขัน

16 ก.ย. 2565 | 17:44 น.
อัปเดตล่าสุด :17 ก.ย. 2565 | 01:29 น.
1.2 k

“บีทีเอส” เดือด หลัง “รฟม.” แถประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้มครั้งใหม่ ต่างจากรอบแรก หลังปรับเกณฑ์เข้มคุณสมบัติ-เทคนิค เปิดตัวเลขผลตอบแทนเทียบเอกชนยื่นข้อเสนอ ทิ้งห่างแตะหมื่นล้าน เชื่อเจตนากีดกันการแข่งขัน เอื้อเอกชนบางราย กระทบประเทศชาติเสียหาย

รายงานข่าวจากบริษัทระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTSC เปิดเผยถึงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ที่การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ดำเนินการล่าสุด โดยระบุถึงการดำเนินการที่น่าจะไม่ชอบด้วยกฎหมายและขัดต่อมติคณะรัฐมนตรี

 

ตลอดจนมีการคัดเลือกที่ไม่ถูกต้อง ไม่เป็นประโยชน์สูงสุดแก่ประเทศชาติ และประชาชนของรฟม.และคณะกรรมการพิจารณาคัดเลือก ว่าข้อเสนอของบริษัทและพันธมิตรที่ยื่นต่อ รฟม.และคณะกรรมการคัดเลือกฯ เมื่อปี 2563 นั้น ได้ขอรับเงินสนับสนุนค่างานโยธาคิดเป็นมูลค่าปัจจุบัน (NPV) เป็นจำนวน 79,820.40 ล้านบาท และจ่ายเงินตอบแทนให้ รฟม. คิดเป็นมูลค่าปัจจุบัน (NPV) 70,144.98 ล้านบาท

 

ดังนั้น บริษัทฯ และพันธมิตรจึงขอเงินสนับสนุนจากภาครัฐเพียง 9,676 ล้านบาท เท่านั้นเทียบกับบริษัทที่อ้างว่าเป็นผู้ชนะประมูลที่รอรับการสนับสนุนจากรัฐกว่า 78,000 ล้านบาท

 

รายงานข่าวจากบริษัทระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTSC ระบุถึงกรณีที่ รฟม. ได้ออกข่าวประชาสัมพันธ์ ฉบับที่ 59/2565 เมื่อวันที่ 14 ก.ย.พาดพิงถึงข้อเสนอผลตอบแทนของบริษัทซึ่ง บริษัทฯ ขอเรียนชี้แจงว่า เหตุที่บริษัทฯ ต้องเปิดเผยข้อมูลดังกล่าวก็เพื่อเป็นการสนับสนุนให้การประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม เป็นการประมูลที่โปร่งใส บริสุทธิ์ ยุติธรรม และเป็นประโยชน์สูงสุดแก่ประเทศชาติและประชาชนอย่างแท้จริงนั้น

เพราะคณะกรรมการคัดเลือกฯ และ รฟม. เคยมีการจัดประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มมาแล้วเมื่อปี 2563 แต่ รฟม.และคณะกรรมการคัดเลือกฯได้แก้ไขเอกสารการคัดเลือกทั้งที่มีการขายเอกสารประกวดราคาไปแล้ว จนทำให้บริษัทฯ ต้องฟ้องคดีต่อศาลปกครองกลางเป็นคดีแรก

 

และเมื่อศาลปกครองกลางมีคำสั่งทุเลาการบังคับ ไม่ให้คณะกรรมการคัดเลือกฯ ใช้เอกสารการคัดเลือกเอกชนที่แก้ไขเพิ่มเติม คณะกรรมการคัดเลือกฯ ก็ได้มีมติยกเลิกการประมูลและเปิดประมูลโครงการครั้งใหม่เมื่อกลางปี 2565 โดยปรับเปลี่ยนคุณสมบัติและเงื่อนไขของผู้มีสิทธิเข้ายื่นข้อเสนอให้แตกต่างไปจากเดิม จนทำให้บริษัทฯ และพันธมิตร ซึ่งเป็นเอกชนที่เคยมีคุณสมบัติเข้าประมูลได้ กลับไม่สามารถเข้าประมูลในครั้งนี้ได้

 

“บริษัทฯ เห็นว่า เป็นการกระทำที่น่าจะมีเจตนากีดกันบริษัทฯ และพันธมิตรไม่ให้มีโอกาสเข้าแข่งขันราคาอย่างเป็นธรรม และยังอาจเป็นการเอื้อประโยชน์ให้ผู้เสนอราคารายหนึ่งรายใด เป็นการดำเนินการไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขัดต่อมติคณะรัฐมนตรี และคำพิพากษาศาลปกครอง จนทำให้บริษัทฯ ต้องฟ้องคณะกรรมการคัดเลือกฯ และ รฟม. ต่อศาลปกครองกลางอีกครั้ง เพื่อขอให้ศาลเพิกถอนประกาศเชิญชวนฯ และเอกสารการคัดเลือกเอกชนฉบับใหม่นี้ โดยขณะนี้ คดียังอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาล”

 

ขณะที่คดีศาลปกครองกลางมีคำสั่งยกคำร้องขอทุเลาการบังคับของบริษัทฯ เป็นเพียงการพิจารณาข้อกฎหมายในบางประเด็นเท่านั้น ยังไม่ใช่รายละเอียดเนื้อหาของคดีทั้งหมด ซึ่งศาลปกครองจะต้องใช้เวลาอีกสักระยะหนึ่งในการดำเนินการดังกล่าว

 

นอกจากนี้การที่ศาลปกครองกลางมีคำสั่งยกคำร้องดังกล่าวไม่ได้หมายความว่า ศาลปกครองกลางจะไม่พิพากษาเพิกถอนประกาศเชิญชวนฯ และเอกสารการคัดเลือกเอกชนฉบับใหม่ที่บริษัทฯ เห็นว่า ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ดังเช่นในคดีที่บริษัทฯ ฟ้องขอให้เพิกถอนการยกเลิกการประมูลเมื่อปี 2563 ของคณะกรรมการคัดเลือกฯ และ รฟม. ซึ่งศาลปกครองกลางก็มีคำสั่งยกคำร้องขอทุเลาการบังคับของบริษัทฯ  แต่ในท้ายที่สุด ศาลปกครองกลางก็มีคำพิพากษาเพิกถอนการยกเลิกดังกล่าว

 

รายงานข่าวจากบีทีเอสซี กล่าวต่อว่า กรณีที่ รฟม. อ้างข้อเสนอด้านเทคนิคของการประมูลครั้งนี้แตกต่างจากครั้งก่อนนั้น เอกสารการคัดเลือกเอกชนในประเด็นข้อเสนอด้านเทคนิคระหว่างปี 2563 กับปี 2565 นั้นแทบจะไม่มีความแตกต่างในรายละเอียด  จะแตกต่างก็แต่เพียงการกำหนดคุณสมบัติของผู้ยื่นข้อเสนอที่มีลักษณะกีดกันการประมูลจนทำให้บริษัทฯ และพันธมิตรไม่สามารถยื่นข้อเสนอได้เท่านั้น

 

ดังนั้น หากไม่มีการกีดกันดังกล่าว บริษัทฯ และพันธมิตรในฐานะผู้มีประสบการณ์อย่างยาวนานในกิจการรถไฟฟ้า กิจการก่อสร้าง และกิจการอื่นที่เกี่ยวข้องเชื่อมั่นว่า จะสามารถผ่านหลักเกณฑ์และเงื่อนไขด้านเทคนิคอย่างแน่นอน 

 

ขณะเดียวกันจากข้อเท็จจริงที่ปรากฏต่อสาธารณะแล้ว จะเห็นได้อย่างชัดเจนว่า ข้อเสนอของบริษัทฯ และพันธมิตรเป็นข้อเสนอที่ ทำให้ภาครัฐสามารถประหยัดเงินลงทุนและไม่เป็นภาระทางการคลังของประเทศเกินจำเป็น และ/หรือ ได้รับประโยชน์สูงสุด และเป็นข้อเสนอที่ทำให้ ภาระค่าใช้จ่ายทางการเงินของภาครัฐในภาพรวมอยู่ในระดับที่เหมาะสม

 

บริษัทฯ และพันธมิตร ขอยืนยันว่า ตัวเลขตามข้อเสนอดังกล่าว เป็นข้อเสนอที่ทำได้จริง เนื่องจากบริษัทฯ และพันธมิตรมีประสบการณ์ยาวนานและประสบความสำเร็จในการดำเนินกิจการให้บริการเดินรถไฟฟ้ามาโดยตลอด ซึ่งหากบริษัทฯ และพันธมิตรสามารถเข้าร่วมการประมูลได้ ผลประโยชน์ที่ภาครัฐจะได้รับจะสูงกว่าของเอกชนที่ยื่นข้อเสนอทั้ง 2 ราย จำนวนหลายหมื่นล้านบาท

 

รายงานข่าวจากบีทีเอสซี ระบุว่า การประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มครั้งใหม่นี้ ไม่ได้มีการเปิดโอกาสดังเช่นที่ รฟม. กล่าวอ้าง เนื่องจาก 1 ในเอกชนที่ยื่นข้อเสนอจำนวน 2 รายน้ัน มีลักษณะต้องห้ามตามกฎหมายไม่ให้เข้าร่วมประมูลหรือได้รับคัดเลือกเป็นคู่สัญญาร่วมลงทุนในโครงการ ร่วมลงทุน

 

ในขณะที่เอกชนที่เหลืออีก 1 รายก็เป็นรายที่ รฟม. เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ลำดับที่ 2 นั่นเอง แต่กระนั้น คณะกรรมการคัดเลือกฯ และ รฟม. ก็ยังเดินหน้าพิจารณาซองข้อเสนอด้านเทคนิคของเอกชนที่ขาดคุณสมบัติ และใช้เวลาพิจารณาเพียง 1 สัปดาห์ก็ประกาศคุณสมบัติผู้ผ่านข้อเสนอด้านเทคนิดได้ ซึ่งน่าจะถือว่า เป็นการพิจารณาซองข้อเสนอด้านเทคนิคที่เร็วที่สุดในประวัติศาสตร์

 

นอกจากนี้เมื่อพิจารณาการกระทำที่ผ่านมาของคณะกรรมการคัดเลือกฯ และ รฟม. ไม่ว่าจะเป็นการแก้ไขเอกสารข้อเสนอการประมูลในครั้งก่อน การยกเลิกการประมูล การกำหนดเงื่อนไขคุณสมบัติของผู้มีสิทธิยื่นประมูลครั้งใหม่ให้แตกต่างไปจากเดิม ย่อมทำให้บริษัทฯ มีความวิตกกังวลว่า ในการประมูลครั้งล่าสุดจะดำเนินการไปด้วยความโปร่งใส บริสุทธิ์ และยุติธรรมหรือไม่ และจะทำให้ประเทศชาติและประชาชนได้รับผลประโยชน์สูงสุดอย่างแท้จริงหรือไม่

 

หากพิจารณาจากข้อเสนอของบริษัทฯ และพันธมิตรข้างต้นแล้ว ย่อมสรุปได้ชัดเจนว่า การคัดเลือกเอกชนของคณะกรรมการคัดเลือกฯ และ รฟม. ในครั้งนี้ น่าจะทำให้รัฐต้องเสียหายอย่างยิ่ง  บริษัทฯ จึงหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ข้อเท็จจริงนี้ จะทำคณะกรรมการคัดเลือกฯ และ รฟม. ได้ตระหนักถึงความเสียหายที่ประเทศชาติจะได้รับ หากยังเดินหน้าการประมูลโครงการนี้ต่อไป