3คดีศาลปกครองชี้ชะตารถไฟฟ้าสายสีส้มล้มหรือได้ไปต่อ

17 ก.ย. 2565 | 08:09 น.
666

3 คดีพันสายสีส้มลุ้นศาลปกครองชี้ชะตา บีทีเอสขอความเป็นธรรม รื้อเกณฑ์ทีโออาร์-ล้มประมูลเช็นสัญญา รัฐต้องรับผิดชอบหากคำวินิจฉัยออกมา ขณะ BEM ยันทำถูกต้อง เน้น ศักยภาพเป็นธงนำ               

 

แม้การประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม(บางขุนนนท์-มีนบุรี) รอบที่สอง ของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) จะได้ผู้ชนะประมูลอย่างไม่เป็นทางการแล้วก็ตามแต่เรื่องของคดีที่ บริษัทระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือบีทีเอสซีเป็นโจทก์ยื่นฟ้อง ยังคงเดินหน้าตาม กระบวนการต่อเนื่อง

 

ล่าสุด เมื่อวันที่ 15 กันยายน 2565 ศาลปกครองสูงสุดนัดนั่งพิจารณาครั้งแรก ในคดีหมายเลขดำที่ อ.572/2565ระหว่าง บีทีเอสซี ผู้ฟ้องคดี คณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 แห่งพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) กับพวกรวม 2 คน

 

ที่มีมติแก้ไขเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์และวิธีการพิจารณาผู้ชนะการประเมินของเอกสารคัดเลือกเอกชนในการประมูลรอบแรก เป็นเหตุให้บีทีเอสซี ซึ่งเป็นผู้ซื้อเอกสารข้อเสนอการร่วมลงทุนได้รับความเดือดร้อนเสียหาย ขณะรฟม.ออกมายืนยันว่าการประมูลรอบที่สองกับรอบแรกคนละส่วนกัน                   

 

 

นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บีทีเอสซีเปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ” ว่าศาลปกครองสูงสุดปิดรับการให้ข้อมูลเพิ่มเติมของทั้วสองฝ่าย ตุลาการจะกำหนดพิจารณาคดีฯและแจ้งให้ทราบอีกครั้ง อย่างไรก็ตาม แม้ปัจจุบันการประกวดราคาครั้งแรก จะถูกยกเลิกไป และรฟม.ได้เปิดประมูลรอบใหม่แต่ บริษัทต้องการเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมโดยศาลเป็นผู้พิจารณาเนื่องจากยังติดใจในประเด็นที่

 

 

คณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา36ฯซึ่งเป็นผู้ถูกฟ้องได้แก้ไขหลักเกณฑ์เป็นเรื่องที่กระทำโดยชอบหรือไม่ชอบด้วยกฎหมายแม้รฟม.จะมองว่าการประมูลรอบแรกกับรอบที่สองเป็นคนละส่วนกัน แต่มองว่ามีความเชื่อมโยงกัน

 

เพราะการแก้ไขเกณฑ์ประมูลรอบแรกที่อยู่ในชั้นศาลต่อมารฟม.ได้ยกเลิกการประมูลครั้งนั้นและเปิดประมูลใหม่ ขณะล่าสุดบริษัทได้ยื่นฟ้อง ไปปมเกณฑ์ทีโออาร์กีดกันการแข่งขันประมูลในรอบที่สอง

3คดีศาลปกครองชี้ชะตารถไฟฟ้าสายสีส้มล้มหรือได้ไปต่อ

อย่างไรก็ตามปัจจุบันได้ผู้ชนะประมูลและสามารถเจรจาลงนามในสัญญาได้แต่เจ้าหน้าที่รัฐต้องรับผิดชอบหาก คำพิพากษาศาลออกมา

              

นางสาวปะราลี เตชะจงจินตนา ทนายความผู้รับมอบอำนาจจากบีทีเอสซี กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับคดีในศาลปกครองที่เกี่ยวข้องกับโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มจำนวน 3 คดี ประกอบด้วย 1.คดีเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์และวิธีการพิจารณาผู้ชนะในการประมูลครั้งที่ 1 ขณะนี้อยู่ระหว่างรอนัดตัดสินคดี 2.คดียกเลิกการประกวดราคา และคำสั่งของผู้ว่าการ รฟม.

 

 

ที่มีคำสั่งและออกประกาศยกเลิกการประกวดราคาโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม เมื่อวันที่ 3 ก.พ.2564 ปัจจุบันศาลปกครองกลางได้พิพากษาเมื่อวันที่ 7 ก.ค.2565 ชี้ว่าไม่ชอบด้วยกฎหมาย และปัจจุบัน รฟม.อยู่ระหว่างยื่นอุทธรณ์ไปยังศาลปกครองสูงสุด และ 3.คดีกำหนดหลักเกณฑ์ประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้มครั้งที่สอง 

 

ชอบหรือมิชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งเป็นคดีล่าสุดที่ศาลปกครองกลางรับไว้พิจารณา ปัจจุบันอยู่ในขั้นตอนพิจารณา ยังไม่มีกำหนดนัดไต่สวนเพิ่มเติมนอกจากนี้ยังมีอีก 1 คดี คือ คดียกเลิกการประมูล ซึ่งศาลนัด 27 ก.ย.65 ชี้ว่ามีมูลความผิดหรือไม่ ซึ่งอยู่ในศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง

 

ส่วนข้อเสนอผลตอบแทนประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้มรอบแรกที่ขอรับเงินสนับสนุนสุทธิเป็นมูลค่า ณ ปีปัจจุบัน วงเงิน 9,600 ล้านบาท เมื่อเทียบกับผู้ชนะประมูลรอบสอง ที่วงเงินต่างกันสูง ซึ่งบริษัทไม่ทราบรายละเอียดวิธีคำนวณ ว่ามีความแตกต่างกันอย่างไร

              

ด้านนายสมบัติ กิจจาลักษณ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM กล่าวว่า รฟม.แจ้งให้บริษัทฯ ทราบถึงผลการประเมินคุณสมบัติและเทคนิคว่า บริษัทฯ ผ่านเกณฑ์และเสนอผลประโยชน์ให้แก่รัฐสุทธิ (NPV) -78,287.95 ล้านบาท

 

โดยมาจากการการหักลบระหว่างส่วนที่เอกชนจะตอบแทนให้รัฐ กับเงินที่เอกชนขอให้รัฐช่วย ซึ่งถือเป็นข้อเสนอที่ดีที่สุดนั้น ทางบริษัทฯ ยืนยันว่าข้อเสนอทั้งหมดเป็นไปตามเงื่อนไขและกติกาที่รัฐกำหนดขึ้น

              

ที่ผ่านมาข้อเสนอของบริษัทฯ ยังดำเนินการตามข้อกำหนดทางวิศวกรรมงานโยธา ระบบรถไฟฟ้า วิธีการและเทคนิคการก่อสร้างโดยเฉพาะการก่อสร้างงานอุโมงค์และสถานีใต้ดิน ซึ่งเป็นงานก่อสร้างใต้ดินที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ต้องดูแลความปลอดภัยสูงสุด ระบบรถไฟฟ้าที่จัดซื้อมีประสิทธิภาพสูง

 

อายุการใช้งานนาน มาให้บริการแก่ประชาชน และมีข้อเสนอทางการเงินที่เป็นประโยชน์แก่รัฐทั้งในส่วนของเงินสนับสนุนค่างานโยธาที่ต่ำกว่าราคากลาง ทั้งที่หากพิจารณาข้อเท็จจริงพบว่าราคาค่าก่อสร้างในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ปรับตัวสูงขึ้นมาก โดยบริษัทฯ ก็สามารถแบ่งผลประโยชน์เพิ่มเติมให้แก่ รฟม.ได้                          

              

นายสมบัติ กล่าวว่า ส่วนกรณีที่มีเอกชนบางรายซึ่งไม่ได้เข้าร่วมการคัดเลือก เปิดเผยว่ามีข้อเสนอที่เป็นประโยชน์แก่ รฟม. มากกว่าที่บริษัทฯ เสนอ ก็เป็นสิทธิของเอกชนรายนั้นจะทำ แต่เนื่องจากการให้ข้อมูลมีการพาดพิงถึงข้อเสนอของบริษัท ซึ่งอาจทำให้สังคมเกิดความเข้าใจผิดว่า

 

ข้อเสนอของบริษัทฯ ทำให้รัฐเสียประโยชน์ บริษัทฯ จำเป็นต้องชี้แจงว่า ได้จัดทำข้อเสนอที่เป็นประโยชน์แก่รัฐ เข้าร่วมการคัดเลือกภายในเงื่อนไข และกติกาที่รัฐกำหนด ได้รับการประเมินด้านเทคนิคผ่านตามเกณฑ์ที่รัฐกำหนดแล้ว

 

ก่อนที่จะมาพิจารณาด้านการเงิน การนำข้อเสนอด้านการเงินอื่น ซึ่งไม่ทราบว่าอยู่บนเงื่อนไข สมมติฐานใด ผ่านเกณฑ์การประเมินของ รฟม.หรือไม่ มาเปรียบเทียบกับข้อเสนอด้านการเงินของบริษัทฯ คงไม่สามารถนำมาเปรียบเทียบกันได้