เตือนรับมือ เศรษฐกิจถดถอย สหรัฐ-อียูทรุดหนัก ส่งออกไข้ขึ้น

17 ก.ย. 2565 | 06:47 น.
2.3 k

เศรษฐกิจยักษ์ใหญ่โลก “สหรัฐฯ-อียู” ถดถอย จีน ญี่ปุ่นชะลอตัว สะเทือนไทย ส่งออก-ท่องเที่ยวโค้งสุดท้ายส่อหด นักเศรษฐศาสตร์จี้ทุกฝ่ายตั้งการ์ดรับมือ “สิ่งทอ เครื่องนุ่งห่ม ยางพารา” แจ๊กพอต คู่ค้าขอลดปริมาณรับมอบสินค้า ดีเลย์นำเข้า ต้องหั่นเป้าทั้งปี

 

เงินเฟ้อสูงฉุดเศรษฐกิจและกำลังซื้อยังเป็นปัญหาใหญ่ของโลก โดยสหรัฐฯเศรษฐกิจที่มีขนาดใหญ่สุดของโลกเงินเฟ้อยังพุ่งไม่หยุด ล่าสุดเดือนสิงหาคม 2565 ยังเพิ่มขึ้นถึง 8.3% คาดจะมีผลให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ต้องปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอีก 0.75-1.0% ในการประชุมที่จะมีขึ้นในวันที่ 20 ก.ย.นี้ เพื่อสกัดเงินเฟ้อที่ต้องเอาให้อยู่ เพราะไม่เช่นนั้นแล้วอาจมีผลให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ ชะลอตัวไปอีก หลังจากผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ของสหรัฐฯลดลง 0.9% เมื่อเทียบเป็นรายปี ในไตรมาส 2 ของปีนี้หรือลดลง 0.2% จากไตรมาสก่อนหน้า ขณะที่ไตรมาส 1 จีดีพีสหรัฐลดลง 1.6% ส่วนธนาคารกลางยุโรป (ECB)ได้ปรับขึ้นดอกเบี้ย 2 ครั้งแล้วในรอบปีนี้ (ก.ค.และ ก.ย.)สู่ระดับ 0.75% เป็นการปรับขึ้นดอกเบี้ยครั้งแรกในรอบ 11 ปี เพื่อสกัดเงินเฟ้อเช่นกัน

 

“ฐานเศรษฐกิจ” สอบถามความเห็นนักเศรษฐศาสตร์ ส่วนใหญ่มีความเห็นสอดคล้องกันว่า การเร่งขึ้นดอกเบี้ยของเฟดอาจยิ่งเพิ่มความเสี่ยงเศรษฐกิจสหรัฐฯ ชะลอตัวลงหนัก และเข้าสู่ภาวะถดถอยในปี 2566

 

  • ส่งออก-ท่องเที่ยวหด

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน ธนาคารกรุงไทย ระบุว่า การเตรียมปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายของเฟดในรอบใหม่ จะยิ่งทำให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ รวมถึงเศรษฐกิจยุโรปยากที่จะเลี่ยงภาวะถดถอย ซึ่งไทยส่งออกสินค้า และบริการเฉพาะสองตลาดนี้สัดส่วนเกือบ 30% มองไปข้างหน้าหากเศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะถดถอย จะส่งผลกระทบต่อธุรกิจส่งออกและจำนวนนักท่องเที่ยวที่จะหายไปจาก 2โซนนี้ ดังนั้นเป็นโจทย์ของรัฐที่จะจูงใจภาคธุรกิจให้อยู่รอดและดึงนักท่องเที่ยวที่มีรายได้ต่อหัวเข้ามา

 

ด้าน นายจิติพล พฤกษาเมธานันท์ นักกลยุทธ์การลงทุน บลจ.ยูโอบี (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า เฟดยังคงเหลือการประชุมอีก 3 ครั้ง ขณะที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)คงเหลือการประชุมเพียง 2 ครั้งเท่านั้นของปีนี้ โดย กนง.คาดจะปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายเพียงครั้งละ 0.25% จึงมีแนวโน้มที่เงินบาทจะอ่อนค่าได้อีกตลอด 3 เดือนที่เหลือ จากความต่างของอัตราดอกเบี้ยไทยกับสหรัฐฯที่ห่างกันมาก ส่วนผลต่อเศรษฐกิจไทยนั้น นอกจากการอ่อนค่าของเงินบาทจะกดดันต่อต้นทุนในการนำเข้าสินค้าและบริการที่สูงขึ้นแล้ว ยังส่งผลถึงราคาสินค้าไม่ว่ากลุ่มค้าปลีก ค่าขนส่งสาธารณะ ก๊าซหุงต้มที่ปรับตัวสูงขึ้น โดยระยะกลางยังมีหลายปัจจัยที่จะส่งผลทำให้ราคาสินค้าบางกลุ่มปรับตัวสูงขึ้นอีก

 

เตือนรับมือ เศรษฐกิจถดถอย สหรัฐ-อียูทรุดหนัก ส่งออกไข้ขึ้น

 

 

  • จี้รับมือธุรกิจไทยต้องรอด

 “ภาพรวมข้างหน้าไทยต้องตั้งการ์ดรับเศรษฐกิจสหรัฐ และยุโรปที่จะเข้าสู่ภาวะถดถอย ขณะที่ช่วงท้ายปียังมีลุ้นโอกาสที่จีนจะหาทางออกหรือปลดล็อกเศรษฐกิจและหาทางออกจากการล็อกดาวน์ แต่ด้านตลาดเงินตลาดทุนยังมีความผันผวน หากตลาดหุ้นสหรัฐฯตกย่อมกระทบตลาดหุ้นไทยได้เช่นกัน ส่วนหนึ่งเพราะสัดส่วนของตลาดหุ้นของสหรัฐมีสัดส่วนใหญ่มาก โอกาสที่ตลาดหุ้นไทยจะบวกสวนย่อมไม่ง่าย” นายจิติพล กล่าว

 

สอดคล้อง นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล กรรมการรองผู้จัดการใหญ่ และเลขานุการธนาคารกรุงเทพ และในฐานะประธานกรรมการสภาธุรกิจตลาดทุน (FETCO) กล่าวว่า ผลลัพธ์จากเฟดปรับขึ้นดอกเบี้ยเพื่อกดอัตราเงินเฟ้อของสหรัฐฯนั้น ในระยะข้างหน้า จำเป็นที่ไทยจะต้องเตรียมการรับสถานการณ์จากภาวะเศรษฐกิจถดถอยทั้งจากสหรัฐฯและยุโรป โดยเฉพาะต้องเตรียมการให้ผู้ประกอบการ และธุรกิจไทยอยู่รอดได้ จากที่ประธานเฟดพูดว่าจะปรับดอกเบี้ยอีกนานพอควร เบื้องต้นอยู่ที่ 4% หรือจะปรับขึ้นอย่างน้อย 5%

 

กอบศักดิ์  ภูตระกูล

 

 “ฐานเศรษฐกิจ”ยังได้สอบถามผู้นำภาคธุรกิจเอกชนพบว่า จากที่เศรษฐกิจสหรัฐฯ จีน และยุโรปที่มีขนาดใหญ่อันดับต้นของโลก ได้เข้าสู่ภาวะชะลอตัวในเวลานี้ได้เริ่มส่งผลกระทบภาคการส่งออกในสินค้าบางกลุ่มของไทย ที่พึ่งพา 3 ตลาดหลักนี้ชะลอตัวลงในไตรมาสที่ 4 ของปีนี้

 

  • "สิ่งทอ-เครื่องนุ่งห่ม-ยาง" หดเป้า

นายยุทธนา ศิลป์สรรค์วิชช์ นายกสมาคมอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มไทย เผยว่า แม้มูลค่าการส่งออกสินค้าเครื่องนุ่งห่ม และสิ่งทอช่วง 7 เดือนแรกปีนี้ จะยังขยายตัวได้ดี โดยขยายตัวที่ 8% และ 12% ตามลำดับ(รูปดอลลาร์สหรัฐฯ) แต่จากเศรษฐกิจโลกเข้าสู่ภาวะชะลอตัว เงินเฟ้อสูงกระทบกำลังซื้อผู้บริโภค ทั้งสหรัฐฯ สหภาพยุโรป และญี่ปุ่น ที่เป็นตลาดส่งออกสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม 3 อันดับแรกของไทยตามลำดับ ส่งผลให้เวลานี้คู่ค้าได้ขอลดจำนวนสินค้าที่สั่งซื้อ รวมถึงชะลอรับมอบสินค้าในไตรมาส 3-4 ของปีนี้เพื่อลดความเสี่ยง เนื่องจากไม่มั่นใจในเศรษฐกิจและตัวเลขการขายตลาดปลายทางว่าจะทำได้ตามเป้าหมายหรือไม่

 

ดังนั้นในส่วนของการส่งออกเครื่องนุ่งห่มปีนี้ เดิมตั้งเป้าจะขยายตัวได้ 10-12% คาดการณ์ล่าสุดน่าจะขยายตัวได้เพียง 5-6% และสิ่งทอเดิมเป้าขยายตัว 10-15% คาดจะขยายตัวได้ 6-7%

 

หลักชัย  กิตติพล

 

ขณะที่ นายหลักชัย กิตติพล นายกกิตติมศักดิ์ สมาคมยางพาราไทย กล่าวว่า เดิมคาดการส่งออกยางพาราไทยในปีนี้ในรูปเงินบาทคาดจะขยายตัวได้ที่ 20% (ปี 2564 ไทยส่งออกยางพารา 1.76 แสนล้านบาท) แต่เวลานี้คาดอาจขยายตัวได้ไม่เกิน 10% ปัจจัยหลักจากจีน ผู้นำเข้าวัตถุดิบยางพารารายใหญ่สุดจากไทย (สัดส่วนมากกว่า 50%) เศรษฐกิจอยู่ในภาวะชะลอตัว ผลพวงการล็อกดาวน์เพื่อต่อสู้กับโควิด ลามกระทบภาคการผลิต ภาคอสังหาฯ และการบริโภคภายในชะลอตัว ยังผลการนำเข้ายางพาราจากไทยลดลง และกระทบต่อเนื่องถึงราคายางพาราในไทยที่ปรับลดลงมาอยู่ที่ระดับ 44-48 บาทต่อกิโลกรัมในเวลานี้

 

  • สรท.จับตาใกล้ชิด 2 ปัจจัยเสี่ยง

นายชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) กล่าวว่า ยังคงคาดการณ์ขยายตัวของการส่งออกไทยในภาพรวมปีนี้ที่ 6-8% โดยมีปัจจัยเสี่ยงหลักที่ต้องติดตามคือ 1.ความรุนแรงของการชะลอตัว ของเศรษฐกิจสหรัฐฯ จีน และยุโรป 2.ความรุนแรงของปัญหาการขาดแคลนเซมิคอนดักเตอร์ (ชิป) ที่เป็นชิ้นส่วนสำคัญในอุตสาหกรรมการผลิตและส่งออกรถยนต์ที่เป็นสินค้ามีมูลค่าสูงของไทย หากยังขาด แคลนจะกระทบการส่งออกรถยนต์ต่อเนื่อง ทำให้คาดการส่งออกรถยนต์ปีนี้จะไม่ขยายตัว (โต 0%)

 

ขณะเดียวกันต้องติดตามการประชุมใหญ่สมัชชาพรรคคอมมิวนิสต์จีน วันที่ 16 ต.ค.นี้ เพื่อรับรอง “สี จิ้นผิง” ให้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีจีนต่อ และคงมีการพูดถึงนโยบายการฟื้นเศรษฐกิจ นโยบาย Zero Covid และอื่น ๆ ในปีนี้และปีหน้าว่าจะเป็นเช่นไร ซึ่งจะมีผลต่อทิศทางเศรษฐกิจ การค้า การลงทุนของไทยในระยะต่อไปด้วย

 

อย่างไรก็ดีจากที่จีนยังมีการล็อกดาวน์ และคลายล็อกดาวน์เป็นระยะในพื้นที่ที่มีผู้ติดเชื้อโควิดได้ส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่อุปทาน (ซัพพลายเชน) ของภาคการผลิตภายในของจีน ทำให้เศรษฐกิจชะลอตัว และมีการนำเข้าสินค้าวัตถุดิบจากไทยลดลง

 

ชัยชาญ  เจริญสุข

 

“สินค้าไทยที่มีแนวโน้มการส่งออกลดลงในไตรมาสสุดท้ายปีนี้ ได้แก่ ยางพารา เม็ดพลาสติก เคมีภัณฑ์ จากเศรษฐกิจจีนชะลอตัว ดังนั้นต้องเร่งหาตลาดใหม่เพิ่ม ส่วนสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับที่เป็นสินค้ามีตลาดหลักที่สหรัฐฯ และยุโรปก็อาจลดลง ส่วนกลุ่มสินค้าที่ยังส่งออกได้ดีในทุกตลาดเวลานี้ได้แก่ สินค้ากลุ่มอาหาร เช่น ข้าว ไก่สดและไก่แปรรูป ทูน่ากระป๋อง อาหารสัตว์เลี้ยง เป็นต้น

 

หน้า 1 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3819 วันที่ 18 – 21 กันยายน 2565