โวย ยกเลิก มาตรการ 3:1 ชั่วคราว แก้ปัญหาอาหารสัตว์ ทุบราคาข้าวโพดร่วง

03 ก.ย. 2565 | 16:31 น.
อัปเดตล่าสุด :03 ก.ย. 2565 | 23:33 น.
758

ชาวไร่ข้าวโพดโวย ยกเลิกชั่วคราวมาตรการ 3:1 แก้ปัญหาอาหารสัตว์สูง ราคาไม่ลด ซ้ำร้ายยังทุบราคาข้าวโพดร่วง ร้องขอปรับ “ประกันรายได้ข้าวโพด” กิโลกรัมละ 10-10.50 บาท ผู้เลี้ยงไก่ไข่ ขาดทุนยับ ซื้อข้าวโพดล่วงหน้า ในราคาสูง 13.20 บาท/กก. ถูกทุบลงมาเจ๊ง ทำให้ต้นทุนสูงลิ่ว

แหล่งข่าววงการค้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” จากการกำหนดนโยบายประกันรายได้เกษตรกรให้คงราคาประกันรายได้ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ฤดูกาล 2565/66 ที่กิโลกรัมละ 8.50 บาท  ขอให้รัฐบาลปรับราคาประกันรายได้ขั้นต่ำข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เป็นราคา 10.00-10.50 บาท/กิโลกรัมเพื่อสะท้อนต้นทุนที่เพิ่มขึ้นตามสถานการณ์ตามความเป็นจริง เพื่อเป็นขวัญกำลังใจให้กับเกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพด เนื่องจากนับตั้งแต่ปี 2562 ภาครัฐได้กำหนดนโยบายประกันรายได้ขั้นต่ำข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ 8.50 บาท/กิโลกรัม ซึ่งการคำนวณส่วนหนึ่งมาจากพื้นฐานจากต้นทุนการผลิตของเกษตรกรไทย ซึ่งหากคำนวณต้นทุนจากฤดูกาล 2562/63

 

 

ขณะนั้นปุ๋ยเคมี และยาปราบศัตรูพืช ราคายังอยู่ในระดับต่ำ จนมาถึงฤดูกาลปัจจุบัน  2565/66 ราคาประกันรายได้ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ไม่สอดคล้องกับต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้น จากราคาปุ๋ยเคมีสูงขึ้น 200-300% ต้นทุนยาปราบศัตรูขึ้นสูงขึ้น 100-200% จึงทำให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้นมาเป็น 6,500-6,900 บาท/ไร่ ขณะที่ผลผลิตเฉลี่ยทั้งประเทศประมาณ 710 กิโลกรัม/ไร่ ทำให้ต้นทุนผลผลิตสูงถึง 9.15 – 9.72 บาท/กิโลกรัม ต้นทุนผลผลิตสูงกว่าราคาประกันรายได้อยู่มาก ทำให้โครงการประกันรายได้ขั้นต่ำข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในฤดูกาล 2565/66 ในราคา 8.50 บาท/กิโลกรัมจึงไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อเกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์อย่างชัดเจน

 

 

ดังนั้นภาครัฐน่าจะปรับราคาประกันรายได้ขั้นต่ำให้กับเกษตรกรตามสภาวะการณ์ที่เป็นจริง สำหรับหลังจากการอนุมัติให้มีการยกเลิกมาตรการ 3:1 และลดอากรนำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และวัตถุดิบทดแทนชั่วคราว  ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ - เดือนเมษายน 2565 มีการพยายามร้องขอขอยกเลิกมาตรการ 3:1 และขอลดอากรนำเข้าข้าวโพดฯ และวัตถุดิบทดแทนชั่วคราว อย่างเข้มข้นของบางกลุ่มผลประโยชน์

 

 

 

โดยให้เหตุผลว่ากลัว วัตถุดิบอาหารสัตว์ไม่เพียงพอใช้  และเพื่อป้องกันบรรเทาไม่ให้ราคาอาหารสัตว์และต้นทุนผู้เลี้ยงสัตว์สูงมากเกินไป  จนรัฐบาลยอมอนุมติให้มีการยกเลิกมาตรการ 3:1 และลดอากรนำเข้าข้าวโพดฯ และวัตถุดิบทดแทนชั่วคราวตั้งแต่เดือน พฤษภาคม – กรกฎาคม 2565

 

เมื่อเวลาผ่านไปทำให้เห็นว่าผลจากการร้องขอนั้นไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อผู้บริโภค และผู้เลี้ยงสัตว์รายย่อยแต่อย่างใด ทั้งยังลดโอกาสการแข่งขันให้กับผู้เลี้ยงสัตว์รายย่อย และลดโอกาสของผู้ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ไทยอีกด้วย สุดท้ายผู้ที่ได้ผลประโยชน์กระจุกตัวอยู่ที่กลุ่มผู้มีศักยภาพนำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และวัตถุดิบทดแทนเพียงไม่กี่กลุ่ม และทำให้ผู้มีอำนาจในห่วงโซ่ธุรกิจสามารถกำหนดเงื่อนไขในการซื้อและกำหนดราคาได้มากยิ่งขึ้น

 

อันมีเหตุบ่งชี้จาก หลังจากรัฐบาลยอมอนุมัติตามที่ร้องขอ ราคาเนื้อสัตว์ และไข่กลับยังมีราคาสูงขึ้น จากการที่ราคาอาหารสัตว์และต้นทุนการเลี้ยงสัตว์ไม่ถูกลง  และข้าวโพดฯและวัตถุดิบทดแทนไม่ขาดแคลนอย่างที่กล่าวอ้างอย่างชัดเจน อันมีเหตุบ่งชี้จากการนำเข้าข้าวโพดฯ และวัตถุดิบทดแทนไม่มากเท่ากับตามที่ร้องขอ

 

 

ทั้งที่มีการลดอากรนำเข้าข้าวบาร์เลย์ และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เหลือ 0% ชั่วคราวเพิ่ม และมีโรงงานอาหารสัตว์หลายโรงหยุดรับซื้อข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เป็นเวลานานหลายเดือน ส่งผลให้โรงงานอาหารสัตว์ซื้อวัตถุดิบทดแทนเข้าในสต็อกจนมีผลทำให้ความต้องการใช้ข้าวโพดฯเลี้ยงสัตว์ไทยลดลงกดดันให้ราคาลงมาจาก 13.80 บาท/กิโลกรัม เหลือราคาหน้าโรงงานบางแห่งเพียง 11.10 บาท/กิโลกรัมในปัจจุบัน

 

 

โวย ยกเลิก มาตรการ 3:1 ชั่วคราว แก้ปัญหาอาหารสัตว์ ทุบราคาข้าวโพดร่วง

 

ช่วงหนึ่งที่ผ่านมาผู้เลี้ยงและผู้ผลิตอาหารสัตว์รายย่อย โดยเฉพาะกลุ่มผู้เลี้ยงไก่ไข่ หลงไปตามกระแสการปั่นข้อมูล   ข่าวสารและราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์  จึงยอมซื้อข้าวโพดฯ ล่วงหน้าในราคาที่สูงก่อนที่ราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในราคาสูงถึง 13.20 บาท/กิโลกรัมก่อนที่ราคาจะถูกทุบลงมา ทำให้ต้นทุนผลิตอาหารสัตว์ของกลุ่มรายเล็กกลับสูงขึ้นมากกว่า

 

แหล่งข่าววงการค้าเกษตร กล่าวว่า รายงานสถานการณ์ตลาดชิคาโก หรือ Chicago Mercantile Exchang (CME) และ Chicago Board of Trade  (CBOT) ตลาดชิคาโก รายงานสถานการณ์สินค้าเกษตร  ณ  วันที่ 1 กันยายน 2565  “ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์”  “ถั่วเหลือง” และข้าวสาลี ตลาดล่วงหน้า ติดลบ ทั้งกระดาน สาเหตุจาก กรมอุตุฯ สหรัฐ (National Oceanic and Atmospheric Administration  :NOAA) แจ้งว่าภาคใต้ของสหรัฐตั้งแต่รัฐเท็กซัส และรัฐตลอดริมชายฝั่งภาคใต้เม็กซิโกจะมีฝนตกชุกถึงวันอาทิตย์นี้ ขณะที่ภาคเหนือสหรัฐฯ จะมีอากาศที่ร้อนและแห้งแล้งตามฤดูกาลไปจนถึงกลางสัปดาห์หน้า,เงินดอลลาร์สหรัฐที่แข็งค่าขึ้นสูงสุด กดดันราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในทุกตลาดของสหรัฐฯ

 

 

โวย ยกเลิก มาตรการ 3:1 ชั่วคราว แก้ปัญหาอาหารสัตว์ ทุบราคาข้าวโพดร่วง