“สนั่น”ประธานหอฯ มองบวก ปรับขึ้นค่าแรงเพิ่มกำลังซื้อ-ดันเศรษฐกิจขยายตัว

31 ส.ค. 2565 | 16:32 น.
อัปเดตล่าสุด :31 ส.ค. 2565 | 23:48 น.

ประธานหอการค้าไทยชี้ปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำทั่วประเทศ 1 ต.ค.ส่งผลบวกต่อภาพรวมเศรษฐกิจ ช่วยจีดีพีขยายตัว 0.1-0.2% จากลูกจ้างมีกำลังซื้อเพิ่ม วอนนายจ้างอย่าผลักภาระต้นทุนที่ให้ผู้บริโภคทั้งหมด แนะนำเทคโนโลยี-ดิจิทัล ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต

 

นายสนั่น  อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ให้ความเห็นถึง ผลกระทบค่าจ้างหรือค่าแรงขั้นต่ำที่จะปรับเพิ่มขึ้นใน 77 จังหวัดทั่วประเทศ (เฉลี่ยต่ำสุด-สูงสุด 328-354 บาทต่อวัน หรือเพิ่มขึ้นจากเดิมประมาณ 5%) ที่จะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2565 ว่า แม้จะมีผลกระทบต่อผู้ประกอบการ แต่ถือเป็นมติจากคณะกรรมการไตรภาคี ของแต่ละจังหวัด ที่มีทั้งฝั่งนายจ้าง ลูกจ้าง และภาครัฐ ซึ่งตัวเลขที่ออกมานี้ก็เป็นตัวเลขที่ยอมรับได้ของทุกฝ่าย ซึ่งในส่วนนี้ก็เป็นการดูแลช่วยเหลือให้มีค่าครองชีพและอำนาจซื้อที่เพิ่มขึ้น บรรเทาปัญหาเงินเฟ้อที่ส่งผลให้ราคาสินค้าปรับตัวเพิ่มขึ้น

 

สนั่น  อังอุบลกุล

 

“สนั่น”ประธานหอฯ มองบวก ปรับขึ้นค่าแรงเพิ่มกำลังซื้อ-ดันเศรษฐกิจขยายตัว

 

จากการประเมินของหอการค้าไทย และ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย มองว่า การขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำนี้ จะส่งผลในทางบวกกับภาพรวมเศรษฐกิจไทยมากกว่า ซึ่งจะส่งผลให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ(GDP) ของไทยเพิ่มขึ้นประมาณ 0.1-0.2% จากอำนาจซื้อที่เพิ่มขึ้น (ประเมินจาก ค่าแรงที่เพิ่มขึ้น คูณ กับจำนวนแรงงาน และสามารถทำให้เงินหมุนเวียนในระบบเพิ่มขึ้น)

 

สำหรับต้นทุนของผู้ประกอบการที่เพิ่มขึ้นนั้น มองว่า ไม่ควรที่จะผลักภาระไปให้กับผู้บริโภคทั้งหมด แต่ผู้ประกอบการสามารถเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและบริการ (productivity) ได้โดยนำเรื่องดิจิทัลและเทคโนโลยีมาเสริมได้

 

 

“สนั่น”ประธานหอฯ มองบวก ปรับขึ้นค่าแรงเพิ่มกำลังซื้อ-ดันเศรษฐกิจขยายตัว

 

“ที่สำคัญอีกส่วนคือ สภาพคล่อง เงินหมุนเวียน ของผู้ประกอบการในช่วงที่เศรษฐกิจกำลังฟื้นนี้ หากรัฐบาลมีการสนับสนุนผู้ประกอบการให้เข้าถึงแหล่งเงินทุนต้นทุนต่ำได้ ตรงนี้ก็จะช่วยบรรเทาผลกระทบให้ผู้ประกอบการได้ส่วนหนึ่ง ซึ่งรัฐบาลควรต้องมีวงเงินเสริม มีการผ่อนคลายกฎเกณฑ์ และลดขั้นตอนให้ SMEs เข้าถึงเงินส่วนนี้ได้จริง ๆ” นายสนั่น กล่าว