“กรมวิชาการเกษตร” ยกระดับรับรองระบบการทำเกษตรไร้ก๊าซเรือนกระจก

24 ส.ค. 2565 | 17:15 น.
อัปเดตล่าสุด :25 ส.ค. 2565 | 00:15 น.

ก้าวรับเทรนด์โลก “กรมวิชาการเกษตร” ภายใต้การนำของ "มนัญญา-ระพีภัทร์" เล็งยกระดับเป็นหน่วยงานรับรองระบบการทำเกษตรไร้ก๊าซเรือนกระจก ตัวช่วยเอกชนก้าวข้ามการกีดกันทางการค้าโลก

“กรมวิชาการเกษตร” ยกระดับรับรองระบบการทำเกษตรไร้ก๊าซเรือนกระจก

 

นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า   กรมได้เตรียมยกระดับองค์กรให้เป็นหน่วยงานมีอำนาจรับรองระบบการทำการเกษตรไร้ก๊าซเรือนกระจก (Certification Body) สำหรับตรวจรับรองคาร์บอนเครดิตในแปลงปลูกพืชของกรมวิชาการเกษตรและแปลงเกษตรกรที่สนใจจะเข้าร่วมโครงการในอนาคต เพื่อเดินหน้าประเทศไทยสู่การทำเกษตรคาร์บอนต่ำ

 

สอดคล้องกับแนวนโยบายของนางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์  รมช.เกษตรและสหกรณ์ ที่ได้ให้ไว้ในการเป็นประธานเปิดการประชุมเจ้าหน้าที่ระดับสูงด้านเทคโนโลยีชีวภาพทางการเกษตร เอเปค(APEC High-Level Policy Dialogue on Agricultural Biotechnology:HLPDAB) โดยกรมวิชาการเกษตร(กวก.)เป็นเจ้าภาพ เพื่อรับมือกับความเสี่ยงของมาตรการกีดกันทางการค้าในอนาคตจากสหภาพยุโรปและสหรัฐอเมริกาจากภาษีก๊าซเรือนกระจกก่อนข้ามพรมแดน

 

“กรมวิชาการเกษตร” ยกระดับรับรองระบบการทำเกษตรไร้ก๊าซเรือนกระจก

 

สำหรับสินค้านำเข้า(Carbon Border Adjusment Mechanism , CBAM  )รวมถึงรองรับตลาดคาร์บอนเครดิต ตลาดสีเขียว  และเงื่อนไขในมาตรการเข้าถึงแหล่งเงินทุนสีเขียวในอนาคตซึ่งจะเชื่อมโยงกับภาคธุรกิจที่ดูแลสิ่งแวดล้อมยั่งยืน อันสอดคล้องกับนโยบาย BCG :Economy Models ของรัฐบาลและนโยบายประเทศซึ่งในการประชุม COP26 (Conference of the Parties ครั้งที่ 26)  ไทยได้ประกาศเป้าหมายที่สำคัญคือ ประเทศไทยจะเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ในปี 2050 และปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี 2065 

 

ทั้งนี้กรมได้เตรียมทำบันทึกข้อตกลงร่วมมือกับองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก(องค์การมหาชน)ซึ่งเป็นหน่วยงานเกี่ยวกับการอนุญาตให้ใช้เครื่องหมายรับรองปริมาณคาร์บอนเครดิต เพื่อให้มีการถ่ายทอดเทคโนโลยี การเตรียมความพร้อมให้กับบุคลากรของกวก. ในการดำเนินกิจการดังกล่าวเช่นการประเมินการปล่อยก๊าซ และนำไปสู่การปรับระบบการเกษตรกรรมเพื่อให้บรรลุเป้าหมายของรัฐบาล 

 

 

นอกจากนั้นเพื่อเป็นต้นแบบคำนวณปริมาณคาร์บอนเครดิตให้เกษตรกร ทางกวก.ได้มีการศึกษาศักยภาพกักเก็บก๊าซ CO2 ของพืชนำร่อง ได้แก่ ปาล์มน้ำมัน 2,000 ไร่ กักเก็บคาร์บอนได้ 144,000  ตัน/ปี ยางพารา 4,500 ไร่ กักเก็บคาร์บอนได้ 103,500 ตัน/ปี ไม้ผลและไม้ยืนต้น 12,500 ไร่ กักเก็บคาร์บอนได้ 2,500 ตัน/ปี

 

“กรมวิชาการเกษตร” ยกระดับรับรองระบบการทำเกษตรไร้ก๊าซเรือนกระจก

 

โดยในส่วนของกรมวิชาการเกษตรมีพื้นที่สวน พื้นที่ป่า และพื้นที่ปลูกพืชวิจัยมากกว่า 100,000 ไร่ ทั่วประเทศทั้งพืชไร่ อาทิ ปาล์มน้ำมัน ยางพารา อ้อย มันสำปะหลัง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ พืชสวน อาทิเช่น ทุเรียน ลำไย มังคุด มะพร้าว มะม่วง เป็นต้นจะนำเข้าโครงการดังกล่าวทั้งหมด นอกจากนั้นจะเร่งสร้างโอกาสในการขายคาร์บอนเครดิตให้กับผู้ประกอบการที่สนใจ  

 

 

อย่างไรก็ตามเมื่อ 19  ก.ค. 65 ที่ผ่านมากวก.ได้เข้าสมัครเป็นสมาชิกเครือข่ายคาร์บอนนิวทรัลประเทศไทย(Thailand Carbon Neutral Netrork,TCNN) ร่วมกับ Climate Neutral Now ภายใต้กรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ(UNFCCC )  เพื่อส่งเสริมความร่วมมือทุกภาคส่วนในการลดก๊าซเรือนกระจก