“คมนาคม” กางแผนปรับปรุงคานสะพานกลับรถถล่ม “ถนนพระราม 2” ถึงไหนแล้ว

23 ส.ค. 2565 | 14:03 น.
อัปเดตล่าสุด :23 ส.ค. 2565 | 21:10 น.

“คมนาคม” เร่งติดตามแก้ไขบนถนนพระราม 2 หลังเกิดอุบัติเหตุบ่อย กางแผนปรับปรุงคานสะพานกลับรถพังถล่ม เตรียมเปิดใช้งาน ธ.ค.นี้ ลุยติดตั้งเครื่องมือตรวจสอบการรับน้ำหนักรถบรรทุกติดตามผล 6 เดือน จ่อรายงานผลสอบข้อเท็จจริงต่อรัฐมนตรีคมนาคมไม่เกิน 25 ส.ค.นี้

นายพิศักดิ์ จิตวิริยะวศิน รองปลัดกระทรวงคมนาคม หัวหน้ากลุ่มภารกิจการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านทางหลวง ลงพื้นที่ตรวจสอบพื้นที่เกิดเหตุจำนวน 3 กรณีบนทางหลวงหมายเลข 35 (ถนนพระราม 2) ประกอบด้วย 1.กรณีคานสะพานกลับรถร่วงหล่นบนถนนพระราม 2 ตอน สะพานข้ามแม่น้ำท่าจีน-นาโคก ที่ กม. 34+000 บริเวณสะพานกลับรถหน้าโรงพยาบาลวิภาราม อ.เมือง จ.สมุทรสาคร พังถล่มทับรถยนต์ เมื่อวันที่ 31 ก.ค.65 เหตุการณ์ดังกล่าวกระทรวงคมนาคม และ ทล. ได้ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง โดยมีวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) และ สภาวิศวกร ร่วมด้วย โดยได้มีกรตรวจสอบโครงสร้างสะพาน รอยร้าว หรือชำรุด เบื้องต้นไม่พบรอบร้าวที่มีนัยยะสำคัญที่ทำให้โครงสร้างเสียหาย รวมทั้งใช้เครื่องมือตรวจสอบ สแกนพื้นผิว ตำแหน่งเหล็ก ระยะห่างของเหล็กยังคงได้ตามมาตรฐานตามแบบ และใช้เครื่องมือในการทดสอบกำลังเสา ทดสอบคอนกรีตยังสามารถรับกำลังอัดตามมาตรฐานวิศวกรรมยังได้ตามมาตรฐานอยู่

 

 

 “เพื่อให้เกิดความมั่นใจอีกระดับ ทล. ร่วมกับ วสท. ในการทดสอบรับน้ำหนักบรรทุก โดยนำรถบรรทุกจริงขึ้นไปจอดบริเวณที่จุดเกิดเหตุ เพื่อตรวจสอบเสากับคานยังรับน้ำหนักได้ตามมาตรฐานที่ออกแบบหรือไม่ โดยมีเครื่องมือในการตรวจจับการรับน้ำหนักรถบรรทุกยังเป็นไปตามมาตรฐานหรือไม่ คาดว่าจะทราบผลภายในเดือน ก.ย.65 ขณะเดียวกัน ทล. อยู่ระหว่างการออกแบบการปรับปรุงแก้ไขจุดดังกล่าว เพื่อติดตั้งคานสำเร็จรูป และพื้นสะพานสำเร็จรูป จากเดิมจะใช้วิธีการหล่อในพื้นที่ เพื่อเกิดการทำงานที่รวดเร็วขึ้น เมื่อแบบได้ข้อสรุปแล้วจะเริ่มดำเนินการทันที โดยใช้เวลา 2-3 เดือนแล้วเสร็จและเปิดใช้งานเดือน ธ.ค.65”

 

“คมนาคม” กางแผนปรับปรุงคานสะพานกลับรถถล่ม “ถนนพระราม 2” ถึงไหนแล้ว

สำหรับแผนดำเนินการระหว่างก่อสร้างเน้นทำงานกลางคืน เวลา 22.00-05.00 น. โดยช่วงทำงานจะปิดการจราจรช่องทางหลักขาเข้า กทม. จำนวน 3 ช่อง แล้วให้ผู้ใช้ทางวิ่งช่องทางคู่ขนานแทน ส่วนช่วงกลางวันไม่มีการทำงาน จะเปิดช่องทางหลัก 3 ช่องให้ใช้งานปกติ ... นอกจากนี้เมื่อเปิดใช้งานสะพานกลับรถดังกล่าวแล้ว เพื่อเพิ่มความปลอดภัยมากขึ้น วสท. เสนอให้ติดตั้งเครื่องมือตรวจสอบพฤติกรรมการของตัวคานกับสะพานที่มีการติดตั้งใหม่ว่า พฤติกรรมรับน้ำหนักรถบรรทุกยังคงเป็นไปตามมาตรฐานทางหลักวิศวกรรมหรือไม่ ใช้เวลาดำเนินการติดตั้ง 6 เดือนหลังเปิดใช้งานสะพานกลับรถ จากนั้นจะตรวจสอบข้อมูลในทุกเดือน หากรับน้ำหนักรถบรรทุกไม่ลดลงแสดงว่า สะพานนี้คงมีความมั่นคงแข็งแรงตามหลักวิศวกรรมอยู่ ขณะเดียวกันหากทดสอบประมาณ 1-2 เดือนแล้วพบว่า การรับแรงน้ำหนักรถบรรทุกลดลงจะต้องหยุดใช้งานทันที เพื่อเข้าตรวจสอบและหาแนวทางปรับปรังแก้ไขต่อไป

 

 

 

 ส่วนกรณีที่ประชาชนผู้ใช้ทางต้องทนปัญหาไม่มีการจุดกลับรถตัวนี้ใช้ระหว่างปรับปรุงให้แล้วเสร็จนั้น มอบหมายให้ ทล. ไปศึกษาพิจารณาความเป็นไปได้เปิดจุดกลับรถแล้วไม่มีความเสี่ยงและปลอดภัย ซึ่งปัจจุบันแม้จุดกลับรถจะมีระยะทางไกลส่งผลกระทบต่อผู้ใช้ทางไม่ได้รับความสะดวก แต่ก็ปลอดภัย เพราะกลับรถใต้สะพาน โอกาสเกิดอุบัติเหตุต่ำมาก หรือแทบจะเป็นศูนย์ ขณะที่เปิดจุดกลับรถพื้นราบกลางถนนนั้น โอกาสเกิดอุบัติเหตุสูงมาก ทำให้มีความเสี่ยงเกิดขึ้น ดังนั้นขอให้ประชาชนอดทนอีกนิด แล้วจะเร่งดำเนินการให้เสร็จโดยเร็ว

นายพิศักดิ์ กล่าวต่อว่า 2.กรณีน้ำขังผ้าใบตกใส่รถยนต์ บริเวณโครงการก่อสร้างทางยกระดับบนถนนพระราม 2 สายธนบุรี-ปากท่อ ตอนทางแยกต่างระดับบางขุนเทียน-เอกชัย ตอน 1 เมื่อวันที่ 11 ส.ค.65 โดย ทล. ต้องดำเนินการเพิ่มเติมความปลอดภัย โดยต้องกำหนดเงื่อนไขผ้าในการรองรับสิ่งเหล่านี้ ต้องเป็นผ้าใบตาข่ายที่เทน้ำได้และรับน้ำหนักของชิ้นส่วนที่ตกมาได้ด้วย อนาคตต้องกำหนดลงในมาตรฐานการก่อสร้าง หรือกำหนดลงในเงื่อนไขว่า ผู้รับจ้างต้องมาขออนุญาตกับวิศวกรที่ควบคุมงานนั้นๆ ก่อน จะใช้ตาข่ายแบบไหน เพื่อให้ตรวจสอบความปลอดภัยในการใช้งาน ในการก่อสร้าง ทั้งผู้ใช้ทาง และคนงานก่อสร้างด้วย โดยต้องปรับปรุงทบทวนมาตรฐานอีกครั้ง 

 

 

3.กรณีชิ้นส่วนเหล็กแบบหล่อสะพานไหลลอดช่องว่างของแผงกั้นเขตก่อสร้างโดนรถยนต์ได้รับความเสียหาย บริเวณพื้นที่โครงการก่อสร้างทางยกระดับบนถนนพระราม 2 สายธนบุรี-ปากท่อ ตอนทางแยกต่างระดับบางขุนเทียน-เอกชัย ตอน 1 เมื่อวันที่ 16 ส.ค.65 พบว่า ลักษณะอุบัติเหตุเกิดจากกระบวนการขนเหล็ก ดังนั้น ทล. ต้องกำชับมากขึ้น ในการขนวัสดุออกนอกไซต์งานจะต้องคลุมผ้าใบปิดมิดชิด มีสายยางรัดให้แน่น เพื่อไม่ให้ชิ้นส่วนวัสดุระหว่างทำการบรรทุกเข้า-ออกไซต์งานไม่ให้ตกหล่นบนถนนหรือพื้นที่ที่บรรทุกไป 

“คมนาคม” กางแผนปรับปรุงคานสะพานกลับรถถล่ม “ถนนพระราม 2” ถึงไหนแล้ว

 

นายอภิชาติ จันทรทรัพย์ รองอธิบดี ทล. กล่าวถึงผลการสอบสวนข้อเท็จจริงกรณีเกิดอุบัติเหตุคานสะพานกลับรถร่วงหล่นบนถนนพระราม 2 ว่า ขณะนี้ผลสอบมีผลแล้ว โดยรายงานความคืบหน้าผลสอบดังกล่าวให้นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคมรับทราบไม่เกินวันที่ 25 ส.ค.นี้ ถึงเหตุที่เกิดขึ้นและแนวทางการดำเนินงานในระยะต่อไป เพื่อให้ รมว.คมนาคม มีข้อเสนอแนะเพิ่มเติมต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น หลังจากนั้น ทล.ไปดำเนินการแก้ไขและปรับปรุง
 

ส่วนบทลงโทษต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนั้นเป็นหน้าที่ ทล. ซึ่งมีการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบคู่ขนานกัน โดยนำผลการตรวจสอบไปร่วมด้วย ปัจจุบันขึ้นอยู่กับการตรวจสอบคณะกรรมการ ทล. ว่าตรวจสอบแล้วเป็นความบกพร่องของเจ้าหน้าที่และกระบวนการในการดำเนินการอย่างไร ซึ่งมีการระบุอยู่ในระเบียบว่า ในกรณีที่มีการเกิดอุบัติเหตุในบริเวณนั้นๆ ทางหน่วยงานที่เป็นเจ้าของโครงการฯ จะต้องมีการตั้งคณะกรรมการ เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริง หากพบผู้กระทำความผิดจะนำไปสู่กระบวนการลงโทษทางวินัยต่อไป ทั้งนี้ ทล. จะให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่ายและต้องปรับปรุงแก้ไขไม่ละเลยต่อหน้าที่ เพื่อให้เกิดความปลอดภัยในการทำงาน

“คมนาคม” กางแผนปรับปรุงคานสะพานกลับรถถล่ม “ถนนพระราม 2” ถึงไหนแล้ว

 

“กรณีเหตุการณ์ดังกล่าวที่เกิดขึ้นนั้น ล่าสุด ทล. ได้สั่งย้ายเจ้าหน้าที่คุมงานของโครงการฯ ออกไป 2 คน คือ 1.นายสมบัติ ประภพรัตนกุล ผู้อำนวยการศูนย์สร้างและบูรณะสะพานที่ 3 (ปทุมธานี) และ 2.นายสาระ กันยาหลง ผู้ควบคุมงานโครงการดังกล่าว ระหว่างที่อยู่ในการสอบข้อเท็จจริง เพื่อให้เกิดความเป็นกลางในการสอบ” 

 

“คมนาคม” กางแผนปรับปรุงคานสะพานกลับรถถล่ม “ถนนพระราม 2” ถึงไหนแล้ว

ทั้งนี้ด้านความคืบหน้าโครงการบนถนนพระราม 2 กลับมาทำงานได้ตามปกติหรือยัง หลังจากที่ได้หยุดให้ก่อสร้างชั่วคราวตั้งแต่วันที่ 8-14 ส.ค.65 หรือขยายเวลาได้หากดำเนินการปรับปรุงแก้ไขไม่แล้วเสร็จนั้น พบว่า ปัจจุบันโครงการที่มีการก่อสร้างบนถนนพระราม 2 ประกอบด้วย โครงการก่อสร้างทางหลวงพิเศษหมายเลข 82 หรือ M82 สายทางยกระดับ บางขุนเทียน-บ้านแพ้ว ระยะทาง 24.7 กิโลเมตร (กม.) และ ทางต่างระดับบ้านแพ้ว รวมทั้งหมด 14 สัญญา (ตอน) ได้กลับมาทำงานปกติแล้วจำนวน 13 โครงการ ซึ่งจะเหลือแค่ 1 โครงการ คือ โครงการก่อสร้างทางยกระดับบนถนนพระราม 2 สายธนบุรี-ปากท่อ ตอนทางแยกต่างระดับบางขุนเทียน-เอกชัย ตอน 1 เท่านั้นที่ยังอยู่ระหว่างการตรวจสอบมาตรฐานการทำงานและความปลอดภัยเพิ่มเติมให้เป็นไปตามมาตรฐานที่กำหนด คาดว่าโครงการดังกล่าวจะเริ่มกลับมาทำงานได้ภายนเดือน ส.ค.นี้