บทเรียนไฟไหม้สีลม "ชัชชาติ" จ่อถกปรับโซนนิ่งสถานบันเทิงทั่ว กทม.

15 ส.ค. 2565 | 18:00 น.
อัปเดตล่าสุด :16 ส.ค. 2565 | 00:56 น.

ผู้ว่าฯ กทม. ชี้ เหตุการณ์ไฟไม้สีลม-ผับชลบุรี เป็นบทเรียนสำคัญ เตรียมเอกซเรย์สถานบันเทิงทั่วกทม. ระบุ ต้องสังคายนาข้อบัญญัติสถานประกอบการใน กทม.ใหม่

15 สิงหาคม 2565 ที่อาคารธานีนพรัตน์ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร ดินแดง นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวถึงประเด็นที่ กทม.มีการตรวจสถานบริการและสถานบันเทิงในพื้นที่ซึ่งเรื่องนี้ได้มอบหมายให้ นางสาวทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าฯ กทม. และ พล.ต.อ.อดิศร์ งามจิตสุขศรี ที่ปรึกษาผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นผู้ดำเนินการ ว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับสถานบันเทิงที่อำเภอสัตหีบ จ.ชลบุรี ถือเป็นเรื่องที่รุนแรงมากส่งผลต่อความมั่นใจนักท่องเที่ยวของประชาชนทั้งประเทศ

 

นายชัชชาติ กล่าวว่า เรื่องดังกล่าว กทม.ไม่ได้ละเลยและดำเนินการมาตั้งแต่วันที่ 20 มิ.ย. เป็นช่วงที่ทีมเข้ามารับตำแหน่งและเริ่มงานสองสัปดาห์แรก และเกิดเหตุไฟไหม้ที่ย่านสีลม จุดนั้นถือว่า เป็นจุดเริ่มต้นของคำสั่งที่ให้เอกซเรย์ทั้งกรุงเทพมหานคร

 

ส่วนเรื่องการจัดระเบียบโซนนิ่งของสถานบันเทิง ขณะนี้ยังไม่มีการพูดคุยกับทางตำรวจอย่างเป็นรูปธรรม คาดว่า จะต้องมีการนัดหารือว่า ควรจะปรับเปลี่ยนโซนนิ่งอย่างไร และทาง กทม.เองมีแผนที่จะร่วมมือกับทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติ อีกหลายเรื่องนอกจากการจัดพื้นที่ยังมีในส่วนของการนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อความปลอดภัย ซึ่ง กทม.เองอาจจะช่วยลงทุนในระบบกล้องวงจรปิดที่มีระบบ AI สามารถตรวจจับหน้าบุคคลได้

ในส่วนประเด็นของกฎหมาย ข้อบังคับที่มี ได้ประกาศใช้มาเป็นระยะเวลานานแล้ว ชัชชาติ กล่าวว่า มีความตั้งใจว่า จะต้องมีการสังคายนาใหม่แต่เรื่องข้อบัญญัติต่างๆ จะต้องผ่านการประชุมของสภากรุงเทพมหานครก่อนเพราะฉะนั้นสิ่งที่ทำได้ตอนนี้คือการนำสิ่งที่มีอยู่มาปฏิบัติเลย และอนาคตอาจจะมีการพิจารณาว่าส่วนไหนที่ไม่ทันสมัย รวบทำเป็นฉบับเดียวให้เข้าใจง่ายกว่า

 

ด้าน พล.ต.อ.อดิศร์ กล่าวว่า ในส่วนนี้ข้อมูลถือว่า เป็นเรื่องสำคัญ บริบทของแต่ละสถานที่เปลี่ยนไปตามเวลาหากจะมีการปรับเปลี่ยนระเบียบที่มีการกำหนดไว้มากว่า 20 ปีแล้วส่วนของข้อมูลพื้นฐานข้อมูลยืนยันจะต้องครบถ้วน

 

อำนาจหน้าที่ของ กทม.มี 2 อย่าง คือ การอนุญาตการใช้อาคาร โครงสร้าง พอจะเริ่มเปิดให้บริการก็จะให้ใบอนุญาตในส่วนของการประกอบการร้านอาหารและการใช้เสียงแต่ต้องยอมรับว่า เวลาเปิด-ปิด ก็เป็นตัวแปรสำคัญที่ กทม.ไม่ได้เข้าไปก้าวก่าย เป็นหน้าที่ของตำรวจแต่เรื่องนี้เป็นการทำงานก็ต้องควบคู่กันต้องประสานงานกันด้วยความเข้าใจเรื่องของกฎหมาย

จากการลงพื้นที่เชิงรุกจะเห็นได้ว่าผู้ประกอบการมากกว่าร้อยละ 90 มีความตื่นตัวที่จะปรับปรุงตามคำแนะนำ เพื่อสร้างความมั่นใจในความปลอดภัยในสถานประกอบการ หลายที่มีการทุบผนังออกเพื่อที่จะทำประตูทางออกเพิ่มมากขึ้น และอย่างย่านสีลมซอยสองที่เกิดเหตุก็มีการแก้ไขเชิงกายภาพทั้งหมด ส่วนการรื้อสายไฟสายสื่อสารรอบบริเวณ ยังอยู่ในขั้นตอนการรอดำเนินการจากการไฟฟ้านครหลวง