อาเซียน-ญี่ปุ่น ฉลองสัมพันธ์ 50 ปีในปีหน้า ถกแผนร่วมเศรษฐกิจครั้งใหม่

13 ส.ค. 2565 | 13:22 น.
อัปเดตล่าสุด :13 ส.ค. 2565 | 20:25 น.

อาเซียน-ญี่ปุ่น ฉลองสัมพันธ์ 50 ปีในปีหน้า ถกแผนร่วมเศรษฐกิจครั้งใหม่ คาดเพิ่มความร่วมมือนวัตกรรม และเชื่อมต่อห่วงโซ่อุปทานในยุคดิจิทัล หร้อมเดินหน้าหารือเกาหลีใต้ อัพเกรด AKFTA เพิ่มความร่วมมือการค้าดิจิทัล

นางสาวโชติมา เอี่ยมสวัสดิกุล รองอธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า ได้เข้าร่วมการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสด้านเศรษฐกิจอาเซียน–ญี่ปุ่น ครั้งที่ 2/27 โดยที่ประชุมเห็นชอบหลักการที่จะหารือแผนงานกระชับความสัมพันธ์ระหว่างอาเซียน-ญี่ปุ่น ในโอกาสครบรอบความสัมพันธ์อาเซียน-ญี่ปุ่น 50 ปี ในปี 2566 โดยเฉพาะการร่วมกันเตรียมจัดทำข้อริเริ่ม

นางสาวโชติมา เอี่ยมสวัสดิกุล รองอธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ

“การออกแบบอนาคตและแผนปฏิบัติการของความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจอาเซียน-ญี่ปุ่นครั้งใหม่ (Work Plan toward Creating “Future Design and Action Plan of a New ASEAN-Japan Economic Relationship”) และการจัดทำวิสัยทัศน์ “การร่วมสร้างสรรค์” (Co-create Vision) ด้านเศรษฐกิจอาเซียน–ญี่ปุ่น

 

 

 สำหรับข้อริเริ่มดังกล่าว จะจัดทำโดยรัฐบาลของอาเซียน-ญี่ปุ่น คาดว่าจะประกอบด้วย 3 เสาหลัก ได้แก่ การร่วมสร้างสรรค์นวัตกรรมเพื่อสังคมที่ยั่งยืนอาเซียน-ญี่ปุ่น การเป็นศูนย์กลางการเชื่อมต่อห่วงโซ่อุปทานระดับโลกในยุคดิจิทัลอาเซียน–ญี่ปุ่น และการพัฒนาและแลกเปลี่ยนทรัพยากรมนุษย์อาเซียน–ญี่ปุ่น นอกจากนี้ การจัดทำวิสัยทัศน์ การร่วมสร้างสรรค์ (Co-create Vision)

ด้านเศรษฐกิจอาเซียน–ญี่ปุ่น คณะกรรมการความร่วมมือทางเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมอาเซียนและญี่ปุ่น (AEM-METI Economic and Industrial Cooperation Committee: AMEICC) ได้เปิดให้ภาคเอกชนและสถาบันการศึกษาจากประเทศอาเซียนและญี่ปุ่น ร่วมกันระดมความเห็นหรือการวิจัย เพื่อนำมาประกอบการจัดทำวิสัยทัศน์ดังกล่าว โดยสาขาที่คาดว่าจะเสนอวิสัยทัศน์ อาทิ ห่วงโซ่อุปทาน ดิจิทัล นวัตกรรม การแก้ปัญหาความท้าทายของสังคม การเชื่อมต่อ สตาร์ทอัพ และสิ่งแวดล้อม

สำหรับที่ประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสด้านเศรษฐกิจอาเซียน-เกาหลีใต้ ครั้งที่ 37 ได้หารือประเด็นสำคัญ อาทิ ความคืบหน้าการศึกษาร่วมเพื่อยกระดับความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-เกาหลีใต้ การศึกษาวิจัยเกี่ยวกับการค้าดิจิทัล และความร่วมมือทางเศรษฐกิจด้านอื่นๆ เพื่อเสนอผลต่อที่ประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน-เกาหลีใต้ ครั้งที่ 19 ซึ่งจะจัดขึ้นในเดือนกันยายนนี้

 ทั้งนี้ อาเซียนและเกาหลีใต้อยู่ระหว่างการศึกษาร่วมเพื่อยกระดับความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-เกาหลีใต้ (ASEAN-Korea Free Trade Agreement: AKFTA) โดยตั้งเป้าหมายการรับรองรายงานการศึกษาฉบับสมบูรณ์ ในช่วงการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสอาเซียน-เกาหลีใต้ ในช่วงไตรมาสที่ 2 ของปี 2566 เพื่อนำรายงานการศึกษาร่วมฯ มาใช้เป็นแนวทางในการเจรจายกระดับความตกลง AKFTA ได้อย่างครอบคลุมและรอบด้าน นอกจากนี้ เกาหลีใต้อยู่ระหว่างศึกษาวิจัยและผลักดันให้พัฒนาข้อบทด้านการค้าดิจิทัลกับอาเซียนในอนาคต โดยคณะทำงานดำเนินงานความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-เกาหลีใต้ จะติดตามผลการศึกษาอย่างใกล้ชิดต่อไป

นอกจากนี้ อาเซียนและเกาหลีใต้ยังเห็นพ้องในการจัดตั้งคณะทำงานด้านอุปสรรคทางเทคนิคต่อการค้า (Technical Barriers to Trade: TBT) และคณะทำงานด้านสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช (Sanitary and Phytosanitary Measures: SPS) แยกเฉพาะด้าน เพื่อแก้ไขปัญหาอุปสรรคทางการค้าสำหรับสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมระหว่างกันให้มีประสิทธิภาพ ส่วนเกาหลีใต้ แสดงความพร้อมต่อยอดความร่วมมือทางเศรษฐกิจกับอาเซียน อาทิ การจัดทำแผนงานนโยบายสตาร์ทอัพระหว่างอาเซียนกับเกาหลีใต้ การพัฒนาเครือข่ายความร่วมมือด้านมาตรฐานอุตสาหกรรม โครงการ TASK ที่ให้คำแนะนำและแก้ไขปัญหาให้แก่ผู้ประกอบอาเซียนในอุตสาหกรรมสาขาต่างๆ ซึ่งถือเป็นโอกาสดีที่ประเทศสมาชิกอาเซียนและไทย จะได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้จากเกาหลีใต้ ซึ่งมีความโดดด้านการพัฒนานวัตกรรมของอุตสาหกรรมและสตาร์ทอัพ