จับตา วันที่ 11 ส.ค.นี้ “ประกันรายได้ข้าว” ปี 4 มาแน่

09 ส.ค. 2565 | 18:25 น.
อัปเดตล่าสุด :10 ส.ค. 2565 | 01:27 น.
10.9 k

อัพเดท “ประกันรายได้ข้าว” ปี 4 กรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ แจ้งข่าวดี “จุรินทร์” เตรียมเดินหน้า ชงนโยบายประกันรายได้เกษตรกร ประกันรายได้ข้าว วันที่ 11 ส.ค.นี้ เพื่อเตรียมส่งต่อ “นบข.” รับลูก ชง ครม. ต่อไป ส่วน “เงินช่วยเหลือชาวนา” ไร่ละ 1,000 บาท ลุ้นระทึก ยังอยู่หรือไม่

แหล่งข่าวกระทรวงพาณิชย์ เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า กรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ ในฐานะเลขานุการฯ จะจัดการประชุมคณะอนุกรรมการนโยบายและบริหารข้าวแห่งชาติด้านการตลาด ครั้งที่ 1/2565 ในวันที่ 11 สิงหาคม 2565 ณ อาคารรัฐสภาแห่งใหม่ (เกียกกาย) โดยมี นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เป็นประธานในที่ประชุม

 

โดยมีเรื่องเพื่อพิจารณา ที่ชาวนา 4.6 ล้านครัวเรือน ให้ความสนใจ ก็คือ โครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 2565/66 รอบที่ 1 และมาตรการคู่ขนานโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวปี 2565/66 รอบที่ 1 รวม ถึงสถานการณ์ข้าวโลกข้าวไทย  ส่วนในเรื่องเงินช่วยเหลือชาวนา ไร่ละ 1,000 บาท ชาวนารับสูงสุดไม่เกิน 20 ไร่  ไม่เกิน 2 หมื่นบาทนั้นจะต้องจับตาผลการประชุมเป็นเช่นไร

 

 

สำหรับแนวทางในการ “ประกันรายได้เกษตรกร 5 พืช สินค้าเกษตร” นั้น นายจุรินทร์ เคยให้สัมภาษณ์ว่า ยืนยันโครงการประกันรายได้เกษตรกร  ไม่ใช่ “ประกันราคา” ที่เป็นเช่นนั้นราคาประกันไม่ได้ ราคาขึ้นอยู่กับกลไกลการตลาด คือจุดตัดความสมดุล ความต้องการและผลผลิตของตลาด หากเมื่อไรตลาดรวมกันทั้งโลกมีความต้องการมาก ผลผลิตน้อย ความต้องการก็สูง เมื่อไรความต้องการน้อย ผลผลิตล้นตลาด ราคาก็ตก จุดตัดตรงนี้ไม่มีใครไปสั่งได้ เพราะฉะนั้นราคาจึงประกันไม่ได้ แต่วันนี้ก็คือ การประกันรายได้เกษตรกร "ราคาประกัน" ไม่ได้ แต่ "ประกันรายได้"  ทำได้

 

 

พลิกแฟ้ม "ประกันรายได้ข้าว" จุดเริ่มต้นจากนโยบาย “ประกันรายได้เกษตรกร” ที่เกิดขึ้นจากพรรคประชาธิปัตย์ และเป็นนโยบายสำคัญของ และถือว่าเป็นเงื่อนไขหนึ่งใน 3 ข้อ ก่อนการตัดสินใจร่วมรัฐบาลในชุดนี้  ใน 3 ข้อที่ว่า คือ 1. ต้องรับนโยบายประกันรายได้ของพรรคประชาธิปัตย์ 2.จะต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญไปสู่ความเป็นประชาธิปไตยยิ่งขึ้น และ 3 ต้องบริหารราชการแผ่นดินด้วยความซื่อสัตย์สุจริต

 

ซึ่งถ้าไม่รับ 3 ข้อนี้ ประชาธิปัตย์ก็จะไม่พิจารณาที่จะตัดสินใจว่าไม่ร่วม รัฐบาล แต่สุดท้ายได้รับความกรุณาจากท่านนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ร่วมถึงพรรคแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาลก็ยอมรับเงื่อนไขทั้ง 3 ข้อนี้ของพรรคประชาธิปัตย์ จึงทำให้นโยบายประกันรายได้เกษตรกร จึงเกิดขึ้นเป็นนโยบายของรัฐบาล และได้แถลงผูกพันต่อรัฐสภาไปเรียบร้อยแล้ว จึงส่งผลทำให้ประกันรายได้เกษตรกร เดินหน้ามาก้าวขึ้นสู่ เป็นปีที่ 4 ในการดำเนินโครงการ โดยพืชสินค้าที่จะประกาศเป็นอันดับแรก “ประกันรายได้ข้าว”

 

 

จับตา วันที่ 11 ส.ค.นี้  “ประกันรายได้ข้าว” ปี 4 มาแน่

 

สำหรับราคาและปริมาณ ประกันรายได้ข้าว  กำหนดราคาความชื้นไม่เกิน 15% ไม่เกินครัวเรือนละ 40 ไร่ ยกเว้นข้าวเจ้า ไม่เกิน 50 ไร่ โดยชดเชยเป็นจำนวนตันในแต่ละชนิดข้าว จะเพิ่มราคาหรือไม่ ต้องติดตาม  ทั้งนี้ของเดิม ดังนี้

 

1.ข้าวเปลือกหอมมะลิ ราคาประกันรายได้ 15,000 บาท/ตัน ครัวเรือนละไม่เกิน 14 ตัน

 

 2.ข้าวเปลือกหอมมะลินอกพื้นที่ ราคาประกันรายได้ 14,000 บาท/ตัน ครัวเรือนละไม่เกิน 16 ตัน

 

 3.ข้าวเปลือกเจ้า ราคาประกันรายได้ 10,000 บาท/ตัน ครัวเรือนละไม่เกิน 30 ตัน

 

4.ข้าวเปลือกหอมปทุมธานี ราคาประกันรายได้ 11,000 บาท/ตัน ครัวเรือนละไม่เกิน 25 ตัน

 

 5.ข้าวเปลือกเหนียว ราคาประกันรายได้ 12,000 บาท/ตัน ครัวเรือนละไม่เกิน 16 ตัน

 

 

ส่วน "พันธุ์ข้าว 18 สายพันธุ์" ข้าวอายุสั้นต่ำกว่า 110 วัน ที่ไม่สามารถเข้าร่วมโครงการประกันรายได้ข้าว ได้แก่

 

1.พันธุ์ 75 หรือบีพี 75

 

 2.พันธุ์ซี-75

 

3.พันธุ์ราชินี

 

4. พันธุ์พวงทอง

 

5.พันธุ์พวงเงิน

 

6.พันธุ์พวงเงินพวงทอง

 

7. พันธุ์พวงแก้ว

 

8. พันธุ์ขาวปทุม

 

9.พันธุ์สามพราน 1

 

10. พันธุ์ 039 หรือเจ้าพระยาฃ

 

11. พันธุ์โพธิ์ทอง

 

12. พันธุ์ขาวคลองหลวง

 

13. พันธุ์มาเลเซีย

 

14.พันธุ์เตี้ยมาเล

 

15.พันธุ์ขาวเมเล,

 

16.พันธุ์มาเลแดง

 

17.พันธุ์เบตง

 

18. พันธุ์อีแล็ป หรืออีเล็ป

 

 

วิธีเช็คการขึ้นทะเบียนเกษตรกรผู้ปลูกข้าว หรือชาวนา

 

เข้าไปที่เว็บไซต์ www.farmer.doae.go.th

 

  • กรอกเลขบัตรประจำตัวประชาชน 13 หลัก
  • กดค้นหา
  • ระบบจะแจ้งว่าท่านได้ขึ้นทะเบียนกับกรมส่งเสริมการเกษตรเรียบร้อยแล้วหรือไม่

 

หรือ คลิก “ขึ้นทะเบียนเกษตรกร” 2565 รายใหม่ ผ่านระบบออนไลน์ e-Form