นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ปัจจุบันอาหารส่วนเกินจากภาคธุรกิจในประเทศไทย มีปริมาณสูงถึง 17 ล้านตัน/ปี หรือคิดเป็น 64% ของขยะในประเทศไทยที่มีปริมาณเพิ่มมากขึ้นทุกวัน ก่อให้เกิดมลพิษและก๊าซเรือนกระจกที่ส่งผลให้เกิดภาวะโลกร้อนที่นับวันจะยิ่งรุนแรงมากขึ้น
คณะกรรมการธุรกิจอาหารแปรรูปและอาหารแห่งอนาคต ได้ขับเคลื่อนแนวคิด BCG Model จึงให้ความสำคัญกับแนวทางแก้ไขปัญหาในการบริหารจัดการขยะอาหาร คือ การควบคุมการผลิตและการกำจัดขยะอาหาร และการสร้างแรงจูงใจให้ธุรกิจเอกชนได้บริหารจัดการขยะอาหารของตนให้ดีขึ้น
ด้วยการสร้างแนวทางใหม่ผ่านการบริจาคอาหารส่วนเกินที่มีความปลอดภัยในการบริโภคเพื่อส่งต่อให้กับผู้ขาดแคลนอาหารในประเทศไทย ซึ่งส่วนใหญ่ยังเป็นผู้เปราะบางในสังคมที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ไปพร้อมกับการเผยแพร่องค์ความรู้ด้านการจัดการอาหารอย่างยั่งยืนให้กับผู้ประกอบการอาหารในภูมิภาคต่างๆ เพื่อส่งเสริมการมีส่วนร่วมในการป้องกันการเกิดขยะอาหารตลอดห่วงโซ่อุปทาน
หอการค้าไทยจึงได้ร่วมกับกับมูลนิธิสโกลารส์ ออฟ ซัสทีแนนซ์ ได้ลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ เรื่อง “การสร้างความร่วมมือในการส่งมอบอาหารส่วนเกินที่มีความปลอดภัยจากผู้ประกอบการอาหารสู่ผู้ขาดแคลนอาหารเพื่อส่งเสริมกระบวนการทำงานร่วมกันระหว่างผู้ประกอบการสมาชิกสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย มูลนิธิสโกลารส์ ออฟ ซัสทีแนนซ์ และเครือข่ายพันธมิตร ในการบริหารจัดการอาหารส่วนเกินจากภาคธุรกิจอาหารไม่ให้กลายเป็นขยะอาหาร ซึ่ง
นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานกรรมการหอการค้าไทย และประธานคณะกรรมการธุรกิจอาหารแปรรูปและอาหารแห่งอนาคต ได้นำเสนอ แนวทางการบริหารจัดการอาหารส่วนเกินที่มีความปลอดภัยสู่ผู้ขาดแคลนอาหาร ร่วมกับคุณธนาภรณ์ อ้อยอิสรานุกุล ผู้จัดการฝ่ายปฏิบัติการ มูลนิธิสโกลารส์ ออฟ ซัสทีแนนซ์
โดยเน้นย้ำความสำคัญของการมีระบบจัดการอาหารที่ดี ผ่านการสร้างความเข้าใจ และเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมในการบริโภคอาหาร และการเก็บอาหาร การนำอาหารมาใช้อย่างคุ้มค่า และเมื่ออาหารเหลือเป็นขยะต้องมีกระบวนการจัดการที่ดี มองหาเทคโนโลยีที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม สร้างจิตสำนึกให้ทุกคนร่วมมือกันเปลี่ยนพฤติกรรมตั้งแต่เด็กไปจนถึงผู้ใหญ่ได้มีส่วนร่วมกันรับผิดชอบในเรื่องนี้