CBAM สิ่งที่ผู้ส่งออกไทยควรรู้ กับแผนปฏิรูปสีเขียวของยุโรป

05 ส.ค. 2565 | 14:40 น.
อัปเดตล่าสุด :05 ส.ค. 2565 | 22:07 น.

สหภาพยุโรป (EU) เป็นหนึ่งในภูมิภาคที่ให้ความสำคัญกับการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างจริงจัง ซึ่งในปี 2562 คณะกรรมาธิการยุโรป ได้ออกแผนการปฏิรูปสีเขียว หรือ European Green Deal

 

CBAM สิ่งที่ผู้ส่งออกไทยควรรู้ กับแผนปฏิรูปสีเขียวของยุโรป

 

ทั้งนี้ตั้งเป้าหมายไว้ว่าจะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (GHG) ลง 50-55% ภายในปี 2573 และในปี 2593 ต้องปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emission) เพื่อทำให้อุณหภูมิของโลกไม่เพิ่มขึ้นเกิน 1.5-2.0 องศาเซลเซียส ภายในศตวรรษนี้  ซึ่งมาตรการปรับราคาคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดนของสหภาพยุโรป (Carbon Border Adjustment Mechanism: CBAM) ถือเป็น 1 ใน มาตรการสำคัญของ European Green Deal ที่สหภาพยุโรปจะนำมาปรับใช้ และจะส่งผลให้ต้นทุนของผู้ประกอบการใน EU สูงขึ้น

 

คณะกรรมาธิการยุโรปจึงได้เสนอให้จัดตั้ง CBAM เพื่อปรับราคาของสินค้านำเข้าให้สะท้อนถึงปริมาณการปล่อยคาร์บอนที่แท้จริงในกระบวนการผลิตสินค้านั้น เพื่อช่วยปกป้องสินค้าของ EU จากการแข่งขันทางการค้าที่ไม่เป็นธรรม

 

มาตรการ CBAM ซึ่งเป็นการกำหนดราคาสินค้านำเข้าบางประเภท เพื่อป้องกันการนำเข้าสินค้าที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงเข้ามาในกลุ่มประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป โดยจะกำหนดให้ผู้นำเข้าสินค้าจากนอก EU ต้องซื้อ “ใบรับรองพิเศษ” โดยมีราคาเชื่อมโยงกับราคาของ EU Emission Trading System (EU ETS) หรือตลาดการค้าคาร์บอนภายในของ EU โดยจะต้องรายงานข้อมูล พร้อมยื่นหลักฐานการจ่ายค่าธรรมเนียมคาร์บอนตามปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของสินค้าที่นำเข้า (CBAM Certificate) ก่อนที่จะนำสินค้าเข้ามาขายใน EU ซึ่งจะมีการบังคับใช้แบบเปลี่ยนผ่าน (transitional period) ตั้งแต่ปี 2566 กับอุตสาหกรรมที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบ คือ เหล็กและเหล็กกล้า ซีเมนต์ กระแสไฟฟ้า ปุ๋ย และอลูมิเนียม

 

CBAM สิ่งที่ผู้ส่งออกไทยควรรู้ กับแผนปฏิรูปสีเขียวของยุโรป

 

 

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2565 รัฐสภายุโรปได้อนุมัติร่างกฏหมายเพื่อปรับปรุงข้อเสนอของมาตรการ CBAM โดยมีรายละเอียดเพิ่มเติมประกอบด้วย การปรับเพิ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายที่จะนำมาพิจารณาค่าคาร์บอน ได้แก่ refinery products/ organic chemicals/ hydrogen/ ammonia และ plastic polymers พร้อมทั้งลดระยะเวลาการบังคับใช้แบบเปลี่ยนผ่าน (transitional period) จาก 3 ปี เหลือ 2 ปี และขยายขอบเขตการคิดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ให้รวมการปล่อยมลพิษทางอ้อม (Indirect emissions) ที่เกิดจากกระบวนการผลิตด้วย เช่น การปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการซื้อไฟฟ้ามาใช้ในกระบวนการผลิต ที่ยังคงต้องรอติดตามประกาศอย่างเป็นทางการต่อไป

 

สำหรับมาตรการ CBAM จะกระทบการส่งออกของไทย มากหรือน้อย เพียงใดนั้น เมื่อพิจารณามูลค่าการส่งออกสินค้าที่เข้าเกณฑ์ CBAM ของไทยไป EU ในปี 2564 พบว่ามีมูลค่าสูงถึง 952 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 28,573 ล้านบาท และถ้าหากมีการปรับใช้มาตรการ CBAM กับสินค้าที่เข้าเกณฑ์การพิจารณาค่าคาร์บอนในระยะแรก จะกระทบสินค้า ได้แก่ เหล็ก เหล็กกล้า และอะลูมิเนียม ซึ่งมีมูลค่าการส่งออกรวมในปี 2564 อยู่ที่ 196 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 5,883 ล้านบาท และหากในอนาคตมีการปรับเพิ่มประเภทสินค้าที่จะถูกนามาพิจารณาตามเกณฑ์ CBAM อีกตาม จะมีผลกระทบต่อการส่งออกของไทยเพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน

 

ขณะที่ไทยแม้จะยังไม่ได้อยู่ใน 20 อันดับแรกที่ส่งออกไป EU แต่ผู้ประกอบการไทยควรเตรียมรับมือกับมาตรการ CBAM ที่จะเริ่มมีการบังคับใช้จริงในวันที่ 1 มกราคม 2569 โดยระหว่างนี้ภาคเอกชนไทยควรให้ความสำคัญกับมาตรการควบคุม และลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงอย่างจริงจัง พร้อมทั้งเตรียมขึ้นทะเบียนกับคณะกรรมธิการยุโรปภายใต้ CBAM การซื้อขายคาร์บอน การรายงานและการตรวจสอบการปล่อยก๊าซเรือนกระจก การรายงานการจ่ายค่าคาร์บอนสินค้านำเข้าและส่งออก เพื่อรักษาความสามารถทางการแข่งขันของธุรกิจไทย รวมทั้งให้มีความสามารถด้านสิ่งแวดล้อมและการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมาตรฐานเดียวกับ EU เพื่อลดผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต

 

สำหรับข้อดีจากการปรับใช้มาตรการ CBAM จะช่วยทำให้ EU มีรายได้เพิ่มขึ้นจากการขายใบรับรองฯ เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 นำไปสู่การบรรลุเป้าหมายการลดการปล่อย GHG และช่วยปกป้อง สินค้าของ EU จากการแข่งขันทางการค้าที่ไม่เป็นธรรม

 

ส่วนผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อประเทศที่ 3 จะทำให้สินค้าที่มีมาตรฐานสิ่งแวดล้อมตํ่ากว่า EU จะถูกกีดกันทางอ้อมไม่ให้เข้าสู่ตลาด EU ทั้งยังต้องแบกรับภาระต้นทุนที่เพิ่มขึ้น ทั้งค่าใช้จ่ายในการปรับโครงสร้างการผลิต การเตรียมพร้อมบุคลากร และค่าตรวจประเมินและรักษาระบบ เพื่อให้เป็นไปตามมาตรการ CBAM

 

ดังนั้น การปรับตัวของผู้ประกอบการประเทศที่ 3 จึงเป็นแรงกดดันทางอ้อมให้ผู้ผลิตสินค้าในประเทศกำลังพัฒนา ต้องหันมาปรับเปลี่ยนรูปแบบการผลิตเพื่อลดการปล่อย GHG ให้ได้มากที่สุด เช่น หันมาลงทุนในพลังงานหมุนเวียน เพื่อที่จะสามารถแข่งขันและเข้าสู่ตลาด EU ได้มากขึ้น

 

เทรนด์โลกกำลังมุ่งไปสู่การแก้ปัญหาภาวะโลกร้อน ไม่ใช่เพียงแต่สหภาพยุโรปเท่านั้น แต่ประเทศอังกฤษและสหรัฐฯ ต่างก็มีนโยบาย และมาตรการต่าง ๆ เพื่อควบคุมการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเช่นกัน โดยสหรัฐฯ เริ่มมีการเสนอมาตรการลักษณะเดียวกันโดยเรียกว่าเป็น “ค่าธรรมเนียมการนำเข้าสำหรับผู้ก่อมลพิษ” (Polluter Import Fee) และในอนาคตก็จะมีมาตรการ อื่น ๆ ที่จะกดดันให้ผู้ประกอบการต้องหันมาปรับการผลิตให้ปล่อยก๊าซเรือนกระจกน้อยลง มาตรการ CBAM จึงเป็นเพียงจุดเริ่มต้นเท่านั้น