เริ่มแล้ว “กทพ.” ซาวด์เสียงประชาชน สร้างทางด่วนฉลองรัช-สระบุรี 8 หมื่นล้าน

22 ก.ค. 2565 | 18:07 น.
อัปเดตล่าสุด :23 ก.ค. 2565 | 01:14 น.
776

“กทพ.” เปิดรับฟังความเห็นประชาชน สร้างทางด่วนฉลองรัช-สระบุรี 8 หมื่นล้านบาท เล็งใช้งบกองทุน TFFIF ราว 1.4 หมื่นล้านบาท จ่อเปิดประมูลปี 66 คาดก่อสร้างปี 67

นายสุรเชษฐ์ เหล่าพูลสุข ผู้ว่าการการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) กล่าวว่า ความคืบหน้าโครงการทางพิเศษสายฉลองรัช-นครนายก-สระบุรี ช่วงจตุโชติ-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร รอบที่ 3 (MR 10) วงเงินลงทุน 80,000 ล้านบาท เบื้องต้น กทพ.มีแผนจะนำเงินจากกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออนาคตประเทศไทย (TFFIF) ราว 14,000 ล้านบาท มาลงทุนในโครงการนี้ และส่วนที่เหลืออีกราว 6,000 ล้านบาท จะมาจากงบประมาณของ กทพ. ทั้งนี้กทพ.จะดำเนินการลงทุนเป็นระยะ โดยนำร่องพัฒนาช่วงจตุโชติ - ถนนวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร รอบที่ 3 เป็นส่วนแรก ใช้เงินลงทุนราว 20,000 ล้านบาท ส่วนช่วงอื่นๆ จะพิจารณาการลงทุนในระยะต่อไป คาดว่าจะเสนอโครงการฯลงทุนต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.)ภายในปีนี้ หลังจากนั้นจะเริ่มดำเนินการประกวดราคาจัดหาผู้รับเหมาภายในปี 66 และเริ่มก่อสร้างภายในปี 67 คาดว่าจะเปิดให้บริการในปี 69 

เริ่มแล้ว “กทพ.” ซาวด์เสียงประชาชน สร้างทางด่วนฉลองรัช-สระบุรี 8 หมื่นล้าน


นายชาตรี ตันศิริ รองผู้ว่าการฝ่ายก่อสร้างและบำรุงรักษา การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) เปิดเผยว่า การรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ครั้งที่ 1 (การปฐมนิเทศโครงการ) โครงการทางพิเศษสายฉลองรัช-นครนายก-สระบุรี ช่วงจตุโชติ-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร รอบที่ 3 (MR 10) ในครั้งนี้กระทรวงคมนาคมได้มอบหมายให้การทางพิเศษแห่งประเทศไทย และกรมทางหลวง (ทล.) บูรณาการโครงการทางพิเศษสายฉลองรัช-นครนายก-สระบุรี และโครงการถนนวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร รอบที่ 3 (MR 10) เพื่อแก้ไขปัญหาการคมนาคมขนส่งอย่างเป็นระบบและมีประสิทธิภาพทั้งโครงข่ายทางหลวงและโครงข่ายทางพิเศษ 
 

นอกจากนี้ที่ผ่านมากทพ. จึงได้ว่าจ้างกลุ่มบริษัทที่ปรึกษา ประกอบด้วย บริษัท โชติจินดา คอนซัลแตนท์ จำกัด บริษัท อินเด็กซ์ อินเตอร์เนชั่นแนล กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) บริษัท ไวส โปรเจ็ค คอนซัลติ้ง จำกัด และบริษัท เอ็นไวร์ไซน์ จำกัด ให้ดำเนินงานศึกษาและจัดทำรายงานการขอเปลี่ยนแปลงรายละเอียดโครงการในรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม โครงการทางพิเศษสายฉลองรัช-นครนายก-สระบุรี ช่วงจตุโชติ-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร รอบที่ 3 (MR 10) มีระยะเวลาศึกษารวมทั้งสิ้น 12 เดือน โดยเริ่มการศึกษาตั้งแต่ปลายเดือนพฤษภาคม 2565 และจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนเป็นระยะ ๆ อย่างต่อเนื่อง ตลอดระยะเวลาที่ดำเนินการศึกษา เพื่อให้ประชาชนได้รับทราบข้อมูลข่าวสารของโครงการอย่างถูกต้อง ครบถ้วน และได้มีส่วนร่วมในการให้ข้อมูลข้อคิดเห็นข้อเสนอแนะ ซึ่งโครงการจะได้นำไปพิจารณาประกอบการศึกษาและพัฒนาโครงการให้มีความเหมาะสมและครบถ้วนสมบูรณ์ต่อไป

เริ่มแล้ว “กทพ.” ซาวด์เสียงประชาชน สร้างทางด่วนฉลองรัช-สระบุรี 8 หมื่นล้าน

สำหรับแผนพัฒนาในระยะต่อไป กทพ.จะทยอยลงทุนเมื่อมีการเปิดให้บริการระยะแรกแล้วและมีปริมาณการใช้บริการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยแบ่งเป็น ระยะที่ 2 มีแนวเส้นทางเริ่มจากบริเวณถนนวงแหวนรอบที่ 3-ทางหลวงชนบท นย.3001 ไปยังถนนรังสิต-นครนายก บริเวณด้านหลังศูนย์การแพทย์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ระยะทางประมาณ 20 กิโลเมตร

 

 

ทั้งนี้ระยะที่ 3 แนวเส้นทางจะเริ่มต้นจากถนนรังสิต-นครนายกขึ้นไปทางเหนือ ตัดผ่านทางหลวง 33 (ถนนสุวรรณศร) บริเวณ กม.116+000 ระยะทางประมาณ 20 กิโลเมตร และระยะที่ 4 เริ่มต้นจากถนนสุวรรณศร-ทางเลี่ยงเมืองสระบุรี สิ้นสุดโครงการที่ถนนมิตรภาพ บริเวณกม.10+700 อำเภอแก่งคอย สระบุรี ระยะทางประมาณ 40 กิโลเมตร รวมวงเงินลงทุนทั้ง 4 ระยะประมาณ 80,000 ล้านบาท แบ่งเป็น ค่าก่อสร้าง 73,000 ล้านบาท และค่าเวนคืนประมาณ 7,000 ล้านบาท