ค่าไฟขึ้นเป็น 5 บาทต่อหน่วยมีที่มาจากอะไร แพงเพราะสาเหตุใด อ่านเลยที่นี่

20 ก.ค. 2565 | 08:41 น.
อัปเดตล่าสุด :20 ก.ค. 2565 | 15:41 น.
6.1 k

ค่าไฟขึ้นเป็น 5 บาทต่อหน่วยมีที่มาจากอะไร แพงเพราะสาเหตุใด อ่านเลยที่นี่มีคำตอบ หลัง กกพ. เตรียมพิจารณาค่าเอฟทีงดเดือน ก.ย.-ธ.ค. 65

ค่าไฟขึ้นเป็น 5 บาทต่อหน่วยมีที่มาจากอะไร เพราะเหตุใดจึงต้องปรับขึ้น เป็นคำถามที่กำลังได้รับความสนใจ และต้องการคำตอบ เพราะเรื่องดังกล่าวมีผลกระทบต่อค่าครองชีพของประชาชนทั้งประเทศ

 

"ฐานเศรษฐกิจ" จะพาไปไขคำตอบเรื่องดังกล่าว เพื่อให้กระจ่างชัด ถึงสาเหตุที่ต้องจ่ายค่าไฟฟ้าแพงขึ้น

 

ก่อนอื่นเลยต้องทำความเข้าใจก่อนว่าองค์ประกอบของโครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้าที่สำนักงานกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ใช้คิดคำนวณตามสูตรเพื่อเรียกเก็บจากผู้ใช้ไฟฟ้า ประกอบไปด้วย ค่าไฟฟ้าฐาน + ค่า Ft + ภาษีมูลค่าเพิ่ม

 

สำหรับค่าไฟฟ้าฐาน เป็นค่าไฟฟ้าที่สะท้อนรายจ่ายของ 3 การไฟฟ้า ได้แก่ ทั้งการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ,การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ใน 3 ส่วนหลักๆ คือ ต้นทุนทางการเงินที่การไฟฟ้าใช้ในการก่อสร้างขยายระบบผลิต ระบบส่งและระบบจำหน่ายในอนาคต

 

ส่วนค่าเอฟที ย่อมาจาก Float time หรือค่าไฟฟ้าผันแปร มีความหมาย คือ การลอยค่าของต้นทุนการผลิตไฟฟ้าที่การไฟฟ้าไม่สามารถควบคุมได้ เช่น ราคาเชื้อเพลิง อัตราเงินเฟ้อ อัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ เป็นต้น ตามช่วงเวลาต่าง ๆ ที่ใช้เป็นกรอบในการคำนวณ

 

ค่า Ft ถือเป็นกลไกกำหนดอัตราค่าไฟฟ้าโดยอัตโนมัติ ที่ปรับทุก 4 เดือน เพื่อสะท้อนการเปลี่ยนแปลงของต้นทุนค่าเชื้อเพลิงที่เปลี่ยนแปลงไปตามปัจจัยต่างๆ 
 

สำหรับประโยชน์ของค่า Ft คือ หากในการคำนวณอัตราค่าไฟฟ้าได้คาดการณ์ราคาเชื้อเพลิงไว้สูง แต่ 4 เดือนต่อมาราคาค่าเชื้อเพลิงปรับตัวลดลง หากไม่มีค่า Ft มาสะท้อนต้นทุนที่ลดลงนั้น ประชาชนก็อาจเสียประโยชน์เพราะต้องจ่ายค่าไฟฟ้าแพง

 

แต่ในทางกลับกัน หากคาดการณ์ค่าเชื้อเพลิงไว้ต่ำเกินไป และต่อมาราคาค่าเชื้อเพลิงปรับขึ้น หากไม่มีค่า Ft มาช่วย ก็อาจกระทบต่อรายได้ของการไฟฟ้าและการลงทุนเพื่อพัฒนาการผลิตไฟฟ้าเพื่อรองรับความต้องการในอนาคตและความมั่นคงทางไฟฟ้าของประเทศ

 

ดังนั้น ค่า Ft จึงเป็นตัวสะท้อนต้นทุนค่าไฟฟ้าที่เหมาะสมต่อทั้งผู้ใช้ไฟฟ้าและผู้ผลิตไฟฟ้า ถือเป็นกลไกที่สร้างความเป็นธรรมให้ทั้ง 2 ฝ่าย 

 

ขณะที่ภาษีมูลค่าเพิ่ม คือส่วนที่ผู้ใช้ไฟฟ้าจะต้องมีการชำระภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT 7%) โดยเป็นการเรียกเก็บตามที่กฎหมายกำหนด

 

อย่างไรก็ดี ณ ปัจจุบันใกล้ที่จะถึงรอบที่สำนักงาน กกพ.พิจารณาค่าเอฟที งวดเดือน ก.ย.-ธ.ค. 65 ซึ่งเป็นงวดสุดท้ายของปีนี้ โดยมีแนวโน้มว่า กกพ. จะปรับขึ้นค่า Ft เป็น 5 บาทต่อหน่วย 

 

ค่าไฟ 5 บาทต่อหน่วยมีที่มาจากอะไร

 

เหตุผลที่ค่าไฟงวดเดือน ก.ย.-ธ.ค. จะปรับขึ้นเป็น 5 บาทต่อหน่วยนั้น มาจากก่อนหน้านี้  นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการ สำนักงาน กกพ. ในฐานะโฆษก กกพ.ได้ระบุว่า แนวโน้มการปรับค่าเอฟทีงวดสุดท้ายของปีนี้ มีโอกาสปรับสูงขึ้นจากประมาณการไว้เดิม ที่คาดว่าจะปรับขึ้นประมาณ 40 สตางค์ต่อหน่วย 

 

เนื่องจากสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) เข้ามาผลิตไฟฟ้าเพิ่มขึ้นประมาณกว่า 40% จากเดิมคาดว่าจะใช้ LNG ประมาณ 30% หลังต้นทุนราคาน้ำมันดีเซล ปรับสูงขึ้น

ขณะที่กำลังการผลิตก๊าซธรรมชาติจากอ่าวไทยลดลง ประกอบกับการรับก๊าซฯจากเมียนมามีแนวโน้มลดลง อีกทั้งอัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทอ่อนค่าลง ปัจจุบันเกิน 36 บาทต่อดอลลาร์ฯ จากเดิมประมาณการไว้อยู่ที่ 33 บาทต่อดอลลาร์
 


อย่างไรก็ตาม การปรับขึ้นค่าเอฟที งวดสุดท้ายของปีนี้จะเป็นเท่าไหร่นั้น ยังต้องรอประเมินสถานการณ์ค่าเชื้อเพลิงที่แท้จริงอีกครั้งใน แต่เบื้องต้นคาดว่า ค่าค่าเอฟทีงวดสุดท้าย จะปรับขึ้นไม่ถึง 5 บาทต่อหน่วย

 

และการปรับขึ้นในรอบนี้ ยังไม่รวมกับภาระที่ กฟผ. แบกรับไว้ ที่ปัจจุบันอยู่ที่กว่า 80,000 ล้านบาท ซึ่งหากรวมในส่วนนี้ จะส่งผลให้ต้นทุนค่าไฟฟ้าที่แท้จริงปรับขึ้นอีกกว่า 1 บาทต่อหน่วย
 

 

อย่างไรก็ดี ล่าสุดนายบุญญนิตย์ วงศ์รักมิตร ผู้ว่าการ กฟผ.ออกมายอมรับว่า กฟผ.ร่วมรับภาระค่าไฟฟ้ากับประชาชนตามแนวทางบริหารค่าไฟฟ้าตลอด 1 ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่งวดเดือนกันยายน 2564 จนถึงปัจจุบันรวมแล้วเกือบ 1 แสนล้านบาท 

 

แม้ กฟผ. จะพยายามแก้ปัญหาเบื้องต้นด้วยการกู้เงินเพื่อเสริมสภาพคล่องแล้วจำนวน 25,000 ล้านบาท แต่ยังไม่เพียงพอต่อการแบกรับภาระค่าเชื้อเพลิงที่เกินกำลัง เนื่องจากราคาเชื้อเพลิงในตลาดโลกยังมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง 

 

กฟผ. จึงมีความจำเป็นต้องแจ้งต่อ กกพ. ถึงต้นทุนเชื้อเพลิงที่เกิดขึ้นจริง วอนรัฐช่วยดูแลเพื่อไม่ให้กระทบต่อความความมั่นคงทางพลังงานในระยะยาว

 

นายบุญญนิตย์ วงศ์รักมิตร ผู้ว่าการ กฟผ.

 

อย่างไรก็ตาม นายคมกฤช ยังชี้แจงอีกว่า สถานการณ์ต้นทุนค่าไฟฟ้าของประเทศไทย ที่ปรับสูงขึ้นในปีนี้ เป็นผลมาจากโครงการสร้างการผลิตไฟฟ้าของไทย ที่ยังพึ่งพาการใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงหลักในการผลิตไฟฟ้า หรืออยู่ที่สัดส่วนประมาณกว่า 60% ของการผลิตไฟฟ้า โดยก๊าซฯ ส่วนใหญ่ได้มาจากอ่าวไทย 65% อีก 12 % มาจากแหล่งก๊าซฯในเมียนมา และอีก 10 % มาจากการนำเข้า LNG 

 

โดยจากข้อมูลการผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย เมื่อปี 2563 พบว่า การผลิตไฟฟ้ากว่า 56% มากจากเชื้อเพลิงก๊าซฯ และอีกเหลือประมาณ 40% มาจากเชื้อเพลิงอื่นๆ ขณะที่อัตราค่าไฟฟ้า อยู่ที่ประมาณ 2.61 บาทต่อหน่วย ซึ่งยังไม่รวมค่าสายส่งและจัดจำหน่าย และเป็นอัตราค่าไฟฟ้าในช่วงสถานการณ์ปกติ 

 

แต่เมื่อปี 2564 จะพบว่า สัดส่วนการใช้ก๊าซฯ เพื่อการผลิตไฟฟ้าของประเทศเริ่มเปลี่ยนไปอย่างมีนัยยะสำคัญ หลังเกิดสถานการณ์การผลิตก๊าซฯจากอ่าวลดลง ทำให้ต้องนำเข้า LNG เพิ่มขึ้นถึง 20% จากเดิมเคยนำเข้าราว 18% โดยเป็นการนำเข้าในรูปแบบของสัญญาระยะสั้น (Spot LNG ) มากขึ้น

 

ประกอบกับเป็นช่วงที่สถานการณ์ราคา LNG ตลาดโลกปรับสูงขึ้น หลังความต้องการใช้ก๊าซฯทั่วโลกเพิ่มขึ้น ตามทิศทางเศรษฐกิจโลกที่เริ่มฟื้นตัวจากสถานการณ์โควิด-19 ที่เริ่มคลี่คลายลง ประกอบกับเกิดปัญหาความขัดแย้งระหว่างรัสเซียกับยูเครน ส่งให้ให้ราคาพลังงานโลกผันผวนและปรับสูงขึ้น นับเป็นส่วนสำคัญที่กระทบต่อต้นทุนค่าไฟฟ้าต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน