นายกฯ เซ็นคำสั่งตั้ง 2 ทีม กู้วิกฤตเศรษฐกิจ-น้ำมันแพง

19 ก.ค. 2565 | 18:09 น.
อัปเดตล่าสุด :20 ก.ค. 2565 | 03:19 น.
825

นายกฯ เซ็นตั้ง 2 ทีมกู้วิกฤตเศรษฐกิจ-น้ำมันแพง ทั้งคณะกรรมการเฉพาะกิจเพื่อบริหารสถานการณ์วิกฤตเศรษฐกิจ นายกฯ และรองนายกฯ รวมทั้งปลัดกระทรวง เทียบครม.เศรษฐกิจ อีกชุดเป็นคณะอนุกรรมการติดตามและวิเคราะห์สถานการณ์วิกฤตเศรษฐกิจ ปลัดคลังเป็นประธาน

วันนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้ลงนามในคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี แต่งตั้งคณะกรรมการเฉพาะกิจเพื่อบริหารสถานการณ์วิกฤตเศรษฐกิจ และแต่งตั้งคณะอนุกรรมการติดตามและวิเคราะห์สถานการณ์วิกฤตเศรษฐกิจ เพื่อมาแก้วิกฤตเศรษฐกิจและราคาน้ำมันแพง

 

สำหรับการแต่งตั้งคณะกรรมการเฉพาะกิจเพื่อบริหารสถานการณ์วิกฤตเศรษฐกิจ มีรายละเอียด ดังนี้ 

 

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม

เหตุผลของการตั้งคณะกรรมการเฉพาะกิจฯ 

 

เนื่องจากเกิดสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างประเทศขึ้นในเชิงภูมิรัฐศาสตร์ทั้งในระดับภูมิภาคและระดับโลก ซึ่งส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อทั้งเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจของไทย ทำให้หลายประเทศ 

 

รวมทั้งไทยต้องประสบปัญหาที่กระทบต่อต้นทุนราคาพลังงานและวัตถุดิบ ส่งผลต่อการปรับตัวสูงขึ้นของราคาพลังงานเชื้อเพลิงและสินค้าอุปโภคบริโภค รวมทั้งการขาดแคลนวัตถุดิบที่สำคัญในห่วงโซ่การเกษตรอันส่งผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อการดำเนินชีวิตของประชาชน

 

ดังนั้นเพื่อให้การบริหารสถานการณ์และการดำเนินมาตรการที่เกี่ยวข้องเพื่อแก้ไขปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจดังกล่าว ระหว่างส่วนราชการและหน่วยงานของรัฐเป็นไปอย่างบูรณาการ ทันต่อสถานการณ์ และสามารถบรรเทาผลกระทบได้อย่างมีประสิทธิภาพ นายกฯ จึงมีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการเฉพาะกิจฯ ขึ้น 

องค์ประกอบ และหน้าที่และอำนาจคณะกรรมการเฉพาะกิจฯ มีดังนี้ 

  1. นายกรัฐมนตรี เป็นประธานกรรมการ 
  2. พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ รองประธานกรรมการ  
  3. นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ รองประธานกรรมการ  
  4. นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกฯ รองประธานกรรมการ  
  5. นายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกฯ รองประธานกรรมการ  
  6. นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกฯ รองประธานกรรมการ  
  7. รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กรรมการ 
  8. รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กรรมการ 
  9. รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กรรมการ 
  10. รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กรรมการ 
  11. รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กรรมการ 
  12. ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ กรรมการ 
  13. ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กรรมการ 
  14. ปลัดกระทรวงคมนาคม กรรมการ และเลขานุการ
  15. ปลัดกระทรวงพลังงาน กรรมการ 
  16. ปลัดกระทรวงพาณิชย์ กรรมการ 
  17. ปลัดกระทรวงมหาดไทย กรรมการ
  18. ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กรรมการ 
  19. เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) กรรมการ 
  20. เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา กรรมการ 
  21. เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กรรมการ 
  22. ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ กรรมการ 
  23. ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย กรรมการ
  24. รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง กรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ
  25. ผู้แทน สศช. กรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ
  26. ผู้แทน สมช. กรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ

 

อำนาจและหน้าที่

 

1.กำหนดแนวทางการบูรณาการ และขับเคลื่อนให้ส่วนราชการหรือหน่วยงานของรัฐ ถือปฏิบัติเพื่อให้การแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ และบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนให้คลี่คลายลงโดยเร็ว รวมทั้งกำหนดแผนเตรียมความพร้อมรองรับสถานการณ์ในระดับวิกฤตเศรษฐกิจให้เกิดผลสัมฤทธิ์อย่างเป็นรูปธรรมตามนโยบายที่รัฐบาลกำหนด

 

2.กำกับ ติดตาม และประเมินผลการดำเนินงานตามแนวทางการบูรณาการ และขับเคลื่อนในการแก้ไขปัญหาหรือบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน และรายงานผลการดำเนินงานต่อนายกฯ หรือคณะรัฐมนตรี (ครม.)

 

3.กลั่นกรอง ให้ข้อเสนอแนะ หรือความเห็นในการแก้ไขหรือบรรเทาปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนจากผลกระทบของสถานการณ์ด้านเศรษฐกิจต่อนายกฯ หรือครม.

 

4.ให้ส่วนราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ บุคคลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องชี้แจงข้อเท็จจริงและรายงานข้อมูล หรือผลการดำเนินการ ให้ความเห็นหรือข้อเสนอแนะรวมทั้งจัดส่งเอกสารที่เกี่ยวข้องเพื่อประโยชน์ในการดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจตามคำสั่งนี้

 

5.แต่งตั้งคณะอนุกรรมการ หรือคณะทำงาน เพื่อช่วยเหลือการปฏิบัติงานได้ตามความเหมาะสม

 

6.ปฏิบัติการอื่นใดตามที่นายกฯ มอบหมาย

 

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม

 

ส่วนอีกชุดที่นายกรัฐมนตรี ได้ลงนามในคำสั่งแต่งตั้ง คือ คณะอนุกรรมการติดตามและวิเคราะห์สถานการณ์วิกฤตเศรษฐกิจ 

 

เหตุผลของการตั้งคณะอนุกรรมการฯ

 

เพื่อให้การดำเนินการของคณะกรรมการเฉพาะกิจเพื่อบริหารสถานการณ์วิกฤตเศรษฐกิจในส่วนของการเตรียมแผนรองรับวิกฤตเศรษฐกิจ การกำหนดแนวทางการบูรณาการ และการขับเคลื่อนให้ส่วนราชการและหน่วยงานของรัฐถือปฏิบัติ เพื่อแก้ไขปัญหาและบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนได้อย่างรวดเร็ว เหมาะสม 

 

รวมทั้งให้การกำกับ ติดตาม และประเมินผลการดำเนินงานดังกล่าวเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ จึงแต่งตั้งคณะอนุกรรมการฯ ขึ้น

 

องค์ประกอบ หน้าที่ และอำนาจ ดังนี้

  1. ปลัดกระทรวงการคลัง เป็นประธานอนุกรรมการ
  2. รองเลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ที่เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ มอบหมาย เป็นรองประธานอนุกรรมการ คนที่ 1
  3. รองเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ ที่เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ มอบหมาย เป็นรองประธานอนุกรรมการ คนที่ 2
  4. ผู้แทนกระทรวงการต่างประเทศ อนุกรรมการ
  5. ผู้แทนกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ อนุกรรมการ
  6. ผู้แทนกระทรวงคมนาคม อนุกรรมการ
  7. ผู้แทนกระทรวงพลังงาน อนุกรรมการ
  8. ผู้แทนกระทรวงพาณิชย์ อนุกรรมการ
  9. ผู้แทนกระทรวงมหาดไทย อนุกรรมการ
  10. ผู้แทนกระทรวงอุตสาหกรรม อนุกรรมการ
  11. ผู้แทนสำนักงบประมาณ อนุกรรมการ
  12. ผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา อนุกรรมการ
  13. ผู้แทนสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กระทรวงการคลัง อนุกรรมการและเลขานุการ
  14. ผู้แทนสำนักงานสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ อนุกรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ
  15. ผู้แทนธนาคารแห่งประเทศไทย อนุกรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ
  16. ผู้แทนสำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ อนุกรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ

 

อำนาจและหน้าที่ 

 

ติดตาม ตรวจสอบ วิเคราะห์ และประเมินผลกระทบที่เกิดขึ้นจากสถานการณ์วิกฤตเศรษฐกิจ กลั่นกรอง ให้ข้อเสนอแนะ หรือความเห็นในการแก้ไขหรือบรรเทาปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนจากผลกระทบจากสถานการณ์วิกฤตเศรษฐกิจต่อคณะกรรมการเฉพาะกิจเพื่อบริหารสถานการณ์วิกฤตเศรษฐกิจ 

 

รวมทั้งจัดทำแผนเตรียมความพร้อมรองรับสถานการณ์ในระดับวิกฤตเศรษฐกิจเพื่อเสนอต่อคณะกรรมการเฉพาะกิจเพื่อบริหารสถานการณ์วิกฤตเศรษฐกิจ เชิญผู้แทนส่วนราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องชี้แจงข้อเท็จจริงและรายงานข้อมูล หรือผลการดำเนินการ 

 

เช่นเดียวกับจัดส่งเอกสารที่เกี่ยวข้องเพื่อประกอบการพิจารณาของอนุกรรมการ และรายงานผลการปฏิบัติงานต่อคณะกรรมการเฉพาะกิจเพื่อบริหารสถานการณ์วิกฤตเศรษฐกิจเป็นระยะ

 

วันที่ 19 ก.ค.พล.อ.สุพจน์ มาลานิยม เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) เปิดเผยว่า การทำหน้าที่ของคณะกรรมการฯ และคณะอนุกรรมการฯ ดังกล่าว จะมีลักษณะเดียวกันกับคณะรัฐมนตรี (ครม.) ฝ่ายเศรษฐกิจ ที่มีการนำหน่วยงานทางเศรษฐกิจเข้ามาหารือและบูรณาการการทำงานร่วมกันในการวิเคราะห์ประเมินสถานการณ์และผลกระทบที่เกิดจากสถานการณ์วิกฤตเศรษฐกิจ การให้ข้อเสนอแนะและความเห็นต่อรัฐบาลในการแก้ปัญหาในภาพใหญ่ของประเทศและบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน

 

การกำหนดแนวทางการบูรณาการและขับเคลื่อนมาตรการและกลไกต่าง ๆ ให้ส่วนราชการและหน่วยงานของรัฐปฏิบัติไปในทิศทางเดียวกัน ทั้งให้มีการกำกับติดตามและประเมินผลด้วย นอกจากนี้จะจัดทำแผนเตรียมความพร้อมรองรับสถานการณ์ในระดับวิกฤตเศรษฐกิจ ซึ่งจะได้กำหนดรายละเอียดและวิธีปฏิบัติตามห้วงเวลาที่สอดคล้องกับสถานการณ์ ทั้งนี้จะมีการเชิญภาคเอกชนและภาคส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้องมาร่วมในการดำเนินการด้วย

 

พล.อ.สุพจน์ กล่าวว่า การจัดตั้งกลไกของคณะกรรมการฯ และ คณะอนุกรรมการฯ นี้ จะเป็นเครื่องมือสำคัญของรัฐบาลในการแก้ไขและบรรเทาผลกระทบของเศรษฐกิจโลก การค้าการลงทุน พลังงาน อาหาร เงินเฟ้อ เพื่อดูแลความเป็นอยู่ของประชาชนให้สามารถแก้ไขปัญหาไปในทิศทางเดียวกันอย่างรวดเร็วและทันเวลา

 

พล.อ.สุพจน์ กล่าวว่า สำหรับเรื่องเร่งด่วนที่เป็นข้อกังวลที่คณะอนุกรรมการฯ จะต้องใช้ฐานข้อมูลเดิมที่สภาความมั่นคงแห่งชาติรวบรวมไว้ และพิจารณาข้อมูลที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม เพื่อประเมิน วิเคราะห์และจัดทำข้อเสนอการแก้ไขปัญหาเร่งด่วน คือเรื่องราคาพลังงาน การประหยัดพลังงาน การควบคุมราคาสินค้า และมาตรการด้านการเงินการคลังเพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายต่อเศรษฐกิจ

 

ซึ่งขณะนี้คณะอนุกรรมการได้เริ่มขับเคลื่อนแล้ว และคาดว่านายกรัฐมนตรีจะเรียกประชุมในเร็วๆ นี้ ทั้งนี้ในฐานะที่เราเป็นเจ้าของประเทศร่วมกัน ทางหนึ่งที่จะร่วมกันแก้ไขปัญหานี้ได้คือการประหยัดพลังงาน ที่จะมีส่วนช่วยได้ทั้งภาพรวมของประเทศและตัวเราเองด้วย