เปิดโครงสร้างคณะกรรมการดูแลเศรษฐกิจ-พลังงาน มีมาตรการอย่างไรบ้าง เช็คเลย

05 ก.ค. 2565 | 11:57 น.
อัปเดตล่าสุด :05 ก.ค. 2565 | 18:57 น.

เปิดโครงสร้างคณะกรรมการดูแลเศรษฐกิจ-พลังงาน มีมาตรการอย่างไรบ้าง เช็คเลยที่นี่มีคำตอบ หลังนายกรัฐมนตรีเรียกประชุม สมช. ถกเครียดกว่า 3 ชั่วโมง

ปัญหาทางด้านเศรษฐกิจ และพลังงานกำลังเป็นปัญหาที่ต้องการการแก้ไขอย่างเร่งด่วน ทั้งในระยะสั้น และระยะยาว

 

ล่าสุด พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้ดำเนินการเรียกประชุมสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ครั้งที่ 2/2565 ซึ่งเป็นการประชุมเต็มคณะ ทั้งกระทรวงด้านความมั่นคงและกระทรวงด้านเศรษฐกิจ  อาทิ พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี นายสุพัฒนพงษ์  พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน นายอาคมเติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย นายชัยวุฒิ ธนาธนานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) เข้าร่วม โดยใช้เวลาประชุมกว่า 3 ชั่วโมง

 

จากการประชุมดังกล่าวได้มีจัดตั้ง 2 ทีมเฉพาะกิจแก้ปัญหาเศรษฐกิจ โดยชุดแรกจะมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ภายใต้ชื่อ คณะกรรมการเฉพาะกิจเพื่อบริหารจัดการสถานการณ์วิกฤตเศรษฐกิจ ซึ่งจะทำงานเหมือนคณะรัฐมนตรี (ครม.) เศรษฐกิจ

 

สำหรับหน้าที่ของคณะกรรมการ  จะกำหนดแผนเตรียมพร้อมรองรับผลกระทบของเศรษฐกิจโลก การค้า การลงทุน พลังงาน และการเงินการธนาคารด้วย โดยติดตามว่าวิกฤตที่เกิดขึ้นยาวนานแค่ไหน 3 เดือนจะเกิดอะไรขึ้น 6 เดือนจะเกิดอะไรขึ้น หรือเกินไปแล้วจะเกิดอะไรขึ้น จึงต้องเตรียมความพร้อมเอาไว้ เพื่อให้สิ่งเหล่านี้ไม่เกิดผลกระทบกับไทยมากที่สุด 

ขณะที่การทำงานจะถูกแบ่งออกเป็น 3 ระยะ ประกอบด้วย

 

  • แผนระยะแรก คือ แผนช่วง 3 เดือนนี้ (กรกฎาคม - กันยายน 2565) ที่ผ่านมารัฐบาลได้ออกมาตรการลดค่าครองชีพไปแล้ว จากนี้ก็ต้องดูว่า จะมีอะไรเกิดขึ้นจนทำให้เกิดผลกระทบขึ้นมาอีก เช่นเดียวกับดูวงเงินต่าง ๆ ที่มีอยู่ว่าเพียงพอหรือไม่ หรือมีอะไรที่จะให้เพิ่มได้อีก

 

"เรื่องมาตรการลดค่าครองชีพคงไปดูว่า มาตรการเดิมที่ออกมา ควรจะต่อได้ไหม ต่อได้แค่ไหน แต่วันนี้อยากให้ดูง่าย ๆ อะไรที่ดูแลเดิมอยู่แล้ว จะดูแลต่อได้ถึงเมื่อไหร่ยังไง จะต้องมีลิมิตไหม หรือจะทำต่อได้ถึงเดือนธันวาคมนี้หรือเปล่า หรือจะเพิ่มอะไรได้บ้าง" 

 

  • ช่วง 3 เดือนต่อไป คือ ในช่วงเดือนตุลาคม – ธันวาคม 2565 จะประเมินว่า ช่วงนี้จำเป็นต้องมีมาตรการอะไรออกมาเพิ่มเติม หรือมีมาตรการอะไรบ้างที่ไม่จำเป็นแล้ว เพื่อไม่ให้กระทบต่อภาระทางการเงินการคลังในอนาคต

 

เปิดโครงสร้างคณะกรรมการดูแลเศรษฐกิจ-พลังงาน มีมาตรการอย่างไรบ้าง

 

  • ระยะต่อไปในช่วงปี 2566 เป็นแผนระยะยาว ในกรณีที่ผลกระทบจากวิกฤตสงครามในยุโรปยืดเยื้อยาวนาน จะหาทางรองรับอย่างไร โดยคณะกรรมการชุดนี้จะไปพิจารณาทุกประเด็น


“สิ่งที่ต้องเตรียมความพร้อมรองรับตอนนี้ คือ เรื่องของพลังงานจะต้องไม่ขาดแคลน ไฟต้องไม่ดับ พลังงานต้องเพียงพอ ส่วนค่าการกลั่นน้ำมันนั้น วันนี้ก็มีกฎหมายอยู่ คงต้องรอให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกามาชี้แจงรายละเอียดอีกครั้ง แต่เบื้องต้นได้รับรายงานจากฝ่ายกฎหมายว่า การออกเป็นกฎหมายมาบังคับ จะทำเฉพาะเรื่องจำเป็นเด็ดขาดเท่านั้น ถึงจะทำได้ เพราะไม่อย่างนั้นจะทำให้มีความเสี่ยงสูง”

 พล.อ.ประยุทธ์ ยังได้ระบุด้วยว่า ในเรื่องของพลังงานนั้น ได้มอบนโยบายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปหารือกันว่า จะหาแหล่งพลังงานเพิ่มเติมจากไหนได้บ้าง ทั้งในพื้นที่อ่าวไทย และพื้นที่อื่น ๆ โดยจะต้องมีการหารือกันต่อเนื่อง เพื่อสร้างความมั่นคงทางด้านพลังงานให้กับประเทศต่อไป 

 

ส่วนคณะกรรมการอีก 1 ชุดจะมีชื่อว่า คณะกรรมการเฉพาะกิจติดตาม ประเมินผล วิเคราะห์ผลกระทบในอนาคต มีกระทรวงการคลังเป็นประธาน อาจเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังหรือปลัดกระทรวงการคลัง โดยคณะกรรมการทั้งสองชุดจะเข้าสู่การประชุม ครม.ในวันนี้ (5 ก.ค.)