"เงินบาทอ่อนค่า" ดันยอดส่งออกเหล็กพุ่ง "MILL" ออเดอร์เหล็กเส้นเพิ่ม 30%

15 ก.ค. 2565 | 10:26 น.
อัปเดตล่าสุด :15 ก.ค. 2565 | 17:26 น.

"เงินบาทอ่อนค่า" ดันยอดส่งออกเหล็กพุ่ง MILL ออเดอร์เหล็กเส้นเพิ่ม 30% เผยทิศทางตลาดในประเทศครึ่งปีหลังเติบโตต่อเนื่อง ทั้งโครงการภาครัฐ-เอกชน

นายประวิทย์ หอรุ่งเรือง กรรมการผู้จัดการใหญ่  บริษัท มิลล์คอน สตีล จำกัด (มหาชน)หรือ MILL เปิดเผยว่า จากสถานการณ์ค่าเงินบาทอ่อนค่าถือเป็นปัจจัยบวกของอุตสาหกรรมเหล็กที่สามารถส่งออกได้มากขึ้น ซึ่งเพิ่มความสามารถทางการแข่งขันในตลาด ทำให้บริษัทสามารถขายสินค้าได้ราคาสูงกว่าราคาขายในประเทศ 

 

ทั้งนี้ กลุ่มลูกค้าหลักมาจากประเทศออสเตรเลีย และประเทศในหมู่เกาะแปซิฟิก ทำให้ครึ่งปีแรกบริษัทสามารถส่งออกสินค้ากลุ่มเหล็กเส้นเพิ่มขึ้น 30% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา และเมื่อรวมกับสินค้าประเภทอื่นทำให้ยอดการส่งออกสูงถึง 30,000 ตัน และยังมีคำสั่งซื้ออีกกว่า 10,000 ตัน 

 

"ผลการดำเนินงานครึ่งปีแรกของบริษัทยอดขายทะลุเป้า รับอานิสงส์จากการส่งออกและอุตสาหกรรมยานยนต์ ทำให้แนวโน้มผลการดำเนินงานในครึ่งปีหลัง 2565 ยอดขายเป็นไปตามเป้าอย่างแน่นอน แม้สภาวะเศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจโลกโดยรวม ยังน่าเป็นห่วงจากต้นทุนด้านพลังงานที่สูงขึ้น แต่ในส่วนของภาคการส่งออกกลับฟื้นตัวจากค่าเงินบาทที่อ่อนค่า" 

อย่างไรก็ดี จากสถานการณ์ปัจจุบันตลาดวัสดุก่อสร้าง และงานก่อสร้างลดความร้อนแรงลง จากในไตรมาส 1/65 บริษัทได้ประเมินและปรับกลยุทธ์ เป็นเน้นการขายสินค้ากึ่งสำเร็จรูป (Billet) และส่งออกเหล็กเส้นเพิ่มขึ้น ประกอบกับตลาดเหล็กลวดเกรดพิเศษยังมีความต้องการอย่างต่อเนื่องตามยอดขายรถยนต์ ทำให้ภาพรวมผลการดำเนินงานยังไปในทิศทางที่ดี 

 

แม้ว่าต้นทุนด้านพลังงานยังเป็นปัจจัยสำคัญที่น่าจับตามอง แต่ก็ไม่มีผลกระทบต่อบริษัทมากนัก เนื่องจากบริษัทได้ใช้พลังงานทดแทนซึ่งเป็นพลังงานสะอาดมาใช้ในการดำเนินงาน คาดการณ์ว่าจะทำให้บริษัทสามารถลดต้นทุนด้านพลังงานได้ราวๆ 1.5%

 

อีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้บริษัทสามารถทำผลงานได้ดีขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง คือการผลิตและจำหน่ายเหล็กเส้นเสริมคอนกรีต GB ซึ่งเป็นเหล็กเกรดพิเศษที่ใช้เป็นวัสดุหลักในการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน ซึ่งมีปริมาณการผลิตเพิ่มขึ้นจากเหล็กเกรดปกติประมาณ 5% นอกจากนี้บริษัทยังได้รับอานิสงส์จากโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ที่สำคัญๆ ในพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก EEC อาทิ โครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง เฟส 3 และการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินอีกด้วย

“การเติบโตของอุตสาหกรรมยานยนต์และการตื่นตัวของธุรกิจรถยนต์พลังงานไฟฟ้าในประเทศ บริษัทสามารถผลิตและจำหน่ายเหล็กเกรดพิเศษ สำหรับผลิตชิ้นส่วนรถยนต์เพียงเจ้าเดียวในไทย ภายใต้การดำเนินงานของบริษัท โคเบลโก้ มิลล์คอน สตีล จำกัด หรือ KMS บริษัทร่วมทุนของ MILL กับบริษัท โกเบ สตีล จำกัด ผู้ผลิตเหล็กรายใหญ่ของญี่ปุ่น โดยมีกำลังการผลิตรวมประมาณ 4 แสนตันต่อปี"