นายกฯ เคาะแผนบิ๊กโปรเจกต์ 1.3 ล้านล้าน ศูนย์ธุรกิจ-เมืองอัจฉริยะ EEC

11 ก.ค. 2565 | 18:47 น.
อัปเดตล่าสุด :12 ก.ค. 2565 | 01:56 น.
1.6 k

นายกฯ ประชุมบอร์ด EEC เคาะแผนแม่บทและแผนการดำเนินงานโครงการศูนย์ธุรกิจ EEC และเมืองใหญ่น่าอยู่อัจฉริยะ วงเงินลงทุนประมาณ 1.34 ล้านล้านบาท พร้อมรับทราบการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานสำคัญ ทั้งรถไฟความเร็วสูง สนามบินอู่ตะเภา และท่าเรือ

นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการ คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ที่มี นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน วันนี้ ได้อนุมัติร่างแผนแม่บทและแผนการดำเนินงานโครงการศูนย์ธุรกิจ EEC และเมืองใหญ่น่าอยู่อัจฉริยะ วงเงินลงทุนประมาณ 1.34 ล้านล้านบาท

 

โดยในขั้นตอนต่อไปหลังจากผ่านการเห็นชอบจากบอร์ดแล้ว เตรียมให้เสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ตามมาตรา 11 แห่ง พ.ร.บ. เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ. 2561 ต่อไป 

 

สำหรับร่างแผนแม่บทโครงการศูนย์ธุรกิจ EEC และเมืองใหม่น่าอยู่อัจฉริยะ มีพื้นที่โครงการฯ ประมาณ 14,619 ไร่ ตั้งอยู่ในตำบลห้วยใหญ่ จังหวัดชลบุรี อยู่ในเขต สปก. ระยะเวลาพัฒนาโครงการ 10 ปี มีเงินลงทุนโครงการประมาณ 1.34 ล้านล้านบาท

 

นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการ คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก

โดยโครงการลงทุนประกอบด้วย ภาครัฐลงทุนเรื่องที่ดินและโครงสร้างพื้นฐาน ระบบสาธารณูปโภคและสาธารณูปการส่วนกลาง โดยมีการแบ่งพื้นที่เป็นโซนเพื่อให้เอกชนหรือรัฐวิสาหกิจเช่าที่ดินหรือร่วมลงทุนหรือลงทุนในกิจการด้านระบบสาธารณูปโภค หรือเอกชนเช่าพื้นที่ลงทุนด้านพื้นที่พาณิชย์

 

ทั้งนี้ ประโยชน์ที่จะได้รับจากการสร้างเมืองใหม่น่าอยู่อัจฉริยะของ EEC คือสามารถรองรับประชากรได้ 350,000 คน ภายในปี 2575 รวมทั้งสร้างงานทางตรงไม่น้อยกว่า 200,000 ตำแหน่ง ภายในปี 2575 และมีมูลค่าการจ้างงานกว่า 1.2 ล้านล้านบาท มีธุรกิจและบริการมาตรฐานสากล มีวิสาหกิจเริ่มต้น (Startup) ประมาณ 150-300 กิจการ 

 

อีกทั้งยังเป็นเมืองที่มีมาตรฐานสิ่งแวดล้อมที่ดี ปลอดภัย สะดวกสบาย  มีระบบโครงสร้างพื้นฐาน การเชื่อมต่อระบบโครงข่ายคมนาคมอัจฉริยะที่สะดวกรวดเร็ว มีระบบสาธารณูปโภค และสาธารณูปการที่ครบถ้วน เกิดประโยชน์กับประเทศไทยโดยรวม และจะมีเมืองรองที่ทันสมัย มีเมืองใหม่แห่งอนาคต เป็นต้นแบบการพัฒนาเมืองเน้นความน่าอยู่ 

 

อย่างไรก็ตามประเมินว่า จะช่วยกระตุ้นการขยายตัว GDP เพิ่มขึ้นประมาณ 2 ล้านล้านบาท ภายใน 10 ปี สินทรัพย์ที่โอนกรรมสิทธิ์มาเป็นของรัฐเมื่อสิ้นสุดสัญญา 50 ปี จะมีมูลค่าเพิ่มประมาณ 5 เท่า 

 

นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก

ก่อนหน้านี้ในการดำเนินเรื่องดังกล่าว ที่ประชุมครม. ได้อนุมัติให้สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) เข้าใช้ประโยชน์ที่ดินของสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) จำนวน 14,619 ไร่ ในท้องที่ ต.ห้วยใหญ่ อ.บางละมุง จ.ชลบุรี เพื่อดำเนินโครงการศูนย์ธุรกิจ EEC และเมืองใหม่น่าอยู่อัจฉริยะ แล้ว

 

นอกจากนี้ ที่ประชุมมีมติรับทราบการดำเนินงานในเรื่องที่สำคัญ ดังนี้ 

 

1. รับทราบความก้าวหน้าภารกิจขับเคลื่อนโครงสร้างพื้นฐานหลัก ซึ่งเป็นโครงการร่วมลงทุุนรัฐ-เอกชน (PPP) 4 โครงสร้างพื้นฐาน เดินหน้าก่อสร้างแล้วทุกโครงการ อย่างเป็นรูปธรรม ได้แก่ 

  • โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน 
  • โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก 
  • โครงการท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด 
  • โครงการท่าเรือแหลมฉบัง 

 

ทั้งนี้ใน 2 โครงการแรก คือ โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน  โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออกมีกำหนดที่จะออกหนังสือส่งมอบที่ดินให้กับเอกชนที่ชนะการประมูลในโครงการ (NTP) เพื่อเริ่มก่อสร้างในเดือน ต.ค.นี้ โดยในเดือนสิงหาคม และการปรับปรุงรายงานเพื่อนำเสนอ ครม. เดือนกันยายน 2565 โดยการก่อสร้างโครงการฯ ระยะที่ 1 คาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2568 

 

นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก

 

ส่วนอีก 2 โครงการท่าเรือ คือ โครงการท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ขณะนี้ได้เริ่มก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน และช่วงงานถมทะเล คาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2569 เช่นกัน ขณะที่โครงการท่าเรือแหลมฉบัง เริ่มต้นการก่อสร้างงานทางทะเล และการจัดทำ EHIA สำหรับท่าเทียบเรือ F จะอนุมัติภายในเดือนสิงหาคม 2566 คาดว่าจะเปิดบริการได้ในปี 2568

 

2. รับทราบการผลิตน้ำจืดจากน้ำทะล (Desalination) ในพื้นที่ อีอีซี โดยการดำเนินการต่อไป อีอีซี สทนช. กนอ. และเมืองพัทยา จะร่วมกันหารือถึงแนวทางดำเนินการ การคัดเลือกเทคโนโลยี รูปแบบการลงทุนที่เหมาะสม เพื่อขับเคลื่อนการผลิตน้ำจืดจากน้ำทะเลได้อย่างยั่งยืนต่อไป
 

3. รับทราบการยกระดับบริการด้านยีนบำบัด (Gene therapy) สำหรับโรคธาลัสซีเมีย (Thalassemia) ซึ่ง สกพอ. จะทำงานร่วมกับหน่วยงานทั้งภาครัฐและภาคเอกชน เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนการวิจัยพัฒนาและผลิตยีนบำบัดในไทย และจะเตรียมพื้นที่สำหรับบริษัทที่ประสงค์จะลงทุนก่อสร้างศูนย์ผลิตอีกด้วย 

 

4. รับทราบความก้าวหน้าเรื่อง จีโนมิกส์ (Genomics) ซึ่ง สกพอ. ได้ร่วมมือกับคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล และบริษัท โรช ประเทศไทย จำกัด (Roche) จัดตั้งศูนย์ทดสอบระดับสากลสำหรับ “การตรวจยีนมะเร็งแบบครอบคลุม” และศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการ รักษาผู้ป่วยมะเร็งปอดชนิด non small cell ระยะลุกลามด้วยการแพทย์แม่นยำ 

 

5. รับทราบการพัฒนาระบบนิเวศอากาศยานไร้คนขับ (UAS Ecosystem) หรือ “โดรน” ในพื้นที่อีอีซี โดยบริษัทวิทยุการบินแห่งประเทศไทย (บวท.) ได้จัดทำแนวทางการพัฒนาที่จะเกิดการใช้ประโยชน์ครบมิติ โดยประเทศไทย คาดว่าจะมีการใช้โดรนมากถึง 700,000 ลำ ในเวลา 5 ปี และกว่า 80% จะใช้งานในพื้นที่อีอีซี