สายรัดประหยัดน้ำมัน EnSave คืออะไร ช่วยได้จริงหรือไม่ เช็คเลย

10 ก.ค. 2565 | 09:49 น.
6.1 k

สายรัดประหยัดน้ำมัน EnSave คืออะไร ช่วยได้จริงหรือไม่ เช็คเลยที่นี่มีคำตอบ หลังไฮโซหญิงรายหนึ่งโพสต์ลงทั้งเพจของสินค้าและเฟซบุ๊กส่วนตัว มีการนำไปมอบให้กับดาราอาวุโสเพื่อให้ร่วมโปรโมต

สายรัดประหยัดน้ำมัน EnSave คืออะไร ช่วยได้จริงหรือไม่ เป็นคำถามที่กำลังได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก 

 

หลังจากที่เฟซบุ๊กเพจดังหลายเพจต่างพูดถึงนวัตกรรมใหม่ที่ระบุว่า ช่วยลดการใช้น้ำมันได้ ทำให้ประหยัดค่าน้ำมันไปได้เยอะ คือ "สายพลังงานประหยัดน้ำมัน" ซึ่งพบว่าผู้จำหน่ายเป็นไฮโซหญิงรายหนึ่ง เธอได้โพสต์ลงทั้งเพจของสินค้าและเฟซบุ๊กส่วนตัว มีการนำไปมอบให้กับดาราอาวุโส เพื่อให้ร่วมโปรโมตด้วย รวมถึงอู่รถยนต์และบริษัทต่าง ๆ เพื่อถ่ายภาพไปโปรโมตสินค้าเช่นกัน

 

พร้อมกันนี้ยังมีการระบุข้อความด้วยว่า ไม่ต้องกลัวราคาน้ำมันแพงนะคะ แค่มีสายรัดประหยัดพลังงานที่สายส่งน้ำมันไปหัวฉีด สายประหยัดพลังงานจะแยกโมเลกุลน้ำมันให้เล็กลง ทำให้การใช้น้ำมันลดลง 20 - 30%

 

ทั้งนี้ "ฐานเศรษฐกิจ" ได้ทำการสืบค้นข้อมูล เพื่อไขคำตอบพบว่าสินค้าอุปกรณ์เสริมช่วยประหยัดน้ำมันนี้ ถูกขายบน Facebook Fanpage : EnSave สายพลังงานประหยัดน้ำมัน และ Piwaterthailand ซึ่งสายรัดสีฟ้าว่านี้ทางผู้ผลิตได้ระบุว่ามีการใช้ซิลิโคนที่ผลิตด้วย Black Technology 
 

ผสมกับแร่ชนิดพิเศษที่มีชื่อว่า ซูปเปอร์พาย 2 ซึ่งได้ผ่านการคิดค้นร่วมกับสถาบันวิจัยในประเทศญี่ปุ่นมานานกว่า 15 ปี เสริมด้วยแร่แกรฟีนและหินลาวา ซึ่งจะส่งผลให้เกิดพลังงานควอนตัม (Quantum) ทำให้เกิดพลังงานแผ่รังสี “แกรมม่าเรย์” ช่วยให้น้ำมันเชื้อเพลิงนั้นนั้นมีขนาดโมเลกุลที่เล็กลง ซึ่งจะส่งผลดีต่อรถของคุณดังต่อไปนี้

 

  • ช่วยให้ประหยัดน้ำมันเชื้อเพลิงได้มากถึง 20%
  • ช่วยเพิ่มแรงม้าของเครื่องยนต์ ให้อัตราเร่งที่ดีขึ้น ออกตัวดีขึ้น
  • ช่วยลดควันดำของเครื่องยนต์ดีเซล
  • ช่วยยืดอายุการใช้งานของเครื่องยนต์
  • EnSave สายพลังงานประหยัดน้ำมัน

 

นอกจากนี้ทางผู้ผลิตยังได้มีการตรวจวัดค่าพลังงานที่ปล่อยออกมาด้วยเครื่อง ion tester รวมถึงยังได้มีการอ้างว่าสินค้าตัวนี้ผ่านการตรวจสอบจากสถาบันนิวเคลียแห่งชาติอีกด้วย

 

สายรัดประหยัดน้ำมัน EnSave คืออะไร

 

EnSave สายพลังงานประหยัดน้ำมันสำหรับวิธีการใช้งานของเจ้าสายประหยัดน้ำมันตัวนี้ก็ง่ายดายสุดๆ เพียงแค่นำสายตัวนี้มาพันเข้ากับสายจ่ายน้ำมันก่อนเข้าสู่เครื่องยนต์ เพียงแค่นี้ก็สามารถใช้งานเจ้าสายประหยัดพลังงานตัวนี้ได้แล้ว และที่พิเศษกว่านั้นมันยังสามารถใช้ได้กับเครื่องยนต์ดีเซล เครื่องยนต์เบนซิน รถยนต์ที่ใช้พลังงานแก๊สก็สามารถใช้ได้เช่นเดียวกัน

อย่างไรก็ดี ล่าสุดนายเจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ หรือ อาจารย์เจษฎ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ถึงประเด็นนี้ด้วยว่า

 

“เตือนระวัง อย่าหลงเชื่อโฆษณาหลอกขาย อุปกรณ์ประหยัดน้ำมัน” ในช่วงที่ราคาน้ำมันสูงขึ้นมากอย่างตอนนี้ ก็มีอุปกรณ์ที่อ้างว่าสามารถทำให้ยานพาหนะประหยัดการใช้พลังงานขึ้นได้ ออกมาจำหน่ายมากมายหลายยี่ห้อเลยครับ

 

ซึ่งหลักๆ แล้ว มักจะเป็นอุปกรณ์ที่แอบอ้างหลอกลวง หรือโฆษณาเกินจริงด้วยการใช้คำพูดเชิง pseudo science วิทยาศาสตร์ลวงโลก มาทำให้ดูน่าเชื่อถือ … แล้วตามด้วยการอ้าง “ผู้ใช้” มาบอกต่อกันว่าประหยัดจริงๆ อย่างนั้นอย่างนี้ (ซึ่งก็ไม่รู้ว่าเป็นอุปาทานไปกันเอง เพราะไม่ได้ใช้เครื่องมือวัดที่ถูกต้อง .. หรือว่าเป็นหน้าม้าร่วมด้วย)

 

1.อย่างภาพโฆษณาของสินค้าเก่าที่พอจะหาภาพเจอ (ขายในปี พ.ศ. 2558) อันนี้ ที่เอาไปพันกับท่อในเครื่องยนต์แล้วอ้างว่าประหยัดน้ำมันได้ ก็เป็นตัวอย่างที่ดีในการอธิบายถึงการหลอกขายได้ เช่น

 

  • อ้างเรื่องพลังงานที่ไม่มีอยู่จริง คือ พลังงานสเกล่าร์ ซึ่งอ้างว่าเป็นพลังงานธรรมชาติจากหินลาวาภูเขาไฟ ทำให้ร่างกายสมดุล มาผลิตเป็นเครื่องประดับ (ซึ่งถ้าใครจำได้ มันคือเรื่อง “เหรียญควอนตัม” หลอกลวง นั่นแหละครับ) ซึ่งก็ชัดเจนว่าไม่ได้

 

  • อ้างเรื่องที่มีอยู่จริง คือ แม่เหล็ก แต่เอาไปเคลมแบบมั่วๆ ว่าเป็นพลังงานที่เอาไปใช้เสริมสร้างร่างกาย รักษาโรคได้ ทำให้สมดุลร่างกายดีขึ้น (ซึ่งก็ไม่จริงนะ เป็นเรื่องอ้างมั่วๆ กันมานานแล้ว) ดังนั้น เมื่อเอามาใช้กับเครื่องยนต์ จะทำให้เครื่องยนต์เกิดสมดุลขึ้น มีประสิทธิภาพมากขึ้น (เชื่อมโยงกันยังไงเนี่ย สมดุลในร่างกายคน กับสมดุลในเครื่องยนต์รถ)

 

  • อีกเรื่องที่มีอยู่จริง แต่มาอ้างมั่วๆ คือ ฟาร์ อินฟาเรด ซึ่งจริงๆ ก็เป็นแค่ช่วงคลื่นของแสงที่อยู่เหนือช่วงอินฟาเรด (ช่วงคลื่นของแสงที่ตามองไม่เห็น และทำให้เกิดความร้อน) ขึ้นไป ซึ่งมีคนเยอะเลยที่ชอบเอามาอ้างกันเกินจริง ว่ามีผลดีต่อสุขภาพอย่างนั้นอย่างนี้ ทำให้โมเลกุลของน้ำแตกตัว เล็กลง นำออกซิเจนเข้าสู่ร่างกายเร็วขึ้น ฯลฯ (ซึ่งก็ไม่จริงนะ อ้างกันมั่วๆ ) แล้วเอามาเชื่อมโยงกับน้ำมันรถยนต์ อ้างว่าทำให้โมเลกุลน้ำมันหรือแก๊สแตกตัว เล็กลง เผาไหม้สมบูรณ์ขึ้น (ซึ่งทั้งไม่จริง และทั้งเชื่อมโยงได้มั่วมาก)

 

  • จากนั้น ก็ตามด้วยการเอา “ผู้ใช้” มาอ้างว่าใช้แล้วประหยัดน้ำมันขึ้น ซึ่งเราไม่มีทางรู้ว่าเป็นเรื่องจริง หรือเป็นการหลอกโดยหน้าม้า หรือว่าเป็นแค่อุปาทานของคนนั้นคิดไปเอง ซึ่งการจะรู้ได้ว่าประหยัดน้ำมันแค่ไหนจริง แต่ผ่านการทดสอบด้วยผู้เชี่ยวชาญ และอุปกรณ์เฉพาะ

 

ภาพจาก FB  อ๋อ มันเป็นอย่างนี้นี่เอง by อาจารย์เจษฎ์

 

2. จริงๆ เรื่องพวกนี้ ก็มีการเตือนกันมานานแล้ว อย่างข่าวนี้ ตั้งแต่ปี 2552 (http://www.bt-50.com/topic.php?q_id=8515) “ปตท. ออกโรง เตือนผู้บริโภค ระวัง โดนแหกตา อุปกรณ์เสริมและสารเคมีที่ช่วยประหยัดน้ำมัน ไม่สามารถช่วยประหยัดน้ำมันได้จริง ผลพิสูจน์แล้ว ไม่มีรายใดผ่านมาตรฐานสากล เพียงแค่ผู้ผลิตอ้างสรรพคุณให้หลงเชื่อเท่านั้น”

 

3. ในอดีตนานแล้ว (ปี พ.ศ. 2547) ก็เคยมีกรณีของสินค้าที่แอบอ้างว่าประหยัดน้ำมันได้ ชื่อว่า E-Plus (เสียดายว่าหารูปประกอบไม่เจอแล้ว) ซึ่งเคยเป็นข่าวใหญ่ เพราะดันผ่านการรับรอง แนะนำ โดยหน่วยงานของรัฐอย่าง สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) แต่มาถูกเปิดโปงพิสูจน์ได้ภายหลังว่าไม่ได้ประหยัดน้ำมันจริง

 

4.คำแนะนำสำหรับ #การขับรถให้ประหยัดน้ำมัน จาก ปตท.

 

  • ไม่เหยียบเบรกกะทันหัน : การเหยียบเบรกกะทันหัน หรือบ่อยเกินความจำเป็น จะสิ้นเปลืองน้ำมันสูงถึง 40% และยังส่งผลเสียต่อตัวเครื่องยนต์อีกด้วย
  • ขับรถด้วยความเร็วคงที่ ไม่ช้าเกินไป หรือเร็วมากเกิน : รักษาความเร็วให้คงที่ หรือใช้ความเร็วที่สม่ำเสมอกัน 60 – 90 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ช่วยให้รถประหยัดน้ำมัน และลดความเสี่ยงต่อการเกิดความเสียหายบนท้องถนนด้วย
  • เปลี่ยนน้ำมันเครื่องและตรวจเช็กเครื่องยนต์ตามระยะทาง : การตรวจเช็กสภาพรถเป็นประจำตามคำแนะนำของศูนย์บริการ จะช่วยประหยัดน้ำมันเชื้อเพลิงได้ 3 – 9% เลยทีเดียว
  • บรรทุกของเท่าที่จำเป็น : ยิ่งบรรทุกของมาก ยิ่งทำให้รถต้องใช้พละกำลังในการขับเคลื่อนมากขึ้นไปด้วย ยิ่งกินน้ำมันมากขึ้น
  • จัดของที่จะบรรทุก บนรถกระบะ : จัดวางสิ่งของให้สมดุล ไม่อยู่ด้านใดด้านหนึ่งมากเกินไป นอกจากนี้ ก็ไม่ควรจะขับรถเร็ว ควรวิ่งชิดเลนซ้าย ใช้ความเร็วสม่ำเสมอ ประมาณ 80 – 90 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ก็จะช่วยประหยัดน้ำมันได้มากถึง 15 – 20 % เลยทีเดียว

 

ที่มา :  FB : อ๋อ มันเป็นอย่างนี้นี่เอง by อาจารย์เจษฎ์ ,เว็บไซด์ carvariety.com