OR-ไปรษณีย์ไทยทดสอบใช้ EV Bike ไทยฮอนด้าขนส่งสินค้า-พัสดุ

04 ก.ค. 2565 | 19:41 น.
อัปเดตล่าสุด :05 ก.ค. 2565 | 02:41 น.

OR-ไปรษณีย์ไทยทดสอบใช้ EV Bike ไทยฮอนด้าขนส่งสินค้า-พัสดุ นำร่อง2 แห่ง ที่ทำการไปรษณีย์หลักสี่ และที่ทำการไปรษณีย์จตุจักร

นางสาวจิราพร ขาวสวัสดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน)  หรือโออาร์ (OR) เปิดเผยว่า ได้ดำเนินการร่วมกับบริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด เพื่อร่วมโครงการทดสอบยานพาหนะไฟฟ้าสำหรับขนส่งสินค้าและพัสดุ

 

ทั้งนี้ โครงการดังกล่าวจะเป็นการนำร่องใช้รถจักรยานยนต์ไฟฟ้า (EV Bike) ทั้งหมด 2 รุ่น ได้แก่

 

  • รุ่น PCX Electric 

 

  • รุ่น BENLY e:

 

อย่างไรก็ดี เบื้องต้นจะเริ่มต้นที่ทำการไปรษณีย์ 2 แห่ง ได้แก่ ที่ทำการไปรษณีย์หลักสี่ และที่ทำการไปรษณีย์จตุจักร กรุงเทพฯ โดย OR จะติดตั้งจุดสลับแบตเตอรี่ ณ ที่ทำการไปรษณีย์นำร่องทั้งสองแห่ง สำหรับชาร์จไฟ  EV Bike 
 

และสลับแบตเตอรี่แบบไม่ต้องรอชาร์จ ซึ่ง OR และไปรษณีย์ไทยจะร่วมกันเก็บรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลเกี่ยวกับการใช้ EV Bike และการชาร์จไฟฟ้าที่จุดสลับแบตเตอรี่ ตลอดจนหาโอกาสในการพัฒนาความร่วมมือต่อไปในอนาคต 

 

นางสาวจิราพร กล่าวต่อไปอีกว่า หนึ่งในพันธกิจของ OR คือการสร้าง Seamless Mobility โดยมุ่งตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคและภาคธุรกิจ ไม่ว่าจะต้องการพลังงานชนิดใดสำหรับการเดินทาง เพื่อให้การเปลี่ยนผ่านการใช้พลังงานเป็นไปอย่างไร้รอยต่อ รวมทั้งมุ่งมั่นผลักดันการใช้พลังงานไฟฟ้าสำหรับการเดินทางและการขนส่งให้เกิดขึ้นอย่างแพร่หลายในประเทศ 

 

ตลอดจนพัฒนาธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้าอย่างเต็มรูปแบบเพื่อก้าวสู่การเป็นผู้นำในระบบนิเวศยานยนต์ไฟฟ้า (EV Ecosystem) โดยรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าถือเป็นอีกเป้าหมายในการพัฒนาธุรกิจของ OR เพื่อมุ่งสู่การเป็นผู้ให้บริการ Platform ของธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้าเต็มรูปแบบ เนื่องจากรถจักรยานยนต์ถือเป็นยานพาหนะที่ผู้บริโภคเข้าถึงได้ง่าย ทำให้มีจำนวนผู้ใช้เป็นจำนวนมาก

อีกทั้งยังสามารถเปลี่ยนไปใช้พลังงานไฟฟ้าได้ง่าย ดังนั้นหาก OR สามารถพัฒนารูปแบบ platform ของธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้าให้เกิดขึ้นได้โดยเร็ว ไม่ว่าจะเป็นสถานีชาร์จไฟ เครื่องชาร์จ รถยนต์ รถจักรยานยนต์ ตู้เปลี่ยนแบตเตอรี่ แอปพลิเคชันในการให้บริการ ตลอดจนการซ่อมหรือดูแลรถ EV จะดึงดูดให้ผู้บริโภคหันมาสนใจใช้รถยนต์หรือรถจักรยานยนต์ไฟฟ้ามากยิ่งขึ้น 

 

และขับเคลื่อนให้การใช้ EV เกิดขึ้นอย่างแพร่หลายในประเทศไทยโดยมี OR เป็นจุดเชื่อมต่อระหว่างผู้ให้บริการและผู้ใช้บริการ 

 

OR-ไปรษณีย์ไทยทดสอบใช้ EV Bike ไทยฮอนด้าขนส่งวสินค้า-พัสดุ
 

สำหรับความร่วมมือกับไปรษณีย์ไทย และไทยฮอนด้า ซึ่งถือเป็นผู้นำด้านการขนส่งพัสดุและด้านอุตสาหกรรมยานยนต์ในครั้งนี้ ถือได้ว่าเป็นการยกระดับการขนส่งพัสดุให้ประหยัดพลังงานและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม อีกทั้งยังสอดคล้องกับหนึ่งในเป้าหมายของ OR ในการสร้างสิ่งแวดล้อมที่อุดมสมบูรณ์ (Healthy Environment) 

 

โดยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ครอบคลุมตลอดทั้งการดำเนินธุรกิจ เพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานสะอาด ผ่านการส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า เพื่อบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon-Neutrality) ภายในปี 2030 และบรรลุการปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Carbon) ภายในปี 2050 อีกด้วย  

 

ดร.ดนันท์ สุภัทรพันธุ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด กล่าวว่า ไปรษณีย์ไทยเล็งเห็นถึงความรับผิดชอบต่อภาคสาธารณะในฐานะของผู้ให้บริการขนส่ง ที่มีการใช้ยานยนต์ในการให้บริการทั่วประเทศเป็นจำนวนมาก จึงมุ่งมั่นที่จะปรับเปลี่ยนมาสู่การใช้พลังงานสะอาด ทดแทนการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงเพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ - มลพิษในเส้นทางต่างๆ ทั้งในระดับเมืองและชุมชน

 

ไปรษณีย์ไทยเป็นหน่วยงานการขนส่งของชาติที่ดำเนินธุรกิจควบคู่ไปกับการสร้างความยั่งยืนทางสิ่งแวดล้อม รวมถึงการใช้ทรัพยากรอย่างรู้คุณค่า อีกทั้งยังมุ่งมั่นนำเทคโนโลยีด้านการขนส่งมาปรับใช้กับการให้บริการเพื่อคนไทย ด้วยความมุ่งมั่นลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนตามนโยบายกรีนโลจิสติกส์ ซึ่งให้ความสำคัญตั้งแต่การขนส่งต้นทางไปจนถึงปลายทาง 

 

โดยเฉพาะการร่วมกับหน่วยงานพันธมิตรทั้งจากภาครัฐและภาคเอกชนในการศึกษาแนวทางเพื่อนำยานพาหนะไฟฟ้ามาใช้ในการให้บริการขนส่งไปรษณียภัณฑ์ในพื้นที่ต่างๆ ซึ่งจากความร่วมมือกับ OR ในครั้งนี้ ถือเป็นอีกก้าวสำคัญที่จะช่วยยกระดับการนำจ่ายด้วยพลังงานสะอาดได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

 

ไปรษณีย์ไทย ในปี 2565 มีแผนในการนำรถยนต์ไฟฟ้าจานวน 250 คัน มาใช้สำหรับการขนส่งไปรษณียภัณฑ์ซึ่งคาดการณ์ไว้ว่าจะช่วยประหยัดทรัพยากรได้เพิ่มขึ้นกว่า 30 % โดยในอนาคตเชื่อว่าหากมีจำนวนการใช้ที่มากขึ้นจะช่วยสร้างระบบนิเวศยานยนต์ไฟฟ้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมในเมืองไทยได้อย่างมีนัยสำคัญ และเป็นต้นแบบของผู้ให้บริการโลจิสติกส์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Green Logistics) ในอนาคต