ธนาคารโลกแต่งตั้ง “ฟาบริซิโอ ซาร์โคเน” ผจก.คนใหม่ประจำประเทศไทย

01 ก.ค. 2565 | 12:51 น.
อัปเดตล่าสุด :01 ก.ค. 2565 | 20:54 น.

นายฟาบริซิโอ ซาร์โคเน จะดำรงตำแหน่งผู้จัดการธนาคารโลกประจำประเทศไทยคนใหม่ มีผลตั้งแต่วันนี้ ( 1 ก.ค.2565) เป็นต้นไป ประกาศพร้อมทำงานร่วมกับประเทศไทยเพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาฝ่าความท้าทายทางเศรษฐกิจหลังผ่านพ้นวิกฤตโควิด

ธนาคารโลก (เวิลด์แบงก์) แต่งตั้ง นายฟาบริซิโอ ซาร์โคเน (Fabrizio Zarcone) ชาวอิตาลี ให้ดำรงตำแหน่งเป็น ผู้จัดการธนาคารโลกประจำประเทศไทย คนใหม่ มีผลตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2565 แทนนางเบอร์กิท ฮานสล์ (Birgit Hansl) ที่ได้ดำรงตำแหน่งนี้มาเป็นเวลา 4 ปี

 

นายฟาบริซิโอ จะดูแลการดำเนินการตามกรอบความร่วมมือระดับประเทศระหว่างกลุ่มธนาคารโลกกับประเทศไทย โดยมุ่งเน้นการปฏิรูปด้านเศรษฐกิจและสังคมที่สำคัญ เพื่อขจัดความยากจนและส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจเพื่อความเป็นอยู่ที่ดี

 

นอกจากนี้ ยังจะทำหน้าที่เป็นผู้นำการเจรจาทางนโยบายระหว่างธนาคารโลกกับรัฐบาล ภาคประชาสังคม ภาคเอกชน และพันธมิตรอื่นๆ ด้วย

ฟาบริซิโอ ซาร์โคเน ผู้จัดการธนาคารโลกประจำประเทศไทย มีผล 1 ก.ค. 2565

สำหรับกรอบความร่วมมือระดับประเทศของกลุ่มธนาคารโลกระหว่างปี 2562-2565 เน้นสนับสนุนการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยไปสู่การบูรณาการที่ครอบคลุมผู้คนทุกกลุ่มในสังคม ความมีเสถียรภาพและศักยภาพในการแข่งขันที่ดีขึ้น โดยมุ่งเน้นการส่งเสริมการแข่งขันทางการค้า และการสร้างนวัตกรรมโดยช่วยให้ประเทศไทยปรับปรุงสภาพแวดล้อมทางธุรกิจ สถาบันทางเศรษฐกิจ และโครงสร้างพื้นฐานให้ดีขึ้น

 

ธนาคารโลกยังให้ความสำคัญกับประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สนับสนุนการศึกษาที่มีคุณภาพและโครงการที่ดูแลกลุ่มผู้ด้อยโอกาส และกลุ่มเปราะบาง รวมถึงในพื้นที่เปราะบางและมีความขัดแย้งในภาคใต้ของประเทศไทยด้วย

 

ส่วนหนึ่งของถ้อยแถลงเปิดตัว นายฟาบริซิโอกล่าวว่า "ผมรู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้มารับตำแหน่งใหม่นี้ ในขณะที่ประเทศไทยกำลังจะหลุดพ้นจากความท้าทายทางเศรษฐกิจและสังคมที่เกิดจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 โศกนาฏกรรมจากการแพร่ระบาดจะต้องถูกเปลี่ยนให้เป็นโอกาสที่จะฟื้นตัวและการสร้างโอกาสใหม่ เพื่อกลับมาให้ดีกว่าเดิมและการวางเป้าหมายให้เศรษฐกิจมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ด้วยประสิทธิภาพในการผลิต และการฟื้นตัวอย่างยั่งยืน ทั้งในระยะกลางและระยะยาว ผมหวังเป็นอย่างยิ่งที่จะได้สนับสนุนประเทศไทยให้บรรลุเป้าหมายที่สำคัญเหล่านี้"

ก่อนได้รับการแต่งตั้งในครั้งนี้ นายฟาบริซิโอ เคยดำรงตำแหน่งผู้จัดการประจำประเทศบัลแกเรีย สาธารณรัฐเช็ก และสาธารณรัฐสโลวัก ซึ่งเขาได้ดูแลโครงการให้ความช่วยเหลือด้านเทคนิคต่างๆ จำนวนหลายโครงการ และยังเป็นโครงการที่มีความซับซ้อนอีกด้วย และก่อนหน้านั้นนายฟาบริซิโอ ได้ดำรงตำแหน่งเป็นผู้จัดการประจำประเทศคอสตาริกา และเอลซัลวาดอร์ โดยเขาได้ดูแลโครงการที่รัฐบาลกู้ยืมเงินกับธนาคารโลก และการให้คำปรึกษาแก่ประเทศที่มีรายได้ปานกลางทั้งสองประเทศ

 

ด้วยประสบการณ์กว่า 20 ปีในการทำงานด้านการพัฒนากับธนาคารโลก นายฟาบริซิโอ เคยทำงานในภูมิภาคตะวันออกกลางในตำแหน่งเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการอาวุโสในเขตเวสต์แบงก์ และฉนวนกาซา โดยทำหน้าที่บริหารจัดการโครงการสนับสนุนด้านงบประมาณที่สำคัญให้กับหน่วยงานแห่งชาติปาเลสไตน์ นอกจากนี้ เขายังมีประสบการณ์อย่างกว้างขวางในการทำงานในภูมิภาคซับซาฮาราของแอฟริกา และได้มีโอกาสร่วมกำกับดูแลโครงการต่างๆ ในประเทศเคนยา รวันดา และหมู่เกาะคอโมโรส

 

นายฟาบริซิโอ สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอกด้านวิทยาการจัดการจากมหาวิทยาลัย ESADE- Escuela Superior de Administración y Dirección de Empresas และปริญญาโทด้านเศรษฐศาสตร์และกฎหมายของยุโรป

 

คาดเศรษฐกิจไทยปีนี้ขยายตัว 2.9% 

ทั้งนี้ เมื่อวันพุธที่ผ่านมา (29 มิ.ย.) รายงานตามติดเศรษฐกิจไทย หรือ Thailand Economic Monitor ซึ่งเผยแพร่โดยธนาคารโลก คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจของไทยในปีนี้ (2022) จะขยายตัว 2.9% เมื่อเทียบปีต่อปี โดยได้แรงเกื้อหนุนจากการบริโภคภาคเอกชนและการฟื้นตัวของการท่องเที่ยว

 

รายงานระบุว่าเศรษฐกิจของไทย ซึ่งเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ป็นอันดับ 2 ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จะมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี 2022 และแตะระดับก่อนการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) ในช่วงไตรมาสที่ 4 เนื่องด้วยจำนวนผู้ป่วยที่ลดลง และการผ่อนปรนข้อจำกัดด้านพรมแดน พร้อมคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจของไทยจะเติบโตเพิ่มขึ้นถึง 4.3% ในปีหน้า (2023)

 

ธนาคารโลกคาดการณ์ว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไป (headline inflation) ของไทยในปี 2022 จะเพิ่มขึ้น 5.2% เมื่อเทียบปีต่อปี ขณะ อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน (core inflation) ซึ่งไม่นับรวมราคาอาหารและพลังงาน จะเพิ่มขึ้นแตะที่ 2.3% 

 

อัตราเงินเฟ้อภาคการบริโภคของไทยในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา เพิ่มขึ้น 7.1% เมื่อเทียบปีต่อปี ถือเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2008 ซึ่งเป็นผลมาจากราคาพลังงานและอาหารที่พุ่งสูงขึ้น นอกจากนั้น ธนาคารโลกยังคาดการณ์ว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเยือนไทยจะเพิ่มแตะที่ 6 ล้านคนในปีนี้ (2022) เพิ่มขึ้นจากระดับเพียง 400,000 คนในปี 2021 และคาดกว่าจะขยับเพิ่มแตะที่ 24 ล้านคนภายในปี 2024 หรือพ.ศ.2567 

 

นอกจากเงินเฟ้อที่เป็นความเสี่ยงหลักของเศรษฐกิจไทยแล้ว ยังมีความท้าทายจากนโยบายภาคการคลังที่ต้องติดตาม จากหนี้สาธารณะเพิ่มขึ้น 10% จากระดับ 49% มาเป็น 61%ของจีดีพี ขณะเดียวกันมองว่าการกู้ยืมใหม่ของรัฐบาลน่าจะหมดไปเพราะเข้าสู่การฟื้นตัว โดยคาดว่าระดับหนี้สาธารณะของไทยจะพุ่งสู่จุดสูงสุดที่ 62.5% ต่อจีดีพี ในปีงบประมาณ 2566 และต้องติดตามความเสี่ยงที่หนี้ครัวเรือนจะสูงกว่าระดับ 90% ต่อจีดีพีจากสิ้นปี 2564