สุดปัง ส่งออกทุเรียน ทะลุเป้า 4 เดือน 22 วัน

28 มิ.ย. 2565 | 17:52 น.
อัปเดตล่าสุด :29 มิ.ย. 2565 | 00:54 น.
753

นับถอยหลัง ใกล้สิ้นสุดฤดูกาลทุเรียนภาคตะวันออก “อลงกรณ์” โชว์ผลงาน ส่งออกทุเรียน ทะลุเป้า 4 เดือน 22 วัน สุดปัง ผ่าน เวที Fruit Board ชี้เป็นผลสืบเนื่องจาก “นโยบาย 5 ยุทธศาสตร์เฉลิมชัย” ได้ผล

อลงกรณ์ พลบุตร

 

นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานงานแถลงข่าวเผยแพร่ผลงานของคณะกรรมการพัฒนาและบริหารจัดการผลไม้ปี 2565 “มิติใหม่การบริหารจัดการผลไม้ ทุเรียนไทยส่งออกทะลุ 500,000 ตัน” พร้อมด้วยนายนวนิตย์ พลเคน รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร ณ ห้องประชุม 115 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ที่ผ่านมาภาคการเกษตรไทยต้องเผชิญกับปัญหาด้านการบริหารจัดการผลไม้ โดยเฉพาะทุเรียนซึ่งประเทศไทยเป็นแหล่งผลิตรายใหญ่ คุณภาพผลผลิตดี รสชาติเป็นเอกลักษณ์ และต่างประเทศให้การยอมรับ

 

ทั้งนี้ การบริหารจัดการผลไม้ในฤดูกาลให้เกิดประสิทธิภาพไม่เกิดภาวะราคาตกต่ำหรือมีการแทรกแซงราคา บิดเบือนกลไกตลาดจึงถือเป็นภารกิจที่ท้าทายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ขณะเดียวกันกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้เพิ่มความเข้มข้นในมาตรการยกระดับมาตรฐานต่าง ๆ ให้สูงขึ้น ไม่ว่าจะเป็นมาตรการ GAP Plus, GMP Plus และ Zero COVID เพื่อควบคุมและเฝ้าระวังการระบาดของโรคโควิด - 19 ในระดับสวนเกษตรกร

 

ช่วยลดเชื้อโรคและการปนเปื้อนในผลผลิต ด้านโรงคัดบรรจุมีการเพิ่มมาตรการความปลอดภัยในโรงคัดบรรจุ (COVID Free Setting) และมาตรฐานความปลอดภัยจากเชื้อโควิด - 19 ในผลไม้ สามารถช่วยให้เกษตรกรสามารถจำหน่ายผลผลิตได้สูงกว่าต้นทุนการผลิต และมีเสถียรภาพด้านราคาตลอดฤดูกาล

 

 

จาก “นโยบาย 5 ยุทธศาสตร์เฉลิมชัย” ของ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะประธานคณะกรรมการพัฒนาและบริหารจัดการผลไม้ (Fruit Board) นำมาสู่การปฏิรูปการดำเนินงานอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรและผู้ประกอบกิจการเกี่ยวกับผลไม้ในการพัฒนาและการบริหารจัดการผลไม้ทั้งระบบให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น รวมทั้งสร้างเกณฑ์มาตรฐานเกี่ยวกับความปลอดภัยด้านอาหารสำหรับผู้บริโภค ทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ เพื่อให้เป็นที่ยอมรับในเวทีการค้าโลก และสร้างความมั่นคงในอาชีพการปลูกและการผลิตไม้ผล โดยอาศัยความร่วมมือจาก 3 ฝ่าย คือ

 

สุดปัง ส่งออกทุเรียน ทะลุเป้า 4 เดือน 22 วัน

1. กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ชี้เป้าการผลิตให้ชัดเจน โดยจัดทำข้อมูลประมาณการผลผลิต (Supply) สำรวจและจัดเก็บข้อมูลเชิงพื้นที่อย่างละเอียด เช่น สภาพพื้นที่ ชนิดไม้ผล พันธุ์ ปริมาณ เกรด คุณภาพ ช่วงระยะเวลาการออกสู่ตลาด การกระจายตัวของผลผลิต เป็นต้น

 

2. กระทรวงพาณิชย์ เชื่อมโยงและหาตลาดรองรับผลผลิต โดยจัดทำข้อมูลความต้องการทางการตลาด (Demand) สำรวจและจัดทำข้อมูลความต้องการผลผลิตไม้ผลแต่ละชนิด ทั้งชนิดพันธุ์ ปริมาณ คุณภาพ ช่วงระยะเวลาความต้องการของผู้ประกอบการ (ผู้รวบรวม ผู้ส่งออก สหกรณ์ โรงงานแปรรูป และห้างสรรพสินค้าต่างๆ ทั้งผลสดและผลิตภัณฑ์แปรรูปผลไม้)

 

 

3. คณะกรรมการเพื่อแก้ไขปัญหาเกษตรกรอันเนื่องมาจากผลิตผลการเกษตรระดับจังหวัด (คพจ.) ปรับสมดุลข้อมูลของอุปทาน (Demand) และอุปสงค์ (Supply) ตามแนวทางของคณะกรรมการพัฒนาและบริหารจัดการผลไม้ โดยเชื่อมโยงข้อมูลประมาณการผลผลิต (Supply) ให้สอดคล้องกับความต้องการทางการตลาด (Demand) ของผลไม้แต่ละชนิด โดยมุ่งเน้นให้ผลลัพธ์สุทธิ เกิดความสมดุลและ/หรือเสมอภาคระหว่างข้อมูลประมาณการผลผลิตกับข้อมูลความต้องการทางการตลาด

 

สำหรับในปีนี้ประเทศไทยสามารถส่งออกทุเรียนได้ถึง 550,848.50 ตัน (ข้อมูล ณ 24 มิถุนายน 2565) ประกอบกับเกษตรกรชาวสวนทุเรียนภาคตะวันออกสามารถผลิตทุเรียนได้ถึง 732,330 ตัน และขณะนี้ใกล้สิ้นสุดฤดูกาลทุเรียนภาคตะวันออกแล้ว ซึ่งหากวิเคราะห์มูลค่าการส่งออกทุเรียนภาคตะวันออกโดยการคำนวณตัวเลขคร่าว ๆ ของทุเรียนส่งออกที่มีปริมาณ 80% ของทุเรียนทั้งหมด ทำให้คาดการณ์ได้ว่าปีนี้จะสามารถส่งออกทุเรียนได้ถึง 585,864 ตัน

สุดปัง ส่งออกทุเรียน ทะลุเป้า 4 เดือน 22 วัน

“การบริหารจัดการผลไม้ โดยคณะกรรมการพัฒนาและบริหารจัดการผลไม้ (Fruit Board) ตั้งแต่ปี 2562 ได้ดำเนินการมาถึงยุคแห่งการเปลี่ยนแปลงให้แตกต่างจากสินค้าเกษตรชนิดอื่น ใช้วิธีการแก้ไขที่ต้นเหตุ ด้วยการบริหารจัดการให้จบและเบ็ดเสร็จในแหล่งผลิตนั้น ๆ ก่อน เห็นได้จากแนวโน้มการเติบโตของราคาผลผลิตที่เกษตรกรสามารถขายได้ ตั้งแต่ปี 2562 - ปัจจุบัน ซึ่งมีแนวโน้มการเติบโตสูงขึ้น”

 

สำหรับก้าวต่อไปของ Fruit Board คือการรักษาความเป็นมืออาชีพในการบริหารจัดการผลไม้ โดยใช้แผนระยะยาว เพื่อพัฒนาและบริหารจัดการผลไม้ของประเทศไทย ตามแนวทางพัฒนาผลไม้ไทย พ.ศ. 2565 - 2570 เป็นแผนแม่บทสำหรับการพัฒนาผลไม้ไทยที่ครอบคลุมทั้ง Supply Chain และ Value Chain รวมถึงแผนระยะสั้น (ประจำฤดูกาล) โดยมีการบูรณาการกับคณะกรรมการเพื่อแก้ไขปัญหาเกษตรกรอันเนื่องมาจากผลิตผลการเกษตรระดับจังหวัด (คพจ.) ในการปรับสมดุลข้อมูลของอุปทาน (Demand) และอุปสงค์ (Supply) ผลไม้” นายอลงกรณ์ กล่าว

 

ด้านนายนวนิตย์ พลเคน รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า กรมส่งเสริมการเกษตรในฐานะเลขานุการ Fruit Board ได้ปฏิบัติหน้าที่ตามแนวทางพัฒนาและบริหารจัดการผลไม้แบบเบ็ดเสร็จ โดยมีคณะกรรมการเพื่อแก้ไขปัญหาเกษตรกรอันเนื่องมาจากผลิตผลการเกษตรระดับจังหวัด (คพจ.) เป็นแกนหลักในการกลั่นกรอง เชื่อมโยง บูรณาการ แผนงาน/โครงการ ในการพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานของผลไม้ รวมถึงการสร้างมูลค่าเพิ่มของผลไม้ตลอดฤดูกาลผลิต จากทุกหน่วยงานที่ เกี่ยวข้องภายในจังหวัด เพื่อจัดทำเป็นแผนบริหารจัดการผลไม้ (แผนแม่บท) ประจำปีของจังหวัดนั้น ๆ ตลอดจนบริหารจัดการ กำกับดูแลการดำเนินงานของหน่วยงานต่าง ๆ ให้เป็นไปตามแผน ซึ่งสอดคล้องตามแนวทางพัฒนาผลไม้ไทย พ.ศ. 2565 - 2570

สุดปัง ส่งออกทุเรียน ทะลุเป้า 4 เดือน 22 วัน

 

“สำหรับแนวโน้มการเติบโตของปริมาณผลผลิตไม้ผลตั้งแต่ปี 2560 - ปัจจุบัน พบว่า มีแนวโน้มการเติบโตเพิ่มขึ้นทั้งในส่วนของพื้นที่เก็บเกี่ยว และปริมาณผลผลิตของไม้ผลหลายชนิด เช่น ทุเรียน มีพื้นที่เก็บเกี่ยวผลผลิตเพิ่มขึ้นในรอบ 5 ปี ย้อนหลังตั้งแต่ปี 2560 - 2565 เฉลี่ยร้อยละ 15 และปริมาณผลผลิตที่เพิ่มขึ้น เฉลี่ยร้อยละ 7 เนื่องจากประเทศไทยมีสายพันธุ์ทุเรียนที่ดี ตลอดจนมีการใช้เทคโนโลยีทางการเกษตรของเกษตรกรได้อย่างเหมาะสม ทำให้สามารถบริหารจัดการสวนทุเรียนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ผลผลิตทุเรียนมีคุณภาพดี รสชาติเป็นที่ชื่นชอบของผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศ” รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าว

 

ทั้งนี้ ประเทศไทยมีพื้นที่ปลูกไม้ผลประมาณ 7.3 ล้านไร่ ผลไม้เศรษฐกิจที่สำคัญได้แก่ ทุเรียน มังคุด เงาะ ลองกอง ลำไย และลิ้นจี่ โดยในปี 2564 มีปริมาณผลผลิตของทั้ง 6 ชนิด รวมกัน 3,447,014 ตัน มีอัตราการเติบโต ร้อยละ 7.9 ปริมาณการส่งออกรวมกัน 2,007,348 ตัน อย่างไรก็ตาม ผลไม้เป็นสินค้าเกษตรที่มีความจำเพาะเจาะจง และมีความอ่อนไหวสูงมาก ให้ผลผลิตตามฤดูกาล และมักจะออกคราวละมาก ๆ (ออกกระจุกตัว) ในช่วงเวลาเดียวกัน มีอายุการเก็บรักษาสั้น ผลผลิตเน่าเสียง่าย เสี่ยงต่อภาวะราคาตกต่ำ ดังนั้นการบริหารจัดการผลไม้ของประเทศไทยให้ประสบความสำเร็จ เกิดความยั่งยืนมีเสถียรภาพทางราคา จึงเป็นโจทย์ที่มีความท้าทายมากด้วยข้อจำกัดและเงื่อนไขข้างต้น