ม.เชียงใหม่จับมือพันธมิตร เร่งสร้างมาตรฐานเครื่องวัดฝุ่นต้นทุนต่ำ

25 มิ.ย. 2565 | 08:35 น.
อัปเดตล่าสุด :25 มิ.ย. 2565 | 15:44 น.

กระทรวงการอุดมศึกษาฯโดยสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) และสถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติ (มว.) จับมือกับ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่(มช.) ลงนามความร่วมมือ พัฒนาระบบมาตรวิทยา ต่อยอดงานวิจัยและนวัตกรรม ยกระดับมาตรฐานเครื่องวัดฝุ่นละอองขนาดเล็กระบบเซ็นเซอร์ของประเทศไทย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ ที่ห้องดอยหลวง โรงแรมดวงตะวันเชียงใหม่ นางอัจฉรา เจริญสุข ผู้อำนวยการสถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติ ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ พร้อมด้วยศาสตราจารย์ ดร.นายแพทย์พงษ์รักษ์ ศรีบัณฑิตมงคล รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ รับมอบหมายจาก ศาสตราจารย์คลินิก นายแพทย์นิเวศน์ นันทจิต อธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้ลงนามบันทึกความเข้าใจความร่วมมือ (MOU) เพื่อพัฒนาระบบมาตรวิทยาร่วมกัน  

 

โดยทั้งสามฝ่ายได้ประกาศเจตนารมณ์ ในการขับเคลื่อนเพื่อยกระดับความน่าเชื่อถือของงานวิจัย และนวัตกรรมให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล ผ่านการใช้ระเบียบวิธีทางมาตรวิทยา เพื่อสนับสนุนความเชื่อมั่นในการใช้ประโยชน์จากงานวิจัยและนวัตกรรมในวงกว้าง ซึ่งทางสถาบันมาตรวิทยาจะสนับสนุนการวิเคราะห์ ทดสอบและสอบเทียบเครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ผลงานและนวัตกรรม ที่พัฒนาขึ้นภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ให้มีมาตรฐานเป็นที่ยอมรับต่อการนำไปใช้ประโยชน์ 

ม.เชียงใหม่จับมือพันธมิตร เร่งสร้างมาตรฐานเครื่องวัดฝุ่นต้นทุนต่ำ

ม.เชียงใหม่จับมือพันธมิตร เร่งสร้างมาตรฐานเครื่องวัดฝุ่นต้นทุนต่ำ

ในระยะแรกจะร่วมกันพัฒนามาตรฐาน เครื่องวัดฝุ่นละอองขนาดเล็กระบบเซ็นเซอร์ ซึ่งเป็นเครื่องวัดฝุ่นต้นทุนต่ำในประเทศไทย นำร่องด้วยการสร้างแนวทางการเทียบวัดมาตรฐานของเครื่องตรวจวัดฝุ่น DustBoy ที่พัฒนาในนามมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ภายใต้ทุนสนับสนุนจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ เพื่อให้ผู้ใช้ประโยชน์จากข้อมูลเครื่องวัดฝุ่นทั่วประเทศในปัจจุบันเกิดความเชื่อมั่น ต่อการนำข้อมูลไปใช้ในการเฝ้าระวัง และเตือนภัยสถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็ก และปัญหาสุขภาพที่เป็นผลกระทบจากมลพิษอากาศ

 

ศ.ดร.นายแพทย์พงษ์รักษ์ ศรีบัณฑิตมงคล รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า บันทึกความร่วมมือเพื่อพัฒนาระบบมาตรวิทยา ที่ทั้งสามฝ่ายจะได้ร่วมลงนามและดำเนินกิจกรรมความร่วมมือ จะครอบคลุมการจัดกิจกรรมทางวิชาการ การวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี การถ่ายทอดเทคโนโลยี การพัฒนาบุคลากรทั้งสามฝ่าย เพื่อเพิ่มศักยภาพให้บุคลากร รวมไปถึงการวิเคราะห์ ทดสอบ สอบเทียบเครื่องมือ อาทิ เครื่องวัดฝุ่นละอองขนาดเล็ก

ม.เชียงใหม่จับมือพันธมิตร เร่งสร้างมาตรฐานเครื่องวัดฝุ่นต้นทุนต่ำ

ม.เชียงใหม่จับมือพันธมิตร เร่งสร้างมาตรฐานเครื่องวัดฝุ่นต้นทุนต่ำ

มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ให้ความสำคัญกับการศึกษาวิจัย เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งในมิติของการสร้างนวัตกรรม ที่จะช่วยป้องกันปัญหา และมิติของการเยียวยารักษาสุขภาพ ดังที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่า พื้นที่ภาคเหนือตอนบนได้รับผลกระทบจากวิกฤติฝุ่นควันเป็นประจำทุกปี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่จึงมุ่งมั่นที่จะแก้ไขปัญหานี้  โดยได้มีการแต่งตั้งคณะทำงานด้านวิชาการ เพื่อสนับสนุนการแก้ไขปัญหาหมอกควันภาคเหนือ 

 

มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้รับทุนสนับสนุนการวิจัย จากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม(อว.) เพื่อออกแบบและพัฒนาเครื่อง DustBoy (ดัช – บอย) ซึ่งเป็นอุปกรณ์วัดฝุ่นละอองขนาดเล็กด้วยระบบเซ็นเซอร์ ภายใต้โครงการต่อเนื่องนับตั้งแต่ปี 2561 เป็นต้นมา ทำให้ปัจจุบัน DustBoy (ดัช – บอย) มีเครือข่ายจุดติดตั้งทั่วประเทศ ให้ประชาชนทั่วไปและหน่วยงานภาครัฐ อาทิ หน่วยงานสาธารณสุข องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น ได้ใช้ประโยชน์จากข้อมูล ในการเฝ้าระวังและเตือนภัยสถานการณ์หมอกควัน และปัญหาสุขภาพจากมลพิษอากาศเสมอมา

ม.เชียงใหม่จับมือพันธมิตร เร่งสร้างมาตรฐานเครื่องวัดฝุ่นต้นทุนต่ำ

รศ.ดร. เศรษฐ์ สัมภัตตะกุล หัวหน้าหน่วยวิจัยเพื่อการจัดการพลังงานและเศรษฐนิเวศ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่(มช.) กล่าวว่า คณะวิจัยมหาวิทยาลัยเชียงใหม่  ได้ดำเนินงานวิจัย เพื่อสนับสนุนการแก้ไขปัญหาหมอกควันมาโดยตลอด ทั้งด้านข้อมูลทางวิชาการ การติดตามสถานการณ์ และเสนอแนะแนวทางแก้ไขปัญหา ซึ่งเครื่องตรวจวัดคุณภาพอากาศเป็นนวัตกรรมที่ทีมวิจัย DustBoy ได้พัฒนาขึ้น เพื่อสนับสนุนการติดตามสถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็กในประเทศไทย เพื่อเป็นฐานข้อมูลคุณภาพอากาศ และเป็นการเฝ้าระวังเตือนภัยให้กับประชาชนทั่วไป

 

การพัฒนาเครื่องตรวจวัดคุณภาพอากาศ DustBoy นำโดยหน่วยวิจัยเพื่อการจัดการพลังงาน และเศรษฐนิเวศ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้รับทุนสนับสนุนการทำวิจัยจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ(วช.) ตั้งแต่ปี 2559 เป็นต้นมา และมีการขยายผลติดตั้งเครื่อง DustBoy ทั่วประเทศไทย ภายใต้โครงการ “การเฝ้าระวังและเตือนภัยปัญหาหมอกควัน โดยเครื่องตรวจวัดคุณภาพอากาศระบบเซ็นเซอร์ DustBoy” ทั้งหมด 4 ระยะ  ซึ่งในระยะที่ 1 ดำเนินการติดตั้งทั้งหมด 100 จุด ระยะที่ 2 - 120 จุด ระยะที่ 3 - 200 จุด และระยะที่ 4 - 500 จุด ทำให้ปัจจุบัน DustBoy มีเครือข่ายจุดติดตั้งที่เข้มแข็งทั่วประเทศ ด้วยความร่วมมือของกลุ่มอาสา DustBoy เป็นผู้ประสานงานในแต่ละจุดติดตั้ง

 

ที่ผ่านมางานวิจัยของ DustBoy ได้ร่วมดำเนินการทั้งกับหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคมในประเทศไทย และหน่วยงานในต่างประเทศ เช่น เยอรมัน และสหรัฐอเมริกา ข้อมูลของ DustBoy มีการเผยแพร่เป็นข้อมูลสาธารณะ ผ่านเว็บไซต์และแอปพลิเคชัน ทั้งยังมีการเชื่อมโยงข้อมูลไปใช้ในแพลตฟอร์มของหน่วยงานต่าง ๆ เช่น ผ่อดีดี, AirCMI และถูกนำไปใช้การแจ้งเตือนระดับท้องถิ่น ดังเช่น ระบบเฝ้าระวังสื่อสารความเสี่ยงฝุ่นควัน เขตสุขภาพที่ 1

 

DustBoy ยังมีการบูรณาการข้อมูลร่วมกับเครือข่ายเซ็นเซอร์ตรวจวัดคุณภาพอากาศอื่น ๆ ในประเทศไทย รวมกว่า 1,800 จุด ผ่านการลงนามความร่วมมือการใช้ประโยชน์จากข้อมูล และขยายเครือข่ายข้อมูลตรวจวัดคุณภาพอากาศ ร่วมกับ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด และมหาวิทยาลัยเชียงใหม่

 

คณะวิจัยมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และทีมพัฒนา DustBoy ได้รับการสนับสนุนจาก วช. เป็นอย่างดีมาโดยตลอด และการลงนามความร่วมมือกับสถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติในครั้งนี้ จะเป็นก้าวต่อไปของงานวิจัยเครื่องตรวจวัดคุณภาพอากาศ ที่จะสร้างมาตรฐานให้เป็นไปตามหลักสากล และเพิ่มความเชื่อมั่นในการใช้ประโยชน์ จากเครื่องตรวจวัดคุณภาพอากาศระบบเซ็นเซอร์ของประเทศไทยต่อไป

 

ภายในงานยังมีการจัดแสดงพัฒนาการของเครื่องวัดฝุ่น DustBoy ซึ่งได้รับทุนสนับสนุนจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ตั้งแต่ปี 2559 เป็นต้นมา พร้อมทั้งเครือข่ายข้อมูลฝุ่นที่ครอบคลุมทั่วประเทศ แสดงผลบนแพลตฟอร์มหลากหลาย รวมไปถึงการต่อยอดงานวิจัยพัฒนาเป็นรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า DustBoy EV-Bike ด้วย

 

หลังเสร็จสิ้นพิธีลงนาม คณะผู้ลงนามได้เดินทางไปเยี่ยมชม ส่วนหนึ่งของการดำเนินงานของคณะทำงานด้านวิชาการ   เพื่อสนับสนุนการแก้ไขปัญหาหมอกควันภาคเหนือ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ณ ศูนย์วิจัยวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่อีกด้วย