หอเชียงใหม่ตั้งอะคาเดมี  ‘ปั้นคนดิจิทัล’รับเศรษฐกิจใหม่

30 พ.ค. 2565 | 06:13 น.

หอการค้าเชียงใหม่จับมือมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ตั้งสถาบันพัฒนาทักษะ CCC Academy สร้างคนดิจิทัลตรงและทันความต้องการธุรกิจ จัดหลักสูตรข้ามทุกข้อจำกัด ปริญญาโทจบในปีเดียว เทียบโอนหน่วยกิตได้ เรียนแบบโค้ชชิ่งกับผู้เชี่ยวชาญทั้งภาครัฐ-เอกชน รับเทรนด์เศรษฐกิจใหม่

นายจุลนิตย์ วังวิวัฒน์ ประธานหอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ เปิดเผยว่า ได้ร่วมมือกับวิทยาลัยศิลปะ สื่อ และเทคโนโลยี (CAMT) มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (ม.ช.) จากที่เล็งเห็นความจําเป็นในการสร้างบุคลากร ที่มีทักษะด้านดิจิทัล ด้วยกระบวนการจัดการศึกษา ในรูปแบบใหม่ที่แตกต่างจากมาตรฐานการศึกษาแบบเดิม จึงพัฒนา “สถาบันพัฒนาทักษะแห่งหอการค้าเชียงใหม่” (Chiang Mai Chamber of Commerce Academy- CCC Academy ขึ้น

 

โครงการนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาบุคลากรที่มีทักษะสูง ตรงตามความต้องการของภาคธุรกิจอย่างรวดเร็ว มีความสามารถในการเป็นผู้เรียนรู้ตลอดชีวิต สร้างระบบเทียบ โอนผลการศึกษาที่รวดเร็ว และมีกระบวนการที่เชื่อถือได้ระหว่างภาคเอกชนและสถาบันการศึกษา ที่เข้าร่วมในอนาคต

นายจุลนิตย์ วังวิวัฒน์ ประธานหอการค้าจังหวัดเชียงใหม่

 

หอเชียงใหม่ตั้งอะคาเดมี  ‘ปั้นคนดิจิทัล’รับเศรษฐกิจใหม่

หอการค้าเชียงใหม่มีแผนจะเปิดรับผู้เรียนหลักสูตรในรูปแบบใหม่จํานวน 50 คน ในปลายปี พ.ศ. 2565 ซึ่งจะได้รับปริญญาวิทยาศาสตร์มหาบัณฑิต สาขาวิชาการจัดการเทคโนโลยีดิจิทัล (Digital Technology Management) และสามารถเรียนจบได้ภายในระยะเวลา 1 ปี และจะเปิดรับผู้เรียนใน รูปแบบ Non-Degree จํานวน 500 คน ในปี พ.ศ. 2566 ซึ่งจะได้รับประกาศ นียบัตรจาก CCC Academy ที่สามารถ นําไปเทียบโอนหน่วยกิตของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และมหาวิทยาลัยอื่นๆ ที่จะเข้าร่วมเป็นพันธมิตรต่อไปในอนาคต

 

โดยผู้เรียนจะได้รับประสบการณ์ตรงจากผู้เชี่ยวชาญสมาชิกหอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ รวมถึงหอการค้าทั่วประเทศ และร่วมกิจกรรมการพัฒนาทักษะจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และมหาวิทยาลัยเครือข่าย ทั้งในและต่างประเทศ มีโอกาสในการศึกษาดูงานจากบริษัทชั้นนําในต่างประเทศ และมีโค้ชที่ช่วยให้ผู้เรียนสามารถประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัล ไปปฏิรูปการทํางานหรือธุรกิจของตนเองได้จริง

หอเชียงใหม่ตั้งอะคาเดมี  ‘ปั้นคนดิจิทัล’รับเศรษฐกิจใหม่

หอเชียงใหม่ตั้งอะคาเดมี  ‘ปั้นคนดิจิทัล’รับเศรษฐกิจใหม่

นายจุลนิตย์ กล่าวอีกว่า เนื่อง จากไทยกําลังเผชิญความท้าทายในหลายรูปแบบ ทั้งการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อม (environmental change) การเปลี่ยนแปลงทางด้านเศรษฐกิจ (economical change) การเปลี่ยนแปลงทางด้านสังคม (social change) และการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี (technology change) ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว จนเกิดผลกระทบกับหลายธุรกิจ ที่ในปัจจุบันความต้องการทักษะแรงงานก็เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็วเช่นกัน

 

ด้านผศ.ดร.จิราวิทย์ ญาณจินดา รองคณบดีฝ่ายวิชาการ วิทยาลัยศิลปะ สื่อ และเทคโนโลยี กล่าวว่า การร่วมมือจัดตั้ง CCC Academy ครั้งนี้ เนื่องจากกระแสการปลี่ยนแปลงในโลกเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วตั้งแต่ก่อนโควิด-19 ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสิ่งแวดล้อม สังคม เศรษฐกิจ หรือแม้กระทั่งเรื่องของเทคโนโลยี ทั้งภาครัฐและภาคเอกชนต่างต้องการกำลังแรงงานทักษะขั้นสูง ที่ตรงกับความต้องการ แต่เนื่องจากว่ารูปแบบการศึกษาแบบเดิมๆ พัฒนาแรงงานไม่ทันกับความต้องการ เช่น หลักสูตรการเรียนระดับบัณฑิตศึกษา (ปริญญาโท) ใช้เวลาอย่างน้อย 2 ปี จึงมีแนวคิดพัฒนาสถาบันที่ก้าวข้ามข้อจำกัดนี้

ผศ.ดร.จิราวิทย์ ญาณจินดา รองคณบดีฝ่ายวิชาการ วิทยาลัยศิลปะ สื่อ และเทคโนโลยี

“เราจะนำสถาบันพัฒนาทักษะแห่งหอการค้าเชียงใหม่ (CCC Academy ) มาจัดการเรียนรู้ ภายใต้หลักสูตรปริญญาโทด้านการจัดการเทคโนโลยีดิจิทัล (Digital Technology Management) ของวิทยาลัยศิลปะ สื่อ และเทคโนโลยี โดยคาดหวังว่า ผู้จบหลักสูตรนี้ จะสามารถประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัล (Digital Transformation) ให้เข้ากับอุตสาหกรรม หรือธุรกิจการงานที่ตัวเองกำลังทำอยู่ และจะมีการพัฒนาในเรื่องของทักษะขั้นสูงต่อไป”

 

นอกจากนี้ยังก้าวข้ามข้อจำกัดของการเทียบโอนหน่วยกิตจากสถาบันอื่นๆ ที่เดิมมีข้อจำกัด ตอนนี้เราเริ่มให้มีการเทียบโอนได้รวดเร็วมากขึ้น รวมถึงรูปแบบการจัดการ เรียนการสอนแบบใหม่ ไม่ต้องมานั่งเรียนในห้องกับอาจารย์ เปลี่ยนเป็นเรียนกับบุคลากร เช่น สมาชิกผู้เชี่ยว ชาญธุรกิจต่างๆ ของหอการค้า ภาคอุตสาหกรรม หรือหน่วยงานภาครัฐ ในรูปแบบของโค้ชให้กับผู้เรียน ทำโปรเจ็กต์ร่วมกับภาคอุตสาหกรรม

หอเชียงใหม่ตั้งอะคาเดมี  ‘ปั้นคนดิจิทัล’รับเศรษฐกิจใหม่

ทั้งนี้ เพื่อสนับสนุนการเรียนรู้ตลอดชีวิต สำหรับผู้เข้ามาเรียนเบื้องต้นที่ไม่มุ่งหวังปริญญา สามารถลงเรียนเพื่อเก็บชั่วโมงเรียนเป็นเครดิตได้ สามารถสะสมไว้ ในอนาคตเมื่อต้องการจบปริญญาโท สามารถนำหน่วยกิตเหล่านี้มาเทียบโอนได้ ไม่เพียงหน่วยกิตจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ แต่จะขยายถึงมหาวิทยาลัยในเครือข่ายที่กว้างขวางยิ่งขึ้นในอนาคต

 

“หลักสูตรนี้พยายามให้จบปริญญาโทใน 1 ปี เปลี่ยนเกรดจาก A-F เป็น S/U การประเมินไม่ใช่เฉพาะอาจารย์ แต่ประเมินผ่านโค้ชด้วย บวกกับผลงานของบัณฑิต เพื่อจะพัฒนาบุคลากร หรือบัณฑิตที่มีทักษะขั้นสูงตรงกับความต้องการของตลาดแรงงาน ให้ทันใช้งานภายใน 1 ปีและสามารถเรียนรู้ได้ตลอดชีวิต และหลักสูตร Non-Degree สามารถมา Re Skillและ Up Skill ได้ตลอด” 

 

นภาพร ขัติยะ/รายงาน

หน้า 10 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 42 ฉบับที่ 3,787 วันที่ 29 พฤษภาคม-1 มิถุนายน 2565