เปิดตัว “กัญชา เพชรชมพู” เตรียมขึ้นทะเบียนกัญชาน้องใหม่

23 มิ.ย. 2565 | 18:35 น.
อัปเดตล่าสุด :24 มิ.ย. 2565 | 07:12 น.
1.2 k

อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เตรียมขึ้นทะเบียนรับรองพันธุ์ “กัญชา เพชรชมพู” ดึงเข้าร่วมโครงการ 1 ล้านต้น อนาคต เล็งทำ MOU กับ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วิจัยพัฒนา กัญชา กัญชง ต่อไป

ในวันที่ 23 มิถุนายน 2565 นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร  เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่าวันนี้นายสุรกิตติ ศรีกุล ผู้ทรงคุณวุฒิด้านการผลิตพืช นายสมคิด ดำน้อย ผู้อำนวยการศูนย์บริหารจัดการพืชกัญชา กัญชง และกระท่อมแบบเบ็ดเสร็จ และนายป่าน ปานขาว ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยการคุ้มครองพันธุ์พืช กรมวิชาการเกษตร ให้การต้อนรับ ศ.ดร.จิตรลดา อารีย์สันติชัย รองคณบดี วิทยาลัยสาธารณะสุข และผู้อำนวยการศูนย์วิจัยยาเสพติด (WHOCC) บ้านสุขภาพ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และคณะ ซึ่งได้รับมอบหมายจาก อธิการบดี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ทำการยื่นคำขอรับหนังสือรับรองพันธุ์พืชขึ้นทะเบียน ตาม พรบ.พันธุ์พืช 2518

 

ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยยาเสพติด บ้านสุขภาพ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ร่วมมือกับ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ที่ปรึกษา) ทำการศึกษาวิจัยกัญชาสายพันธุ์ “ตะนาวศรี” โดยได้ทำการศึกษาวิจัยอย่างต่อเนื่องมากว่า 3 ปี และเริ่มปลูกกัญชาต้นแรกในวันที่ 28 กรกฎาคม 2563 จนสามารถพัฒนาได้สายพันธุ์ดีตรงตามความต้องการ และให้ชื่อว่า “เพชรชมพู 1-5” ซึ่งกัญชาทั้ง 5 สายพันธุ์มีลักษณะดีเด่นแตกต่างกัน ตั้งแต่สายพันธุ์ที่มีการเจริญเติบโตด้านกิ่งก้านและการสร้างใบที่ดี, สายพันธุ์ที่ให้ปริมาณสารสำคัญ THC เด่น และสายพันธุ์ที่ให้ปริมาณสาร THC : CBD อัตรา 1:1 ทำให้ง่ายต่อการสกัดและการใช้ประโยชน์ทางการแพทย์

โดยก่อนหน้านี้ กรมวิชาการเกษตร ได้ออกหนังสือรับรองพันธุ์พืชขึ้นทะเบียนไปแล้วจำนวน 13 ฉบับ แบ่งเป็น พืชกัญชงจำนวน 5 สายพันธุ์ และ พืชกัญชาจำนวน 8 สายพันธุ์ และอยู่ระหว่างดำเนินการตรวจสอบข้อมูล เพื่อรอออกหนังสือรับรองพันธุ์พืชขึ้นทะเบียนอีก 19 สายพันธุ์ (กัญชง 11 สายพันธุ์ และกัญชา 8 สายพันธุ์) กรมวิชาการการเกษตร จึงขอเชิญชวนให้ประชาชน และนักปรับปรุงพันธุ์ที่มีพืชพันธุ์ใหม่มาขึ้นทะเบียนพันธุ์ ตาม พรบ.พันธุ์พืช 2518 ซึ่งใช้ระยะเวลาในการดำเนินการดังกล่าวไม่เกิน 60 วันทำการ

 

อย่างไรก็ดีนายระพีภัทร์ กล่าวในตอนท้ายว่า กรมวิชาการเกษตร เตรียมทำ MOU กับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วัตถุประสงค์วิจัยพัฒนา กัญชา กัญชง ด้วย พร้อมกันจะนำเมล็ดพันธุ์เพชรชมพู เข้าร่วมโครงการ 1 ล้านต้น ของรัฐบาลหรือประมาณ 500,000 ครัวเรือน ภายหลังการปลดล็อกวันที่ 9 มิ.ย. 2565 ให้กัญชา กัญชง และกระท่อมไม่เป็นพืชในบัญชียาเสพติดอีกต่อไป ทั้งนี้สามารถลงทะเบียนแจ้งความจำนงได้ตั้งแต่วันที่ 16 มิ.ย.65 เป็นต้นไป ที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตร (ศวพ.) ของกรมวิชาการเกษตรทั่วประเทศซึ่งมีอยู่ 53 จังหวัด กรณีจังหวัดใดไม่มีศวพ. ให้ลงทะเบียนได้ที่สำนักงานสหกรณ์จังหวัดนั้น ๆ หรือผ่านระบบออนไลน์