57 โรงงานน้ำตาลถอยไม่ลาออก 5 กรรมการ สอน.พร้อมจัดเวทีถกชาวไร่เคลียร์ปัญหา

23 มิ.ย. 2565 | 03:30 น.

57 โรงงานน้ำตาลยอมถอย ชะลอลาออกคณะกรรมการ 5 คณะ หลัง สอน.กล่อมให้เห็นแก่อนาคตอุตสาหกรรมในภาพรวม ช่วยกันขับเคลื่อนไปข้างหน้า สอน.พร้อมเป็นตัวกลางจัดเวทีถกชาวไร่ เคลียร์ปมแบ่งปันผลประโยชน์ “ผลพลอยได้” โรงงานพร้อมแจงเวทีวุฒิสภาให้ทบทวน ขณะชาวไร่เชียร์เดินหน้า

 

จากที่ร่างพระราชบัญญัติอ้อยและน้ำตาลทราย (ฉบับที่) พ.ศ. .... ได้ผ่านการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร (สภาล่าง) และกำลังจะนำเข้าสู่การพิจารณาของวุฒิสภา สาระสำคัญได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมบทนิยามของคําว่า “ผลพลอยได้” ให้ครอบคลุมผลพลอยได้อื่นที่ได้จากการผลิตน้ำตาล เช่น เอทานอล กากอ้อย และชานอ้อย ที่มีคุณค่าและมูลค่าทางเศรษฐกิจในยุคปัจจุบัน ทั้งนี้เพื่อแบ่งปันผลประโยชน์ในระบบ 70 : 30 ที่ใช้มาตั้งแต่ฤดูกาลผลิต 2525/26 (ชาวไร่อ้อย 70 โรงงาน 30) ให้เกิดความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย

 

อย่างไรก็ดีจากร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้แก้ไขเพิ่มเติมนี้ กำลังสร้างความปั่นป่วนให้กับอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลไทยทั้งระบบ จากกลุ่มโรงงานน้ำตาล 57 รายทั่วประเทศ มองว่าไม่เป็นธรรม และไม่เห็นด้วยกับแนวทางดังกล่าว โดยระบุไม่ได้อยู่ในหลักเกณฑ์การแบ่งปันผลประโยชน์ที่มีมาแต่ในอดีต และมีกระแสข่าวโรงงานน้ำตาลได้มีมติร่วมกันว่า จะทำหนังสือลาออกจากคณะกรรมการที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทั้ง 5 คณะนั้น ล่าสุด (21 มิ.ย.65) ทางสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) ได้เชิญตัวแทนจากกลุ่มโรงงานน้ำตาลร่วมประชุมหารือ

 

หลังการหารือ นายเอกภัทร วังสุวรรณ เลขาธิการคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย กระทรวงอุตสาหกรรมเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า จากการหารือร่วมกับตัวแทนกลุ่มโรงงานครั้งนี้ ทาง สอน.ได้ชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของคณะกรรมการในชุดต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาล ที่ยังต้องมีคณะกรรมการที่เป็นตัวแทนจาก 3 ฝ่าย คือ ภาครัฐ โรงงาน และชาวไร่อ้อย ร่วมพิจารณาในหลายเรื่องสำคัญเพื่อขับเคลื่อนอุตสาหกรรมไปข้างหน้า ซึ่งทางฝ่ายโรงงานที่เข้าร่วมหารือในวันนี้ ได้รับปากจะยังไม่ลาออกจากคณะกรรมการในชุดต่าง ๆ

 

เอกภัทร  วังสุวรรณ

 

“แม้ตัวแทนฝ่ายโรงงานจะไม่เห็นด้วยกับหลักเกณฑ์การแบ่งปันผลประโยชน์เรื่องผลพลอยได้ที่เพิ่มเติมเข้ามา แต่ก็เห็นความสำคัญของอุตสาหกรรมที่ต้องขับเคลื่อนไปข้างหน้า ซึ่งคณะกรรมการชุดต่าง ๆ จำเป็นต้องมีตัวแทนจากฝ่ายโรงงาน ดังนั้นจึงยังไม่ลาออกในช่วงนี้ อย่างไรก็ดี ทาง สอน. จะเป็นตัวกลางในการจัดเวทีหารือร่วมระหว่างโรงงานกับชาวไร่อ้อยเพื่อหาทางออกร่วมกันต่อไป จากเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ค่อนข้างมีความละเอียดอ่อน”

 

ภาพจาก nationtv.tv

 

แหล่งข่าวจากโรงงานน้ำตาลที่เข้าร่วมประชุม เผยว่า อ้อยและน้ำตาลทรายของไทยมีกฎหมายพิเศษดูแลโดยเฉพาะมาตั้งแต่ปี 2527 มีหลักการและหลักเกณฑ์การแบ่งปันผลประโยชน์อย่างชัดเจน ทำให้อุตสาหกรรมน้ำตาลของไทยเติบใหญ่ โรงงานมีการขยายกำลังผลิต ช่วยให้ชาวไร่อ้อยขยายพื้นที่เพาะปลูกได้ทั่วประเทศ แต่จากสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป ผลพลอยได้จากอ้อย ส่วนหนึ่งโรงงานได้ไปคิดค้นนวัตกรรม และลงทุนให้เกิดคุณค่าทางเศรษฐกิจ ทางชาวไร่จะมาขอแบ่งผลประโยชน์ในส่วนนี้จึงมองว่าไม่เป็นธรรม

 

“กฎหมายอ้อยและน้ำตาลทรายเวลาผ่านไป บางฝ่ายอาจเกิดความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน ซึ่งในการหารือกับ สอน.ครั้งนี้ได้ข้อตกลงที่เราจะยังเดินต่อไปร่วมกัน แต่จะเดินอย่างไรต่อจะได้จัดเวทีหารือร่วมกัน 3 ฝ่าย เพื่อกำหนดกรอบข้อตกลงร่วมกันต่อไป และจากที่ร่าง พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทราย ฉบับแก้ไขนี้ได้ผ่านการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรแล้ว และกำลังจะเข้าสู่การพิจารณาของวุฒิสภา ทางตัวแทนโรงงานน้ำตาลจะได้เข้าไปชี้แจงถึงที่มาที่ไปของหลักการแบ่งผลประโยชน์ รวมถึงเหตุและผลที่คัดค้านต่อไป”

 

57 โรงงานน้ำตาลถอยไม่ลาออก 5 กรรมการ สอน.พร้อมจัดเวทีถกชาวไร่เคลียร์ปัญหา

 

แหล่งข่าวจากชาวไร่อ้อย กล่าวว่า เห็นด้วยอย่างยิ่งกับการบรรจุกากอ้อย หรือชานอ้อย ซึ่งเป็นผลพลอยได้เข้ามาอยู่ในหลักการแบ่งปันผลประโยชน์ในร่างกฎหมายฉบับแก้ไขปรับปรุงนี้ เพราะปัจจุบันกากอ้อย และชานอ้อยมีประโยชน์ทางเศรษฐกิจมากขึ้น เช่น เป็นวัตถุดิบในการผลิตสินค้า เป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้า และอื่น ๆ ดังนั้นชาวไร่อ้อยก็ควรได้รับประโยชน์เพิ่มขึ้นในส่วนนี้ด้วย

 

หน้า 1 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3794 วันที่ 23 - 25 มิถุนายน 2565