4 เรื่องใหญ่ต้องจับตา ดันราคาน้ำตาลขาขึ้น ไทยรับอานิสงส์ถึงปีหน้า

18 พ.ค. 2565 | 08:30 น.
อัปเดตล่าสุด :18 พ.ค. 2565 | 15:28 น.
1.9 k

สงครามรัสเซีย-ยูเครนที่ยืดเยื้อ ยังส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ การค้า เงินเฟ้อ ราคาสินค้า ราคาพลังงาน ค่าขนส่ง ต้นทุนการผลิต รวมถึงซัพพลายเชนของโลกโดยรวมอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะราคาน้ำตาลทรายดิบ หนึ่งในสินค้าเกษตรสำคัญของไทยที่มีบทบาทในตลาดโลก

 

4 เรื่องใหญ่ต้องจับตา ดันราคาน้ำตาลขาขึ้น ไทยรับอานิสงส์ถึงปีหน้า

 

นายอภิชาติ ลักษณะสิริศักดิ์  ผู้จัดการทั่วไป บริษัท อ้อยและน้ำตาลไทย จำกัด (อนท.) ให้สัมภาษณ์พิเศษ “ฐานเศรษฐกิจ” ถึงผลที่เกิดจากสงครามรัสเซีย-ยูเครนที่ต้องจับตามอง  และประเมินทิศทางและภาพรวมของอุตสาหกรรมน้ำตาลที่เชื่อมโยงกับอาหาร ที่คนทั่วโลกยังต้องบริโภค  โดยมองว่าราคาน้ำตาลทรายดิบน่าจะผันผวนมากตามราคาน้ำมัน และค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ที่มีความผันผวน แต่จะยังคงตัวในระดับที่สูงกว่า 17 เซนต์ต่อปอนด์ (คาดสงครามสหรัฐฯกับรัสเซียในทุกรูปแบบไม่น่าจะจบได้เร็ว) ตลาดน้ำตาลในระดับโลก น่าจะมีความผันผวนของปริมาณการผลิต และราคามากขึ้น เนื่องจากปัจจัยที่มีผลกระทบเริ่มมีความไม่แน่นอนและคาดเดายากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของภัยธรรมชาติ และการเปลี่ยนผ่านของดุลอำนาจในระดับโลก ใน 1-2 ปีข้างหน้า

 

อภิชาติ  ลักษณะสิริศักดิ์

 

  • สงครามไม่ใช่แค่น้ำมันแพง

นอกจากนี้ยังตั้งข้อสังเกตอีกว่า สงครามรัสเซีย-ยูเครนครั้งนี้ จะสร้างปรากฏการณ์ที่ทำให้ทั้งไทยและโลกต้องจับตา 4 เรื่องใหญ่คือ1.ต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น โดยเฉพาะราคาปุ๋ยและยาปราบศัตรูพืชที่แพงขึ้นตามราคาน้ำมันในตลาดโลกและเกิดการขาดแคลน  2.ราคาน้ำมันดิบโดยเฉลี่ยทั้งปีนี้จะอยู่ในระดับไม่น้อยกว่า 100 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ทั้งนี้สงครามรัสเซีย-ยูเครนยิ่งยืดเยื้อออกไป จะทำให้บราซิลใช้อ้อยไปผลิตเป็นเอทานอลมากขึ้น และจะส่งผลให้ราคาน้ำตาลน่าจะทรงตัวในระดับสูง (มากกว่า 17 เซนต์ต่อปอนด์) ไปอีกระยะหนึ่ง

 

 3.มีความกังวลเรื่องความมั่นคงทางด้านอาหาร เช่น อาจจะเกิดสงครามระหว่างจีนกับสหรัฐฯ หรือ การโอนย้ายสินค้าจากผู้ซื้อไปยังผู้ขายไม่คล่องตัว เป็นต้น และอาจจะมีการสำรองสินค้าคงคลังให้มากขึ้นกว่าเดิม ส่งผลให้ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ทางด้านอาหารของโลกสูงขึ้น (น้ำตาลเป็นส่วนหนึ่งที่ได้รับผลกระทบดังกล่าว) รวมถึงการที่กองทุนรวมต่าง ๆ ในระดับโลก อาจจะมีการโยกย้ายเงินลงทุน ในสัดส่วนที่มากขึ้น โดยมาลงทุนในสินทรัพย์ที่จับต้องได้ทางด้านอาหาร

 

4 เรื่องใหญ่ต้องจับตา ดันราคาน้ำตาลขาขึ้น ไทยรับอานิสงส์ถึงปีหน้า

 

 

4.ความน่าเชื่อถือในระบบการเงินรูปแบบเดิม ๆ จะลดลง (ระบบพิมพ์แบงก์ใช้ได้เอง หรือระบบโอนเงินแบบ SWIFT) ทำให้ความนิยมในสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐฯจะลดลง  สาเหตุหลักอันหนึ่งเนื่องมาจากสหรัฐฯ มีหนี้มากถึง 30 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯในปัจจุบัน  ตัวอย่างเช่น จีน และอินเดีย ไม่ได้ซื้อน้ำมันจากรัสเซีย เป็นเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐฯแล้ว และมีข่าวว่าซาอุดิอาระเบีย อาจจะเริ่มขายน้ำมันให้จีนในรูปสกุลเงินหยวน เป็นต้น ซึ่งจะส่งผลให้ราคาสินค้าโภคภัณฑ์สูงขึ้นตามการด้อยค่าลงของเงินดอลลาร์สหรัฐฯ

 

“สงครามรัสเซีย ยูเครน รอบนี้ไม่ใช่แค่เรื่องที่ทำให้ราคาน้ำมันแพงขึ้น แต่ยังเป็นสงครามที่ไม่อยากให้เงินสกุลดอลลาร์สหรัฐฯมีบทบาทครองโลกต่อไป และไม่ใช้เงินดอลลาร์สหรัฐฯเป็นตัวหลักแต่ควรมีสกุลเงินอื่น ๆ และระบบการโอนเงินอื่น ๆ ที่สร้างความสมดุลในโลกมากขึ้น ซึ่งถ้าเงินดอลลาร์สหรัฐฯอ่อนค่าก็จะทำให้ราคาสินค้าโภคภัณฑ์สูงขึ้น”

 

  • จับตาน้ำตาลโลกขาดแคลน

นอกจากนี้หากมองในแง่ Demand และ Supply ของน้ำตาลโลก ในปีนี้น่าจะเป็นส่วนเกิน (Surplus) มากกว่าเล็กน้อย เนื่องจากอินเดียส่งออกได้มาก (มากกว่า 8.5 ล้านตัน) ในขณะที่การบริโภคน่าจะเริ่มฟื้นตัวได้บ้าง ส่วนปีหน้า (2565-2566) น่าจะมีส่วนขาดมากกว่า จากบราซิลผู้ผลิตรายใหญ่จะใช้อ้อยไปผลิตเป็นเอทานอลมากขึ้น และอินเดียไม่น่าจะส่งออกได้มากเหมือนปี 2564-2565 เนื่องจากสินค้าคงคลังน่าจะลดต่ำลงมาก และจะนำอ้อยไปผลิตเอทานอลมากขึ้นเช่นกัน แม้ว่าไทยจะผลิตเพิ่มได้มากขึ้นบ้าง ส่วนการบริโภคน่าจะกลับมาในภาวะปกติเหมือนก่อนมีโควิด

 

4 เรื่องใหญ่ต้องจับตา ดันราคาน้ำตาลขาขึ้น ไทยรับอานิสงส์ถึงปีหน้า

 

อุตฯน้ำตาลขาขึ้นถึงปีหน้า

นายอภิชาติ กล่าวอีกว่า หากโฟกัสมาที่ไทย น่าจะเน้นการส่งออกเป็นน้ำตาลทรายขาวในสัดส่วนที่มากขึ้น เนื่องจากคู่แข่งขันมีต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้นจากราคาพลังงานที่แพงขึ้นมากในปัจจุบัน  และราคา White premium ก็สูงมากเช่นกัน ส่วนสถานะโรงงานน้ำตาลในประเทศก็น่าจะกลับมามีกำไรได้เป็นกอบเป็นกำในปีนี้ เนื่องจากราคาดีขึ้นและจำนวนอ้อยที่เพิ่มมากขึ้น และคาดว่าจะดีต่อเนื่องไปถึงปีหน้า อย่างไรก็ดีโรงงานต้องสร้างแรงจูงใจและการสนับสนุนให้กับเกษตรกรมากขึ้น เพื่อให้ปริมาณอ้อยไม่น้อยกว่า 90-100 ล้านตัน ในอนาคต

 

อย่างไรก็ตามมองว่าการแก้ไข พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาล น่าจะมีการเน้นถึงความมั่นคงของกองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย ที่จะต้องมีแหล่งเงินเข้าไปสู่กองทุนให้มากขึ้นกว่าเดิม และต้องมีจำนวนสะสมที่ใหญ่เพียงพอ เพื่อให้สามารถรองรับความผันผวนของราคาอ้อยในช่วงที่ราคาตกต่ำได้อย่างน้อย 2 ฤดูการผลิต เพื่อสร้างความเชื่อมั่นในระบบอ้อยและน้ำตาลมากขึ้น

 

  • ห่วงภัยธรรมชาติมากที่สุด

เมื่อถามว่าระหว่างภัยธรรมชาติ  สงคราม และโรคระบาด(โควิด) ปัญหาใดกระทบต่ออุตสาห กรรมอ้อยและน้ำตาลมากที่สุด  นายอภิชาติ อธิบายว่า  ภัยธรรมชาติน่าจะกระทบมากที่สุด จากเป็นปัจจัยที่ไม่สามารถควบคุมได้ และเริ่มสร้างปัญหาให้มากขึ้นเรื่อยๆ ในอนาคต เนื่องจากคนได้ทำลายธรรมชาติไปมากแล้ว หากยังไม่หยุด ธรรมชาติก็จะสนองกลับคืน ส่วนสงครามและโรคระบาดก็มีผลกระทบบ้างทั้งในแง่บวกและลบ  แต่น่าจะเป็นปัจจัยที่แก้ไข ควบคุม หรือบรรเทาได้มากกว่า

 

สำหรับข้อกังวลในอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาล ที่สำคัญคือชาวไร่อ้อยต้องมีต้นทุนการผลิตที่ต่ำลง โดยภาครัฐต้องเข้ามาสนับสนุนเช่น การคิดค้นสายพันธุ์ที่ดีขึ้น หาแหล่งปุ๋ยที่มีคุณภาพที่ดี สามารถทดแทนปุ๋ยที่มีราคาแพง มีการผลักดันอย่างเต็มที่ในเรื่องของกองทุนอ้อยและน้ำตาลทรายให้มีความมั่นคงและเป็นจุดที่ช่วยลดความผันผวนของราคาให้มากขึ้น

 

ขณะเดียวกันชาวไร่เองก็ต้องมีความรู้และความเข้าใจในการปลูกอ้อยที่แท้จริง และ ไม่ฝืนปลูกในสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะสม เช่น ขาดแหล่งน้ำ สภาพดินที่ยังไม่เหมะสมที่จะปลูกอ้อย ราคาดีแล้วแห่กันปลูก เป็นต้น

 

อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลไทย ควรมีทางเลือกให้มากขึ้นในการแปรรูปอ้อยให้มีความหลากหลายมากขึ้น อย่าทำเพียงแค่น้ำตาลทรายดิบหรือทรายขาวเป็นหลัก (ต้องให้ภาครัฐสนับสนุนมากขึ้นในการเพิ่มทางเลือก)

 

ในระยะยาว อุตสาหกรรมอ้อยของทั้งโลกต้องการผลผลิตที่เพิ่มขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป ตามอัตราการขยายตัวของประชากรโลก และความผันผวนของภัยธรรมชาติที่มีมากขึ้นจะส่งผลให้มีความผันผวนของปริมาณการผลิตมากขึ้น จะเห็นได้ว่าบราซิลแทบจะไม่ได้เพิ่มผลผลิตขึ้นในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา ส่งผลให้ปริมาณอ้อยมีความผันผวนมากขึ้น

 

หน้า 9 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3784 วันที่ 19 -21 พฤษภาคม 2565