"NFC" เปิดคลังน้ำมัน 90 ล้านลิตรดันรายได้แตะ 3 พันล้านบาทปี 66

16 มิ.ย. 2565 | 09:19 น.
อัปเดตล่าสุด :16 มิ.ย. 2565 | 22:32 น.

"NFC" เปิดคลังน้ำมัน 90 ล้านลิตรดันรายได้แตะ 3 พันล้านบาทปี 66 ระบุให้บริการและเริ่มรับรู้รายได้ในไตรมาส 4/65 

นายณัฐพงษ์ รัตนสุวรรณทวี รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.เอ็น เอฟ ซี (NFC) เปิดเผยว่า บริษัทตั้งเป้าผลักดันรายได้ปี 66 ให้เติบโต 3,000 ล้านบาท โดยส่วนหนึ่งเป็นรายได้ใหม่ที่จะมาจากการเปิดดำเนินการคลังน้ำมันใน จ.ระยองเข้ามาเต็มปี หลังจากเปิดให้บริการและเริ่มรับรู้รายได้ในไตรมาส 4/65 

 

รวมถึงจะรับรู้รายได้การให้บริการระบบสาธารณูปโภคเข้ามาเต็มปีด้วย ส่วนที่เหลือจะมาจากธุรกิจนำเข้าและจำหน่ายเคมีภัณฑ์ ขณะที่บริษัทยังอยู่ระหว่างศึกษาขยายคลังน้ำมันต่อเนื่อง และการให้บริการโลจิสติกส์อื่นๆ

 

สำหรับโครงการคลังน้ำมันและท่อส่งน้ำมันเชื้อเพลิง (NFCT Fuel Tank Farm Project) ตั้งอยู่ในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จ.ระยอง คาดว่าจะสร้างรายได้ราวปีละ 270 ล้านบาท โดยจะเริ่มทยอยรับรู้รายได้เข้ามาตั้งแต่ในไตรมาส 4/65 ราว 55 ล้านบาท

ทั้งนี้ คลังน้ำมันและท่อส่งน้ำมันเชื้อเพลิง ประกอบด้วย คลังน้ำมัน และถังจัดเก็บน้ำมันแก๊สโซลีนพื้นฐาน จำนวน 6 ถัง ขนาดความจุรวม 90 ล้านลิตร เพื่อใช้รองรับน้ำมันที่ขนถ่ายมาจากเรือขนน้ำมันนำเข้าขนาดกลาง (medium range)

 

ก่อนที่จะขนสูบผ่าน 2 ทาง คือ ผ่านท่อขนส่งน้ำมันเข้าสู่ระบบท่อส่งน้ำมันของผู้ประกอบการขนส่งน้ำมันทางท่อ และเข้าสู่เรือขนส่งน้ำมันขนาด 2,000-3,000 เดทเวทตัน (DWT) โดยมูลค่ารวมของโครงการอยู่ที่ 83 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือคิดเป็นประมาณ 2,570 ล้านบาท

 

นายณัฐพงษ์  กล่าวต่อไปว่า โครงการ NFCT Fuel Tank Farm Project เป็นการลงทุนขยายขอบเขตธุรกิจการให้บริการด้านโลจิสติกส์ และคลังสินค้าเหลวของกลุ่ม NFC เพื่อสนับสนุนรายได้ให้แก่ธุรกิจหลัก ตลอดจนเพิ่มความหลากหลาย

 

และกระจายความเสี่ยงของการลงทุน ซึ่งจะช่วยเสริมศักยภาพ และส่งผลให้ธุรกิจในภูมิภาคเติบโตมากยิ่งขึ้น พร้อมมุ่งกระจายสู่พื้นที่พัฒนาระเบียงเขตเศรษฐกิจตะวันออก(EEC) ซึ่งจะช่วยสร้างความแข็งแกร่งของเครือข่ายจัดส่งน้ำมันระดับภูมิภาคอาเซียน

 

"NFC" เปิดคลังน้ำมัน 90 ล้านลิตรดันรายได้แตะ 3 พันล้านบาทปี 66

 

อย่างไรก็ดี การดำเนินธุรกิจในปีนี้ บริษัทตั้งเป้ารายได้เติบโตมาที่ 2,400 ล้านบาท จากปีก่อนมีรายได้ 1,837.82 ล้านบาท โดยส่วนใหญ่ยังคงมาจากธุรกิจหลัก หรือ ธุรกิจนำเข้าและจำหน่ายแอมโมเนีย แอมโมเนียมไฮดรอกไซด์ และกรดกำมะถัน

 

นอกจากนี้ ยังจะมีรายได้จากการให้บริการระบบสาธารณูปโภค แก่ บริษัท เอ็นเอฟซี ดับบลิว จำกัด (NFCW) (NFC ถือหุ้น 100%) เข้ามาเพิ่มเติม โดยการให้บริการดังกล่าวมีสัญญาระยะยาว 10 ปี คาดจะสร้างรายได้ราว 220 ล้านบาท/ปี เริ่มรับรู้รายได้ตั้งแต่ไตรมาส 2/65 เป็นต้นไป

นายณัฐพงษ์ กล่าวอีกว่สา บริษัทยังมีกระแสเงินสดเพียงพอสำหรับการลงทุนเพิ่มเติม และหากได้ร่วมมือกับผู้ค้าน้ำมันระดับประเทศ ก็เชื่อว่าสถาบันการเงินจะให้การสนับสนุนทางการเงินอย่างเต็มที่

 

นอกจากนี้ยังมองโอกาสนำบริษัทย่อย ทั้ง NFCT , NFCW Spin-Off เพื่อระดมทุนมารองรับการขยายธุรกิจในอนาคต หรือการร่วมลงทุนในรูปแบบการเข้าซื้อกิจการ (M&A) และร่วมทุน (JV) เพื่อสร้างการเติบโตให้กับธุรกิจด้วย

 

ส่วนการแก้ปัญหาสภาพคล่องหุ้นของบริษัทฯ ปัจจุบันอยู่ระหว่างศึกษาทุกแนวทางเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยจะเร่งดำเนินการแก้ไขโดยเร็วที่สุด ขณะนี้ราคาหุ้นที่ปรับตัวขึ้นมาแล้ว มองว่านักลงทุนน่าจะกลับมาเชื่อมั่นใน NFC มากขึ้น จากการดำเนินงานที่เป็นรูปธรรม และมองเห็นโอกาสการเติบโตในอนาคต

 

"NFC" เปิดคลังน้ำมัน 90 ล้านลิตรดันรายได้แตะ 3 พันล้านบาทปี 66

 

นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) กล่าวว่า คลังน้ำมันเชื้อเพลิง เอ็นเอฟซีที ดังกล่าว จะเข้ามามีส่วนสำคัญในการกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศและภูมิภาค และเพิ่มประสิทธิภาพของระบบโลจิสติกส์ของประเทศไทยได้เป็นอย่างดี

 

อีกทั้งยังสนับสนุนนโยบายไทยแลนด์ 4.0  ด้วยการลงทุนตามนโยบายภาครัฐในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือีอีซี ( EEC) เพื่อต่อยอดทางธุรกิจ พร้อมทั้งเสริมสร้างความแข็งแกร่งของเครือข่ายน้ำมันของประเทศ และตอบสนองนโยบายภาครัฐต่อไปในอนาคต

 

สำหรับโครงการคลังน้ำมันและท่อส่งน้ำมันเชื้อเพลิงนั้น ตั้งอยู่บนพื้นที่ 43 ไร่ที่นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จังหวัดระยอง ซึ่งอยู่ภายใต้การบริหารจัดการ กำกับดูแลของกนอ.โดยนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดเป็นพื้นที่หนึ่งใน EEC ของรัฐบาล ซึ่งมุ่งเน้นส่งเสริมสนับสนุนให้เกิดการลงทุนโดยเฉพาะในการสร้างโครงสร้างพื้นฐาน และเชื่อมโยงการคมนาคมขนส่งและโลจิสติกส์ที่สมบูรณ์ 

 

ทั้งบนบก ได้แก่ ระบบถนน ระบบราง ในน้ำ ได้แก่ การขนส่งทางเรือ และทางอากาศ โดยเครื่องบิน โดยมีเป้าหมายในการเชื่อมโยงกรุงเทพฯ ฉะเชิงเทรา ชลบุรี แหลมฉบัง พัทยา สัตหีบ อู่ตะเภา มาบตาพุด และระยองเข้าด้วยกัน ตลอดจนเชื่อมต่อไปยังประเทศอื่นๆในภูมิภาค ด้วย 

 

"เชื่อมั่นว่าเมื่อโครงการแล้วเสร็จ จะสามารถตอบสนองต่อความต้องการของตลาด และเปิดโอกาสให้มีการค้าน้ำมันในระดับภูมิภาค และเกิดการแข่งขันที่เป็นธรรมและเป็นประโยชน์สูงสุดต่อผู้บริโภคต่อไปในอนาคต  ทั้งยังจะช่วยส่งเสริมนโยบายต่างๆของภาครัฐ และเพิ่มประสิทธิภาพของระบบโลจิสติกส์ของประเทศไทยได้เป็นอย่างดี"