"สุพัฒนพงษ์" เปิด 4 แนวทางนำไทยสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน

08 มิ.ย. 2565 | 17:14 น.
อัปเดตล่าสุด :09 มิ.ย. 2565 | 00:53 น.
744

สุพัฒนพงษ์ เปิด 4 แนวทางนำไทยสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน ปี 2050 เดินหน้าลดสัดส่วนการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลลงให้เหลือน้อยกว่า 50% รวมทั้งเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าใหม่ที่เป็นพลังงานสะอาด

นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยในการกล่าวปาฐกถาพิเศษหัวข้อ “บทสรุปทิศทางของประเทศไทยสู่ Green Energy & Economy” ภายในงานสัมมนา TEA FORUM 2022 “Mission Possible: Energy Transition to the Next 2050” ว่า

 

สำหรับแผนที่ไทยจะก้าวสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนในปี 2050 โดยการทำงานร่วมกันระหว่างกระทรวงพลังงานและกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มีแนวทางสำคัญ 4 ด้าน  ได้แก่ 

 

  • มีเป้าหมายที่จะลดสัดส่วนการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลลงให้เหลือน้อยกว่า 50% รวมทั้งเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าใหม่ที่เป็นพลังงานสะอาด และการทำสัญญาซื้อพลังงานน้ำจากลาวเพิ่มขึ้น โดยมีเป้าหมายระยะยาวคือการให้มีการใช้พลังงานสะอาดเป็นส่วนใหญ่ซึ่งผลิตได้ในประเทศเพื่อลดการนำเข้าเชื้อเพลิงฟอสซิล


 

  • ส่งเสริมอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (EV) และอุตสาหกรรมแบตเตอรี่ โดยตั้งเป้าให้มีการใช้รถอีวีมากขึ้นตามนโยบาย 30@30 เพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่เกิดจากภาคการขนส่งราว 100 ล้านตันต่อปี 

 

ทั้งนี้ มาตรการส่งเสริมการใช้อีวีได้รับการตอบรับอย่างดีจากอุปสงค์ในประเทศ ซึ่งมีผู้ประกอบการที่เข้าร่วมแล้วอย่างน้อย 4 บริษัท จะเป็นการสัดส่วนการผลิตรถอีวีในประเทศราว 10% ในอีก 2 ปีต่อจากนี้

 

  • การลดใช้พลังงานในภาคส่วนอื่นๆ อาทิ อาคารสำนักงาน ที่อยู่อาศัย ให้มีความเข้มข้นการใช้พลังงานลดลง 40% ด้วยการใช้เทคโนโลยีเซนเซอร์และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เข้ามาช่วยลดการใช้พลังงาน และลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ 

 

เปิด 4 แนวทางนำไทยสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนปี 2050

 

  • ส่งเสริมการปลูกป่าเพื่อดักจับและดูดซับคาร์บอนที่เกิดจากภาคการผลิตและอุตสาหกรรม โดยเปลี่ยนแนวคิดจากการทำ CSR ขององค์กรเอกชนเป็นโอกาสในการสร้างรายได้จากการมีคาร์บอนเครดิต นอกจากนี้ ยังมีการศึกษาเทคโนโลยีในการนำก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ปล่อยออกมาจากภาคอุตสาหกรรมให้กลับลงสู่บ่อก๊าซธรรมชาติที่ไทยมี ซึ่งคาดว่าจะกักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์ได้กว่า 2,700 ล้านตัน
     

นายสุพัฒนพงษ์ กล่าวต่อไปอีกว่า การเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานเป็นทิศทางที่ปรากฏชัดในช่วงหลายปีที่ผ่านมา และกลายเป็นเมกะเทรนด์โลกที่ชัดเจนขึ้นเมื่อหลายประเทศทั่วโลกต้องเผชิญกับภัยพิบัติทางธรรมชาติอย่างรุนแรงในช่วงหลายปีที่ผ่านมา จากสาเหตุสำคัญคือการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ 

 

ซึ่งไทยเองได้ประกาศจุดยืนบนเวทีโลกในการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสมัยที่ 26 (COP26) ที่เมืองกลาสโกว์ ประเทศสกอตแลนด์ เมื่อปลายปีที่ผ่าน ที่จะก้าวสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนให้ได้ภายในปี 2050 เป้าหมายที่ท้าทายยิ่งขึ้นจากเดิมที่กำหนดไว้ปี 2075

 

"ไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มากเป็นลำดับต้นๆ ของโลก ดังนั้นแทนที่จะต้องตกเป็นผู้ถูกกล่าวหาจากทั่วโลก ไทยจึงต้องอาสาเป็นต้นแบบประเทศที่ก้าวสู่ความเปลี่ยนแปลงสู่ความเป็นการทางคาร์บอน"

 

ขณะเดียวกันแผนการเดินหน้าสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนต้องเกิดขึ้นหลีกเลี่ยงไม่ได้ เนื่องจากประเทศที่กุมเศรษฐกิจโลกกว่า 75% ได้ทำความตกลงร่วมกันแล้วในการตั้งกติกาใหม่ให้การปลดปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์เป็นข้อจำกัดทางการค้าการลงทุนระหว่างประเทศ ซึ่งปัจจุบันไทยมีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ประมาณ 350 ล้านตันต่อปี