กัญชง กับ กัญชา ต่างกันอย่างไร ที่นี่มีคำตอบ 

08 มิ.ย. 2565 | 15:00 น.
อัปเดตล่าสุด :08 มิ.ย. 2565 | 22:00 น.
3.9 k

คลายข้อสงสัย กัญชง กับ กัญชา แตกต่างกันตรงไหน หลังปลดล็อก 9 มิ.ย. ปลูกเสรีได้เลยหรือไม่ ยังต้องขออนุญาตจากหน่วยงานใด อ่านรายละเอียดได้ครบที่นี่

ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ระบุชื่อยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 พ.ศ.2565 มีผลบังคับใช้ในวันที่ 9 มิถุนายน 2565 ซึ่งจะมีผลให้ทุกส่วนของกัญชา กัญชง ไม่ใช่ยาเสพติดประเภท 5 ยกเว้นสารสกัดที่มีสาร THC เกิน 0.2% ยังเป็นยาเสพติดนั้น หลายคนยังมีสับสน สงสัยว่า กัญชง กับ กัญชา มีความแตกต่างกันอย่างไร ซึ่งจากข้อมูลสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) ได้อธิบายความแตกต่างของพืชทั้งสองขนิดนี้เอาไว้เพื่อให้เข้าใจได้ง่ายขึ้น ดังนี้ 

 

"กัญชง" ซึ่งปัจจุบันเรียกกันว่า เฮมพ์ และ "กัญชา" อยู่ในสกุล (genus) และชนิด (species) เดียวกัน ต่างกันที่ ชนิดย่อย (subspecies) โดย กัญชง หรือ เฮมพ์ นั้น มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Cannabis sativa L. ssp. sativa  ส่วน "กัญชา" มีชื่อว่า Cannabis sativa L. ssp.indica

ในขณะที่รูปร่างหน้าตาของต้นกัญชง หรือ เฮมพ์ กับ กัญชา ดูลักษณะภายนอกคล้ายคลึงกันทำให้แยกออกจากกันได้ยากแต่หากมองให้ละเอียดแล้วจะพบว่า มีบางอย่างที่ต่างกัน เช่น ใบของกัญชง (เฮมพ์) มีขนาดใหญ่ ใบและช่อดอกตัวเมียมีกลิ่นหอมและดอกจะมียางเหนียวน้อยกว่ากัญชา

 

ส่วนใบของกัญชา นั้นจะมีลักษณะแคบยาว ใบและช่อดอกตัวเมียมีกลิ่นหอมและมียางเหนียวมาก 

 

การใช้ประโยชน์จากส่วนต่าง ๆ ของ ต้นกัญชง และ กัญชา มีความแตกต่างกัน เนื่องจากมีสารเคมีที่มีอยู่ในช่อดอกในปริมาณที่ต่างกัน ดังนี้ 

สำหรับกัญชงนั้น ในประเทศไทย จะใช้ประโยชน์จากเเปลือกของลำต้นโดยนำไปใช้เป็นเส้นใย และแกนที่เหลือจะนำไปผลิตเป็นวัสดุก่อสร้าง เช่น เฮมพ์บล็อค เฮมพ์กรีต เสา หลังคา พาติเคิลบอร์ด และฉนวนกันความร้อน

 

ขณะที่ กัญชา นั้น ในต่างประเทศจะนำมาใช้ประโยชน์ทางยาและเพื่อสันทนาการแต่ในประเทศไทยกฎหมายประกาศให้ใช้กัญชาทางการแพทย์ได้แต่ยังอยู่ในช่วงของการศึกษาวิจัย 

 

อย่างไรก็ดี แม้ว่าตั้งแต่วันที่ 9 มิ.ย. นี้ คณะกรรมการอาหารและยา (อย.) จะถอดพืชกัญชา-กัญชง ให้พ้นจากบัญชีการเป็นยาเสพติดประเภท 5 แล้ว สำหรับประชาชนสามารถปลูกเพื่อใช้เอง รวมทั้งผู้ประกอบการที่ปลูกในเชิงพาณิชย์โดยไม่ต้องขออนุญาต แต่ต้องจดแจ้งผ่านแอปพลิเคชัน "ปลูกกัญ" ของ อย.

 

ส่วนการผลิตเป็นผลิตภัณฑ์สุขภาพเพื่อจำหน่าย ทั้งอาหาร เครื่องสำอาง และยาสมุนไพร ยังคงต้องขออนุญาต รวมถึงการนำเข้าเมล็ดพันธุ์และส่วนของพืชที่ยังต้องขออนุญาตกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ หากเป็นผลิตภัณฑ์ต้องขออนุญาตกับ อย.โดยขึ้นอยู่กับผลิตภัณฑ์ 

 

ที่มา สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) (สวพส.)