SME ไทยยังไม่ตื่นรับเศรษฐกิจ BCG จับตาอนาคตกระทบหนักส่งออก

04 มิ.ย. 2565 | 13:37 น.
อัปเดตล่าสุด :04 มิ.ย. 2565 | 20:56 น.

ข้อมูลจากบีโอไอ ช่วง 5 ปีที่ผ่านมามีโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน ยื่นขอรับการส่งเสริมจากบีโอไอ 1,290 โครงการ เงินลงทุนกว่า 2 แสนล้านบาท โดยปี 2564 ล่าสุดมีโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนขอรับการส่งเสริม 506 โครงการ เงินลงทุน 75,061 ล้านบาท

 

รศ.ดร.อัทธ์  พิศาวานิช ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า จากโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนทั้งพลังงานแสงอาทิตย์ ลม น้ำ ชีวมวล ก๊าซชีวภาพ ขยะชุมชน และอื่น ๆ ที่บูมมากเวลานี้ มองว่ามาจาก 4 มีปัจจัยหลัก

 

1.กระแสของภาวะโลกร้อนและปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ที่หลายประเทศให้ความสำคัญ โดยเฉพาะประเทศสหรัฐฯ สหภาพยุโรป และประเทศที่พัฒนาแล้ว ซึ่งเป็น 2 ตลาดใหญ่ และเป็นนโยบายหลัก ทำให้ประเทศที่เป็นคู่ค้าของสองประเทศนี้ ต้องให้ความสำคัญไปด้วย รวมถึงจีน อีกหนึ่งคู่ค้าหลักของไทยก็เริ่มให้ความสำคัญมากขึ้น

 

SME ไทยยังไม่ตื่นรับเศรษฐกิจ BCG จับตาอนาคตกระทบหนักส่งออก

 

2.การใช้พลังงานฟอสซิล เช่น ปิโตรเลียมกำลังหมดไปจากโลกในเวลาไม่เกิน 40 ปี และการใช้พลังงงานฟอสซิลเป็นแหล่งสร้าง CO2 และภาวะโลกร้อน

 

3.แนวคิดในการพัฒนาเศรษฐกิจตามกรอบ BCG (Bio-Circular-Green Economy) เป็นนโยบายหลักของทุกประเทศทั่วโลกในเวลานี้ ที่เน้นการใช้เศรษฐกิจหมุนเวียน

 

4.ปัจจุบันเกณฑ์ของ “ESG” (Environment Social Governance) คือ สิ่งแวดล้อม สังคมและการจัดการภาครัฐฯ เป็นเกณฑ์หลักในการตัดสินใจเข้ามาลงทุนในประเทศต่างๆ เช่น Tesla จะลงทุนผลิตแบตเตอรี่ในอินโดนีเซีย ด้วยเหตุผลเพราะมีแร่นิเกิล และโคบอลมาก แต่ก็คำนึงถึง ESG เป็นหลักด้วย       

 

SME ไทยยังไม่ตื่นรับเศรษฐกิจ BCG จับตาอนาคตกระทบหนักส่งออก

 

อย่างไรก็ดีเวลานี้ภาคการผลิต และส่งออกของไทยมีความตื่นตัวในการปรับตัวเพื่อเข้าสู่เศรษฐกิจ BCG  มากน้อยแค่ไหน และถ้าไม่ปรับตัวจะส่งผลต่อธุรกิจอย่างไรบ้างในอนาคตนั้น รศ.ดร.อัทธ์ กล่าวว่า การปรับตัวเข้าสู่เศรษฐกิจ BCG ของภาคธุรกิจไทยนั้น ณ ปัจจุบัน มีการตื่นตัวเฉพาะบริษัทใหญ่ๆ โดยเฉพาะบริษัทร่วมทุนกับต่างประเทศ ในขณะที่กลุ่ม SMEs ยังมีการตื่นตัวไม่มาก เนื่องจากต้องใช้เงินทุนในการเปลี่ยนแปลงในการใช้พลังงานหมุนเวียน

 

อัทธ์  พิศาลวานิช

 

“หากผู้ประกอบการไม่มีการตื่นตัวเรื่อง BCG จะส่งผลต่อการส่งออกไปประเทศที่มีนโยบายพลังงานหมุนเวียน แน่นอน ซึ่งในอนาคตอาจจะส่งไปขายไม่ได้ในตลาดดังกล่าว”  

 

รศ.ดร.อัทธ์ ยังมีข้อเสนอแนะด้านการดึงการลงทุนจากต่างประเทศโดยใช้พลังงานทดแทน จากพลังงานหมุนเวียนที่เป็นพลังงานสะอาดดังนี้ 1.บริหารจัดการข้อมูลโรงงานที่มีอยู่ว่ามีการปรับเปลี่ยนใช้พลังงานทดแทนมากน้อยแค่ไหน เพื่อเป็น จุดขายในการดึงเม็ดเงินเข้าประเทศ 2.สร้างสิทธิประโยชน์และแรงจูงใจให้ SMEs ในการเข้าถึงแหล่งทุนเพื่อให้สามารถเปลี่ยนเป็นพลังงานหมุนเวียน

 

3.ตั้งตลาดการรับซื้อวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรเพื่อพลังงานหมุนเวียน เพื่อเป็นศูนย์กลางการซื้อขายในอาเซียน จะได้มีราคากลางที่เป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย  และ 4.สร้างธุรกิจต้นแบบ BCG ประกอบด้วย กลุ่มเกษตรกร ผู้ประกอบการ ผู้ส่งออก และสถาบันการศึกษา เพื่อทำสินค้าที่ให้ทั้งแนวติด BCG และมีการใช้พลังงานหมุนเวียน นำวัสดุเหลือใช้มาสร้างมูลค่าเพิ่ม