โอนรถไฟฟ้าสายสีเขียวคืนรฟม. ชัชชาติ วางธงค่าโดยสาร 30 บาท BTS พร้อมเจรจา

26 พ.ค. 2565 | 07:09 น.
5.3 k

“ชัชชาติ”เร่งสางปัญหารถไฟฟ้าสายสีเขียว เดินหน้านโยบายใหม่โอนโครงการให้รฟม. กำหนดค่าตั๋วไม่เกิน 30 บาท“เกษรา” เร่งสแกนสัญญา ศักดิ์สยามแบ่งรับแบ่งสู้เรื่องโอนสายสีเขียวมาคมนาคมขอดูกทม.ก่อน บิ๊กบีทีเอสลั่นเป็นเรื่องของทางการ หากเปลี่ยนนโยบายพร้อมพิจารณา

ชัยชนะของ นายชัชชาติ สิทธิพันธ์ ทำสถิติใหม่ 1,386,215 คะแนน มาพร้อมความคาดหวังสูงลิบ ให้ผู้ว่าฯกทม.คนใหม่ ต้องนำนโยบายที่หาเสียงมาปฏิบัติอย่างเร่งด่วน เพื่อแก้ไขปัญหาหมักหมมในชีวิตประจำวันของคนกรุงเทพฯ ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

 

รวมถึงปัญหารถไฟฟ้าสายสีเขียวของกทม. ที่ค้างคาหาทางออกไม่ได้มานาน ขณะหนี้ระดับแสนล้านบาทมีภาระดอกเบี้ยพอกพูนรายวัน นายชัชชาติเดินหน้าเสนอทางออกตามนโยบายใหม่ที่หาเสียงไว้แล้ว โดยนายกรัฐมนตรีหนุน 4 ฝ่ายพูดคุยหาทางออกให้เดินไปได้อย่างถูกต้อง

โอนรถไฟฟ้าสายสีเขียวคืนรฟม. ชัชชาติ วางธงค่าโดยสาร 30 บาท BTS พร้อมเจรจา

โอน“รถไฟฟ้าสายสีเขียว”ให้รฟม.
 นางเกษรา ธัญลักษณ์ภาคย์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัทเสนาดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) (SENA) ในฐานะทีมนโยบายเศรษฐกิจของนายชัชชาติ เปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า นโยบายเร่งด่วนที่ผู้ว่ากทม.คนใหม่ต้องดำเนินการเป็นลำดับต้น ๆ คือจะหยิบสัญญารถไฟฟ้า สายสีเขียวมาพิจารณาดูว่ามีอะไรยืดหยุ่นหรือดำเนินการได้บ้าง โดยเฉพาะอัตราค่าโดยสาร ซึ่งที่ผานมาสัญญาสัมปทานและการจ้างเดินรถยังลึกลับเข้าไม่ถึง

 ปมปัญหาใหญ่คือหนี้กทม.ที่มีต่อเอกชน มากถึงเกือบ 4 หมื่นล้านบาท และเป็นคดีฟ้องร้องอยู่ในศาลปกครอง ที่ต้องหาทางออก ขณะเดียวกัน กทม. พิจาณาบทบาทตนเอง ว่ามีขีดความสามารถมากน้อยแค่ไหนในการบริหารจัดการเดินรถไฟฟ้า

ทั้งนี้ ระหว่างหาเสียงนายชัชชาติระบุว่า จะไม่ขยายสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวให้เอกชน แต่จะใช้วิธีเจรจากับเอกชนต่อปัญหาหนี้ค่าจ้างเดินรถ และมีนโยบายโอนสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว(BTS) ที่เหมือนเส้นเลือดใหญ่ ให้กระทรวงคมนาคมรับไปดูแลบริหารจัดการ โดยต้องทำให้ค่าโดยสารไม่เกิน 30 บาท

 

ศักดิ์สยามแบ่งรับแบ่งสู้
 ด้านนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรี ว่าการกระทรวงคมนาคม ระบุ กรณี กทม. จะโอนสายสีเขียวมาให้ กระทรวงคมนาคม ว่า เรื่องนี้ ขอดูทางกทม.ก่อน เพราะยังมีรายละเอียดอีกมาก ส่วนการรื้อสัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวนั้นตนไม่ทราบ แต่ทั้งนี้ขอให้ยึดระเบียบข้อกฎหมาย เพื่อประชาชนได้ประโยชน์สูงสุด ส่วนกรณีผู้ว่าฯกทม.คนใหม่ หาเสียงว่า จะไม่ต่อสัมปทานสายสีเขียว ถือเป็นเรื่องที่สอดรับการทำงานของประทรวงคมนาคมหรือไม่นั้น  อยู่ที่ผลการศึกษา

 

คค.-รฟม.พร้อมรับโอน
 รายงานข่าวจากกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า คาดว่าการโอนสัมปทานจะสามารถดำเนินการได้ ซึ่งจะต้องเปลี่ยนแปลงคู่สัญญาระหว่างบีทีเอสซี กับกทม. มาเป็นกับรฟม.และกระทรวงคมนาคม แต่ต้องดูข้อกฎหมายด้วย ว่าสามารถดำเนินการได้หรือไม่ “ทางกระทรวงคมนาคมเคยทำหนังสือหารือ เกี่ยวกับการโอนทรัพย์สินของโครงการฯร่วมกับกทม. เมื่อช่วงเดือนมีนาคมที่ผ่านมา แต่ทางกทม.ตอบกลับว่าอยู่ระหว่างรอนโยบายผู้ว่าฯกทม.
คนใหม่"

 

ส่วนเงื่อนไขผู้ว่าฯกทม.คนใหม่ให้คิดค่าโดยสารไม่เกิน 30 บาทนั้น จากที่ทราบในรายละเอียดสัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าฯ ไม่ได้มีการระบุไว้ หากจะลดอัตราค่าโดยสารต่ำลงไม่เกิน 30 บาท ต้องขึ้นอยู่กับเอกชนเป็นผู้พิจารณาด้วย ที่ผ่านมาบีทีเอสเคยมีการออกค่าตั๋วโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียวไม่เกิน 30 บาทต่อเที่ยว แต่เพิ่งยกเลิกการใช้บัตรโดยสารประเภทนี้ไปเมื่อปีก่อน

 

บีทีเอสตั้งโต๊ะพร้อมคุย
 ขณะที่ นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัทระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTSC กล่าวถึงนโยบายใหม่กทม.เรื่องนี้ ว่า หลังจากรับตำแหน่งแล้ว คงต้องรอให้เข้ามาบริหารงานก่อน ขึ้นอยู่กับนโยบายที่จะดำเนินการ ทราบมาว่านโยบายเรื่องสายสีเขียว จะมีการโอนคืนให้กับการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) 

เรื่องนี้ขึ้นอยู่กับกทม.เป็นผู้พิจารณา ต้องเข้าใจว่าการต่อสัญญาสัมปทานฯ ทางบริษัทไม่ได้เป็นผู้ร้องขอ แต่เป็นฝ่ายรัฐบาลและกทม.เป็นผู้ดำเนินการ ซึ่งบริษัทเป็นเอกชนมีหน้าที่ดำเนินการตามนโยบาย หากนโยบายเป็นอย่างไร บริษัทก็ยินดีที่จะพิจารณา

“ส่วนการฟ้องร้องทวงหนี้ค่าซื้อระบบการเดินรถ (ไฟฟ้าและเครื่องกล) เพิ่มเติมกับกทม.และบริษัทกรุงเทพธนาคม จำกัด ต่อศาลปกครอง จะฟ้องร้องเมื่อไรยังไม่ทราบ เพราะขณะนี้บริษัทอยู่ในขั้นตอนการรวบรวมเอกสาร เนื่องจากมีรายละเอียดค่อนข้างเยอะ รวมถึงการตรวจรับงานด้วย”

“ทำทุกเรื่องทำทันที”
 ส่วนความคาดหวังต่อการลงมือทำงานของผู้ว่าฯกทม.คนใหม่ นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า คนกรุงเทพฯลงคะแนนให้ชนะถล่มทลาย เพราะเชื่อมั่นและคาดหวัง อยากเห็นกรุงเทพฯเปลี่ยนแปลงทุกด้าน อยากให้ผู้ว่าฯกทม.คนใหม่ทำงานเลย ทำเร็วที่สุด เพราะปัญหาเร่งด่วนทุกด้าน นโยบาย 8 ด้าน 200 กว่ารายการ ที่ได้จากการลงพื้นที่ต้องนำมาทำทันที ให้กลับมาเป็นเวนิสตะวันออก เพื่อสร้างให้เป็นมหานครที่น่าอยู่สำหรับคนกรุงเทพฯ และนักท่องเที่ยวทั่วโลกที่จะมาเยือน มาชื่นชมกับเมืองที่สวยงาม ไม่ใช่อะเมซิ่งกับสายเคเบิ้ลเสาไฟฟ้า

เช่นกัน นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า เรื่องจำเป็นเร่งด่วนของผู้ว่าฯ กทม.คนใหม่ คือ ปัญหารายได้และค่าครองชีพกลุ่มผู้มีรายได้น้อย โดยสิ่งที่ กทม.สามารถทำได้คือการจัดสรรพื้นที่ที่เหมาะสม และเป็นธรรมในการค้าขาย สร้างโอกาสในการหารายได้เพิ่มขึ้น

รวมทั้งการรณรงค์ฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น อยากให้ กทม.ร่วมกันทำต่อ เพราะจะเป็นเกราะป้องกันสุขภาพของประชาชน และเป็นการสร้างความเชื่อมั่น รองรับการเดินทางเข้ามาของนักท่องเที่ยวต่างชาติ นอกจากนี้คือการดูแลสวัสดิภาพและความปลอดภัย การปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ซึ่งจะนำมาสู่ภาพลักษณ์ที่ดีในระยะยาวต่อไป

ด้านนางมาริสา สุโกศล หนุนภักดี นายกสมาคมโรงแรมไทย (ทีเอชเอ) เปิดเผยว่า อยากให้ผู้ว่าฯให้ความสำคัญการจัดระเบียบและพัฒนาพื้นที่ โดยต่อยอดจากสิ่งที่กรุงเทพฯโด่งดังได้รับการยอมรับอยู่แล้ว อาทิ บริการสุดประทับใจของโรงแรม ร้านอาหาร สตรีทฟู้ดส์ จนถึงวัฒนธรรมท้องถิ่นและไลฟ์สไตล์น่าสนใจ แต่ขาดการนำมานำเสนอเป็นโชว์เคส สร้างโอกาสการขายแก่ภาคธุรกิจและชุมชน อาจดึงเอกชนมาร่วมพัฒนาเมือง เพื่อนำเสนอเป็นแพ็กเกจ หรือแคมเปญร่วมกัน สร้างการท่องเที่ยวกรุงเทพฯยั่งยืน

เช่นกันภาคธุรกิจอสังหาริม ทรัพย์นั้น นายธงชัย บุศราพันธ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารร่วม บมจ. โนเบิลดีเวลลอปเมนท์ (NOBLE) ระบุว่า คนคาดหวังกับผู้ว่าฯกทม.คนใหม่ จะเห็นกทม.ก้าวไปอย่างราบรื่น คล่องตัว จะทำให้ธุรกิจดีไปพร้อมกันด้วย เพราะภาคอสังหาฯ เกี่ยวพันกับกทม.หลายขั้นตอน อาทิ การขออนุญาตปลูกสร้าง การกำกับดูแลการก่อสร้าง และกทม. ควรสานต่อการพัฒนาโครงข่ายคมนาคมอย่างต่อเนื่อง

วันนี้บางเส้นยังไม่คืบหน้า เช่น สายสีเทา (วัชรพล-ทองหล่อ) เป็นอีกเส้นที่มีความสำคัญ ช่วยขนถ่ายคนโซนตะวันออกตัดตรงเข้าเมือง กระจายความหนาแน่นคนจากสายสีชมพู สีเหลือง หากเดินหน้าจะช่วยลดข้อจำกัดการเดินทางและเปิดศักยภาพใหม่เชิงพื้นที่ได้

ข่าวหน้า 1 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 42 ฉบับที่ 3,786 วันที่ 26-28 พฤษภาคม พ.ศ.2565