“นมโรงเรียน” เคลียร์ชัด ไม่คุ้มครองสาขา โรงงาน 5 ตัน/วัน

24 พ.ค. 2565 | 16:50 น.
อัปเดตล่าสุด :25 พ.ค. 2565 | 00:35 น.
824

ระเบิดศึก “นมโรงเรียน” แบ่งเค้กโควตา พื้นที่กลุ่ม 4 และ กลุ่ม 5 คึก ประธานชุมนุมฯ ประสานเสียง นายกสมาคมนมพาสเจอร์ไรส์ ยัน มติ คณะกรรมการอาหารนมเพื่อเด็กและเยาวชน ไฟเขียวไม่คุ้มครองสาขา โรงงาน 5 ตัน/วัน แต่คุ้มครองรายย่อย ที่มีโรงงานเดียว

นัยฤทธิ์ จำเล

วันที่ 24 พฤษภาคม 2565 นายนัยฤทธิ์ จำเล  ประธานกรรมการชุมนุมสหกรณ์โคนมแห่งประเทศไทย จำกัด เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า วันนี้ ในกลุ่มพื้นที่ 5 คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนโครงการอาหารนมเพื่อเด็กและเยาวชน  (เขตปศุสัตว์ที่ 7 8 และ 9 ประกอบด้วย จังหวัดราชบุรี กาญจนบุรี นครปฐม สมุทรสาคร สมุทรสงคราม เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ สุพรรณบุรี นครศรีธรรมราช กระบี่ พังงา ภูเก็ต สุราษฎร์ธานี  ระนอง ชุมพร ตรัง พัทลุง สงขลา สตูล ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส) มีการจัดสรรพื้นที่จำหน่าย หรือ โควตา ในโครงการอาหารเสริม (นม) โรงเรียน หลังจากที่คณะกรรมการอาหารนมเพื่อเด็กและเยาวชน ได้มีมติ ไม่คุ้มครอง สาขา โรงงาน 5 ตัน/วัน

 

พื้นที่ 5 จัดสรรโควตา "นมโรงเรียน"

“ยกตัวอย่าง สหกรณ์โคนมกำแพงแสน ไปสร้างสาขาใหม่ ขนาด 5 ตัน/วัน แต่มีโรงใหญ่อยู่แล้ว สาขานั้น ไม่คุ้มครอง เป็นต้น แต่ถ้าเป็นสหกรณ์โคนมโคกก่อ มีอยู่ที่เดียว ยื่น 5 ตัน/วัน จะได้คุ้มครองทันที ส่วนที่แตกสาขา แล้วมีการเปลี่ยนชื่อก็ไม่ได้ เพราะตกม้าตาย เลข อย.ไปพัวพันกับสัญญาเก่า กล่าวคือ จะได้สิทธิเข้านมโรงเรียน แต่ก็จะไปหารยาวกับผู้ประกอบการรายอื่นๆ ในพื้นที่ นั้น”

 

“นมโรงเรียน” เคลียร์ชัด ไม่คุ้มครองสาขา  โรงงาน 5 ตัน/วัน

สอดคล้องกับ นายวสันต์ จีนหลง นายกสมาคมผู้ผลิตนมพาสเจอร์ไรส์ กล่าวว่าวันนี้ ที่ประชุม คณะกรรมการอาหารนมเพื่อเด็กและเยาวชน มีมติชัดคุ้มครอง โรงงาน 5 ตัน/วัน ที่เป็นรายเดียว แต่หากเป็นสาขา แล้วมีผลประโยชน์ร่วม ถือว่าไม่คุ้มครอง วันนี้ นอกจากพื้นที่กลุ่ม5 แล้ว ยังมีการจัดสรรโควตาในพื้นที่กลุ่ม 4  (เขตปศุสัตว์ 5 และ 6 ประกอบด้วย จังหวัดเชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง แพร่ น่าน พะเยา เชียงราย แม่ฮ่องสอน อุตรดิตถ์ นครสวรรค์ อุทัยธานี กำแพงเพชร ตาก พิษณุโลก พิจิตร เพชรบูรณ์ และสุโขทัย) ซึ่งก็ได้มีการจัดสรรสิทธิ์พื้นที่จำหน่ายนมโรงเรียน เช่นเดียวกับกลุ่ม 5 บรรยากาศเป็นไปอย่างคึกคัก

กลุ่มพื้นที่ 4

 

นายสัตวแพทย์สมชวน รัตนมังคลานนท์ รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เผยหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการอาหารนมเพื่อเด็กและเยาวชน เผยว่า การประชุมของคณะกรรมการอาหารนมเพื่อเด็กและเยาวชนในวันนี้ ได้พิจารณาเห็นชอบเรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการดำเนินงานโครงการอาหารเสริม (นม) โรงเรียน ประจำปีการศึกษา 2565 ในประเด็นการคุ้มครองผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์นมที่ยื่นสิทธิเข้าร่วมโครงการไม่เกิน 5 ตันต่อวัน

นายสัตวแพทย์สมชวน รัตนมังคลานนท์

ในที่ประชุมเห็นชอบให้หน่วยจัดซื้อ/โรงเรียนเอกชนจัดซื้อนมโรงเรียนชดเชยตามจำนวนวันที่เด็กนักเรียนยังไม่ได้ดื่มนมโรงเรียน นับแต่วันเปิดภาคเรียน โดยวันเปิดภาคเรียนคือวันที่กระทรวงศึกษาธิการกำหนด หรือตามประกาศของโรงเรียน และจัดซื้อให้เด็กนักเรียนได้ดื่มนมโรงเรียนครบ 260 วันต่อปีการศึกษา รวมทั้งส่งผลให้เกษตรกรสามารถขายน้ำนมดิบให้กับผู้ประกอบการในโครงการอาหารเสริม (นม) โรงเรียนได้ครบ 260 วัน ให้ทุกกลุ่มพื้นที่แทนการจัดประชุม เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถดำเนินการทำสัญญาซื้อขายนมโรงเรียนกับหน่วยจัดซื้อโดยเร็วต่อไป

 

 

อนึ่ง โครงการอาหารเสริม (นม) โรงเรียน  ตาม คณะรัฐมนตรี (26 มี.ค. 2562) ปรับปรุงโครงสร้างการบริหารจัดการนมโรงเรียนใหม่ โดยแยกโครงสร้างการบริหารออกจากมิลค์บอร์ด เพื่อป้องกันความขัดแย้งทางผลประโยชน์ เนื่องจากมีผู้มีส่วนได้เสียร่วมเป็นกรรมการ จึงได้แต่งตั้ง "คณะกรมการอาหารนมเพื่อเด็กและเยาวชน" จำนวน 15 คน

 

โตรงสร้าง

 

ประกอบด้วย ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานกรรมการ, หน่วยงานที่กำกับดูแล จำนวน 4 คน หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับคุณภาพการผลิต จำนวน 3 คน เป็นกรรมการ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับผู้รับบริการ จำนวน 3 คน เป็นกรรมการ และผู้ทรงคุณวุฒิที่ประธานกรรมการแต่งตั้ง จำนวน 3 คน เป็นกรรมการ และอธิบดีกรมปศุสัตว์ เป็นกรรมการและเลขานุการ (โดยไม่มีองค์กรเกษตรกรและผู้ประกอบการ ซึ่งเป็นผู้มีส่วนได้เสียในโครงการฯ รวมเป็นกรรมการ)

 

“นมโรงเรียน” เคลียร์ชัด ไม่คุ้มครองสาขา  โรงงาน 5 ตัน/วัน

 

ทั้งนี้ เป็นไปตามข้อเสนอแนะของคณะกรรมการ ป.ป.ช.  (คลิกอ่าน) ที่ให้ทบทวนคณะทำงานชุดต่าง ๆ ภายใต้มิลค์บอร์ด ให้มีความเหมาะสมไม่ควรมีตัวแทนของผู้มีส่วนได้เสียเข้าไปเป็นคณะอนุกรรมการที่มีหน้าที่ในการตรวจสอบ กำกับดูแล การดำเนินงาน หรือ คุณภาพนมโรงเรียน และเมื่อสิ้นสุดภาคเรียนการศึกษาต้องให้กระทรวงศึกษาธิการตรวจสอบ ติดตาม และประเมินผล ที่สำคัญการบริหารจัดการ โดยเฉพาะฐานข้อมูลที่เกี่ยวข้อง ทั้งต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ต้องเป็นปัจจุบัน สะดวกต่อการนำมาใช้เพื่อการจัดสรรสิทธิจำหน่ายนมโรงเรียนให้แก่ผู้ประกอบการ รวมถึงการบริหารจัดการโครงการให้มีประสิทธิภาพ ดังนั้น จึงเป็นที่มาของการจัดระเบียบรื้อโควตานมโรงเรียนใหม่