สศช.เปิดภาวะสังคมไทยล่าสุด คนไทยยิ่งจบสูงยิ่งว่างงาน ปริญญาเตะฝุ่นพรึ่บ

23 พ.ค. 2565 | 10:38 น.
อัปเดตล่าสุด :23 พ.ค. 2565 | 17:51 น.
3.4 k

สศช. เปิดภาวะสังคมไทยไตรมาสหนึ่ง ปี 2565 สถานการณ์การว่างงาน แม้จะเริ่มปรับตัวดีขึ้น แต่ก็น่าห่วงแรงงานที่จบการศึกษาสูงยังอยู่ในระดับสูง โดยเฉพาะเรียนจบปริญญาออกมาเตะฝุ่น รวมทั้งพบคนไทยว่างงานยาวขึ้น พร้อมจัดทำข้อเสนอแนะเร่งแก้ปัญหาด่วน

นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผย ภาวะสังคมไทยไตรมาสหนึ่ง ปี 2565 ว่า แม้สถานการณ์ว่างงานของคนไทยจะค่อย ๆ ดีขึ้น แต่ก็พบประเด็นที่น่ากังวล คือ การว่างงานในกลุ่มแรงงานที่จบการศึกษาสูงยังอยู่ในระดับสูง โดยอัตราการว่างงานของผู้จบการศึกษาระดับอุดมศึกษาอยู่ที่ 3.10% 

 

ขณะเดียวกันยังพบด้วยว่า ผู้ว่างงานที่ไม่เคยทำงานมาก่อนยังคงมีอัตราเพิ่มขึ้น โดยมีจำนวน 2.6 แสนคน เพิ่มสูงขึ้น 5.2% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนสวนทางกับผู้ว่างงานที่มีประสบการณ์ทำงานที่เริ่มปรับตัวลดลง เช่นเดียวกับผู้ว่างงานระยะยาวยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นโดยมีจำนวนถึง 1.7 แสนคน

 

สำหรับสถานการณ์ภาพรวมของการว่างงานในไตรมาสนี้ พบว่า ปรับตัวดีขึ้น โดยผู้ว่างงานมีจำนวนทั้งสิ้น 6.1 แสนคน ลดลงจาก 7.6 แสนคนในช่วงเดียวกันของปีก่อน และลดลงจาก 6.3 แสนคน ในไตรมาสก่อนหน้า หรือคิดเป็นอัตราการว่างงานที่ 1.53% ต่ำที่สุดในช่วงโควิด-19 

เช่นเดียวกับการว่างงานในระบบที่ลดลงต่อเนื่อง โดยผู้รับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงาน มีจำนวน 305,765 คน คิดเป็นอัตราการว่างงานในระบบที่ 2.7% ส่วนแรงงานที่ได้รับผลกระทบจากการที่สถานประกอบกิจการขอใช้มาตรา 75 ของ พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงานฯ ลดลงจาก 82,346 คน ในปีก่อนเหลือเพียง 35,174 คน ณ สิ้นไตรมาสหนึ่ง ปี 2565 

 

สถานการณ์ว่างงาน ไตรมาส 1 ปี 2565

 

ส่วนประเด็นที่ต้องติดตามในระยะถัดไปในเรื่องของแรงงาน มีดังนี้ 

 

1.การฟื้นตัวของการจ้างงานภาคท่องเที่ยว

 

โดยจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติยังมีจำนวนไม่มากเมื่อเทียบกับก่อนโควิด-19 ขณะที่นักท่องเที่ยวไทยแม้จะมีแนวโน้มดีขึ้นจากโครงการกระตุ้นการท่องเที่ยวของภาครัฐ แต่สัดส่วนรายจ่ายยังไม่สามารถชดเชยการหายไปของรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติได้ จึงต้องให้ความสำคัญกับการเปิดประเทศและดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติให้เข้ามาท่องเที่ยวในประเทศให้มากที่สุด 

 

2.ผลกระทบของการเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าต่อค่าครองชีพของแรงงาน และการจ้างงาน

 

เงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นตั้งแต่ปลายปี 2564 จากราคาน้ำมัน และปัจจัยการผลิตในสินค้าบางชนิดที่เพิ่มขึ้น จะส่งผลกระทบต่อค่าครองชีพของแรงงาน รวมทั้งอาจกระทบต่อการจ้างงานในภาคเกษตรกรรมจากราคาปุ๋ยที่แพงขึ้น และการจ้างงานสาขาขนส่งจากต้นทุนราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้น 

3.การหามาตรการแก้ไขปัญหาการว่างงานระยะยาวและการว่างงานของผู้จบการศึกษาใหม่

 

กรณีดังกล่าวพบว่ายังคงเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง แม้ว่าเศรษฐกิจเริ่มกลับมาฟื้นตัวได้ โดยการว่างงานระยะยาวจะทำให้แรงงานขาดรายได้เป็นระยะเวลานานและมีแนวโน้มก่อหนี้เพิ่มมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลถึงคุณภาพชีวิตทั้งตนเองและครอบครัว 

 

ขณะที่การว่างงานในกลุ่มผู้จบการศึกษาใหม่ โดยเฉพาะระดับอุดมศึกษาที่มีสัดส่วนสูงที่สุดส่วนหนึ่งเกิดจากปัญหาความไม่สอดคล้องของความต้องการแรงงานและทักษะ ซึ่งมีปัญหาทั้งด้านปริมาณและคุณภาพ ดังนั้นจึงต้องหาทางฝึกทักษะให้ตรงกับความต้องการกับตลาดงานเพิ่มเติม