บิ๊กเอกชนลุย Net Zero พลิกวิกฤติเป็นโอกาสธุรกิจ ขานรับกติกาใหม่ค้าโลก

18 พ.ค. 2565 | 17:10 น.
อัปเดตล่าสุด :19 พ.ค. 2565 | 00:50 น.
540

ภาคเอกชนจี้ทุกภาคส่วนเร่งปรับตัวรับกติกาค้าโลกใหม่ พลิกวิกฤต ZERO CARBON เป็นโอกาสทางธุรกิจ ส.อ.ท.มอง BCG เป็นทางรอด ซีพี ชี้ลด Co2 ได้ก่อนได้เปรียบคู่แข่ง ปตท.สผ.ทุ่ม 1.3 หมื่นล้านลุยดักจับคาร์บอน TPIPP บี้รัฐเปิดตลาดคาร์บอนเครดิต สิงห์ เอสเตท ดึงทุกภาคส่วนสู่ Net Zero

 

ในงานสัมมนา “ZERO CARBON : วิกฤติ - โอกาสไทยในเวทีโลก" จัดโดย “ฐานเศรษฐ กิจ” มีการเสวนาในหัวข้อ “ZERO CARBON วิกฤติ-โอกาสไทย โดยมีวิทยากรจากองค์กรเอกชนและบริษัทชั้นนำ ร่วมแลกเปลี่ยนการดำเนินงาน ในการรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) ที่ทั่วโลกบรรลุข้อตกลงจะลดการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิเป็นศูนย์ (Carbon Neutrality) ภายในปี ค.ศ. 2065-2070 ซึ่งจะเป็นคลื่นลูกใหม่มากำหนดกติกาทางการค้าของโลกในระยะอันใกล้นี้

 

นายเกรียงไกร  เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า Climate Change ถือเป็นคลื่นลูกใหญ่ที่กำลังจะส่งผลกระทบต่อการค้าของโลกในระยะไม่ไกลจากนี้ ภาคเอกชนจึงมอง Climate Change เป็นวิกฤต เพราะภาคการผลิตจะต้องลงทุนใหม่เกือบทั้งหมด ที่จะต้องไปดูว่ากระบวนการผลิตจะทำอย่างไร ไม่ใช้พลังงานจากฟอสซิล ปรับเปลี่ยนเครื่อจักร ที่จะนำไปสู่การลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนฯน้อยที่สุด หรือจะต้องลงทุนสำหรับการกักเก็บก๊าซคาร์บอนฯ ซึ่งทั้งหมดจะต้องใช้เงินลงทุนที่สูง และจะเป็นต้นทุนการผลิตสินค้าตามมา

 

เกรียงไกร  เธียรนุกุล

 

ดังนั้น จะพลิกวิกฤตที่จะเกิดขึ้นให้เป็นโอกาสได้อย่างไร ซึ่งมองว่าอุตสาหกรรมที่จะมาขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศให้อยู่รอดได้ จะต้องมาจาก 1.อุตสาหกรรมแห่งอนาคตที่ประเทศมีเป้าหมายขับเคลื่อนใน 12 กลุ่มอุตสาหกรรม รวมถึง BCG (Bio-Circular-Green Economy)  ซึ่ง Bio Economy  หรือเศรษฐกิจชีวภาพนี้ เป็นตัวที่มีความหวัง และเห็นแสงสว่าง โดยเฉพาะ Bio Tech ที่นำมาทำอุตสาหกรรมที่มีแวลูเชนสูงสุด คือยารักษาโรค อาหารเสริม ไบโอคอสเมติกส์ที่เกี่ยวกับเวชสำอาง เส้นใยธรรมชาติที่มาทดแทนเส้นใยจากปิโตรเคมีคอล ไบโอฟูเอล เคมีที่มาจากชีวภาพ รวมถึงปุ๋ย ซึ่งจะทำให้สินค้าทางการเกษตรเป็นไปตามเทรนด์โลกที่กำลังต้องการสินค้าสะอาด และเป็นสินค้าที่ปลอดภัย

 

ขณะที่ Circular Economy  คือการเอาของเสีย ของที่เป็นขยะทางอุตสาหกรรม รวมทั้งขยะของเหลือใช้ทางด้านไบโอจากการทำการเกษตรกลับมาเป็นวัตถุดิบ สร้างสินค้าใหม่ลดปัญหาเรื่องขยะ และรักษาสิ่งแวดล้อม เพื่อนำไปสู่แนวทางปฏิบัติให้เกิดขึ้น ทาง ส.อ.ท. มีนโยบาย 1 จังหวัด 1 อุตสาหกรรม BCG ขึ้นมา เรียกว่าโครงการส่งเสริมอุตสาหกรรมเกษตรอัจฉริยะ (Smart Agriculture Industry) หรือ SAI  ซึ่งเป็นโครงการที่นำ BCG มาแปลงการทำการเกษตรนำความต้องการของตลาดมาเป็นตัวตั้ง

 

โดยโครงการแรกจะเกิดในกรุงเทพมหานคร SAI In The City เป็น Plant Based หรือโปรตีนจากพืชเพื่อทดแทนเนื้อสัตว์ ซึ่งภายใต้อีโคซิสเต็มทุกอย่างจะถูกออกแบบให้เข้ากับเรื่องของ Climate Change พยายามผลักดันให้ทันในการที่ประเทศไทยจะเป็นเจ้าภาพ APEC 2022 ในเดือนพ.ย.นี้ เพื่อให้เป็นการโชว์เคสกับประเทศที่เข้าร่วมประชุม  ซึ่งเมื่อ โครงการนี้ทำเสร็จแล้ว ก็จะขยายออกไปที่ทั้ง 5 ภาค ก่อนจะขยายไปให้ครบทุกจังหวัด ซึ่งแต่ละจังหวัดก็จะมีเป้าหมายและกลุ่มอุตสาหกรรมที่แตกต่างกัน

 

ซีพีลุยลด Co2 ซัพพลายเชน

นายสมเจตนา ภาสกานนท์ ผู้อำนวยการด้านพัฒนาความยั่งยืน สำนักบริหารความยั่งยืนธรรมาภิบาลและสื่อสารองค์กร เครือเจริญโภคภัณฑ์หรือ CP กล่าวว่า เครือ CP ตั้งเป้าไปสู่เป้าหมาย Carbon Neutral ภายในปีพ.ศ. 2030 และเป้าหมาย NET ZERO ภายในปี 2050 เนื่องจากธุรกิจเกษตรจะได้รับผลกระทบจาก  Climate Change สูงกว่าหลาย ๆธุรกิจด้วยกัน ทำให้เกิดการผันผวนของปริมาณวัตถุดิบที่ CP ใช้ในการผลิต ทั้งส่วนของวัตถุดิบ ต้นทุนวัตถุดิบและคุณภาพของวัตถุดิบ

 

สมเจตนา  ภาสกานนท์

 

ปัจจุบันมีการตั้งเป้า Carbon Neutral และขับเคลื่อน NET ZERO อยู่ในกฎหมายกว่า 120 ประเทศ การที่เครือ CP มี operation อยู่ในหลายประเทศ และเมื่อทุกบริษัทในเครือทั่วโลกร่วมมือกันตั้งเป้าบรรลุ Carbon Neutral และNET ZERO ทำให้บริษัทในเครือต้องปรับตัวให้สอดคล้องกับกฎหมายของแต่ละประเทศด้วย

 

 “การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก จากนี้ไปบริษัทระดับโลกต่าง ๆ จะใช้เป็นเกณฑ์ในการคัดเลือกคู่ค้า ถ้าเราทำได้ตามเป้าหมายวิกฤตที่เกิดขึ้นนี้ จะกลายเป็นโอกาส เพราะจะกลายเป็นคะแนน plus ที่อยู่ในลิสต์การคัดเลือกของเค้าเป็นคู่ค้า ถือเป็นหนึ่งปัจจัยที่ทำให้ต้องเร่งปรับตัว”

 

ปัจจุบันในเครือมีการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก ใน scope 1 และ 2 ปริมาณ 6.34 ล้านตันต่อปี และอีก 25 ล้านตันอยู่ใน supply chain หรือ scope 3  ซึ่งเป็นสิ่งที่ท้าทายที่จะต้องดำเนินการให้การปล่อยก๊าซคาร์บอนฯลดลงมาให้ได้ ที่มีเป้าหมายลด scope 1 กับ 2 ปีละ 4.2% หรือ 42% ใน 10 ปีข้างหน้า และต้องลด scope 3 ให้ได้ 25% ในปี 2030 ถือเป็นความท้าทายในการดำเนินงาน

 

ปตท.สผ.ทุ่มหมื่นล้านกักเก็บ Co2

นางนาถฤดี โฆสิตาภัย รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มงานกลยุทธ์และพัฒนาธุรกิจ บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ.  กล่าวว่า ปตท. สผ. ได้มีการปรับเป้าหมายลดความเข้มข้นของการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ในปี 2030 ที่ 30% และในปี 2040 ที่ 50%  เมื่อเทียบกับปีฐาน 2020 เพื่อสู่เป้าหมาย Net Zero Greenhouse Gas Emissions ในปี 2050 จากปี 2022 บรรลุเป้าหมายดังกล่าวได้เร็วกว่าที่กำหนดไว้ถึง 8 ปี สามารถลดก๊าซเรือนกระจกสะสมได้มากกว่า 3 ล้านตันคาร์บอนได้ออกไซด์เทียบเท่า

 

นาถฤดี  โฆสิตาภัย

 

การดำเนินงานเพื่อให้บรรลุเป้าหมายดังกล่าว บริษัทจะเดินหน้าโครงการการดักจับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และกักเก็บ(Carbon Capture and Storage)  โดยนำไปกักเก็บยังชั้นใต้ดิน ในพื้นที่ปฏิบัติการของบริษัทในอ่าวไทย และแหล่งปิโตรเลียมในมาเลเซีย ซึ่งจะสามารถช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ในปริมาณ 5 ล้านตัน ด้วยเงินลงทุนราว 400 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือกว่า 1.3 หมื่นล้านบาท คาดว่าจะดำเนินแล้วเสร็จในปี 2569 เป็นอย่างช้า

 

รวมทั้ง การมุ่งสู่ Net Zero Routine Flare สำหรับโครงการใหม่ที่จะเกิดขึ้น โดยการนำก๊าซที่จะเผาทิ้งกลับมาใช้ประโยชน์ใหม่ อีกทั้ง การดำเนินการโครงการปลูกป่า  ทั้งป่าบก และป่าชายเลน  เพื่อเพิ่มพื้นที่ในการดูดซับก๊าซเรือนกระจก มีเป้าหมายในการดูดซับก๊าซเรือนกระจกสะสมกว่า2 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์ ในปี 2050

 

นอกจากนี้ เพื่อรองรับการเปลี่ยนผ่านทางพลังงาน Energy Transition การดำเนินงานจะขยายเข้าสู่ธุรกิจเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์และหุ่นยนต์ ซึ่งได้จัดตั้งบริษัท AI and Robotics Ventures หรือ บริษัท ARV มุ่งเน้นการขยายธุรกิจหลักใน 4 ด้าน ได้แก่ หุ่นยนต์สำรวจ ตรวจสอบและซ่อมแซมอุปกรณ์ใต้น้ำ (Subsea) อากาศยานไร้คนขับ (Drone) การเกษตรอัจฉริยะ (Smart Farming) และ ด้านสุขภาพ (Healthcare)

 

รวมทั้ง ธุรกิจไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน และกำลังหาโอกาสเข้าสู่ธุรกิจการดักจับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ที่จะเข้าไปช่วยสนับสนุนภาคอุตสาหกรรมและประเทศไทยในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และธุรกิจพลังงานในอนาคตอื่น ๆ เช่น  ไฮโดรเจน

 

TPIPP เร่งสะสมคาร์บอนเครดิต

นายภัคพล  เลี่ยวไพรัตน์  รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายบัญชีและการเงิน บริษัท ทีพีไอโพลีน เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ TPIPP กล่าวว่า ปัจจุบันบริษัทมีโรงไฟฟ้ารวมทั้งหมด 8 แห่ง มีกำลังการผลิตไฟฟ้าอยู่ที่ 440 เมกะวัตต์ ทำให้มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 1.5 ล้านตัน ซึ่งจากการใช้ขยะมาเป็นเชื้อเพลิงส่วนใหญ่ ทำให้สามารถลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ถึง 6.6 ล้านตัน หากมีการปล่อยทิ้งขยะไปเฉย ๆ จะก่อให้เกิดก๊าซมีเทน น่ากลัวกว่าก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ถึง 21 เท่า ซึ่งการใช้ขยะจะช่วยลดการปล่อยก๊าซมีเทนได้

 

ภัคพล  เลี่ยวไพรัตน์

 

ปัจจุบันบริษัทมีแผนจะพัฒนาโรงไฟฟ้าถ่านหิน 2 ยูนิต โดยปรับปรุงหม้อต้มน้ำที่ 7 และ 8 เพื่อสามารถใช้ขยะมาเป็นเชื้อเพลิงได้ เงินลงทุน 3.8 พันล้านบาท  จะแล้วเสร็จในปี 2568และก่อสร้างโรงแปรรูปขยะ 4,500 ตันต่อวัน วงเงินลงทุน 1,000 ล้านบาท คาดแล้วเสร็จภายในปี 2568

 

อีกทั้ง บริษัทอยู่ระหว่างดำเนินการพัฒนาโรงไฟฟ้าขยะที่จังหวัดสงขลา จำนวน 8 เมกะวัตต์ และโรงไฟฟ้าขยะที่จังหวัดนครราชสีมา จำนวน 10 เมกะวัตต์ รวมทั้งอีกหลายโครงการที่บริษัทจะเข้าร่วมการประมูลในอนาคตด้วย คาดว่าปี 2567 จะมีโรงไฟฟ้าขยะหรือพลังงานสะอาดรวม 582 เมกะวัตต์ และจะส่งผลให้บริษัทสามารถรับซื้อขยะ จำนวน 16,200 ตันต่อวัน ซึ่งจะช่วยลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 12.4 ล้านตัน

 

“รัฐบาลประกาศว่าปี 2593 จะลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนได ออกไซด์เป็นศูนย์ เราไม่กลัวเลย เพราะได้เดินหน้าไปก่อนแล้ว แค่ไม่เกินปี 2569 บริษัทก็ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เป็นศูนย์เกินไป 12.4 ล้านตันแล้ว  โดยสิ่งที่ภาครัฐจะช่วยเรื่องนี้ได้คือ ตลาดคาร์บอน ปัจจุบันพบว่าแถบทวีปยุโรปมีการซื้อ-ขาย ในตลาดคาร์บอน ราคาอยู่ที่ 90 ยูโรต่อตันคาร์บอน ส่วนจีนมีการซื้อ-ขาย ในตลาดคาร์บอน ราคาอยู่ที่ 7 ดอลลาร์ต่อตันคาร์บอน ซึ่งไม่ใช่ตลาดที่แปลกใหม่ เพราะประเทศทั่วโลกที่พัฒนาแล้วก็ดำเนินการเช่นกัน เพราะฉะนั้นไทยก็ควรมีและไม่ควรรอช้า”

 

สิงห์ เอสเตท’ ดึงทุกภาคส่วนสู่ Net Zero

นางฐิติมา รุ่งขวัญศิริโรจน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.สิงห์ เอสเตท ระบุว่า เนื่องจาก กระบวนการทำงานของบริษัท เกี่ยวโยงกับห่วงโซ่อุปทานจำนวนมาก ตั้งแต่ ผู้ผลิต วัสดุก่อสร้าง, ชุมชน,ผู้บริโภค และ ผู้ค้ารายย่อย จึงมีความตั้งใจจะดึงพันธมิตรตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำ มุ่งหน้าสู่  Net-Zero ร่วมกัน ตามแนวทาง การพัฒนาธุรกิจที่อย่างยั่งยืน หรือ SD (Sustainable Development) ผ่านการเปิดพื้นที่ และสนับสนุนซัพพลายเออร์รายย่อยในห่วงโซ่ ‘คาร์บอนฟุตพริ้นท์’

 

ทั้งนี้ บริษัทมีเป้าหมายระยะสั้น ว่า ภายในปี 2568 จะลดก๊าซคาร์บอนให้ได้ 10% และตั้งเป้าหมายระยะยาวจะลดก๊าซคาร์บอนให้ได้ 70% ในปี 2573 ใน 4 กลุ่มธุรกิจ ผ่านการดำเนินงาน 3 ด้าน ได้แก่ 1.สังคมคุณภาพและชีวิตที่ดีให้แก่คนทุกกลุ่มจากพื้นที่ธุรกิจที่พัฒนาขึ้น 2. เศรษฐกิจ พัฒนาธุรกิจให้แข็งแกร่งพร้อมรับกับการเปลี่ยนแปลง สิ่งแวดล้อม มุ่งหน้ารับผิดชอบต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศที่หลากหลายตั้งแต่ต้นน้ำสู่ปลายน้ำ

 

ฐิติมา  รุ่งขวัญศิริโรจน์

 

 “ในฐานะเป็นธุรกิจขนาดใหญ่ มีมาตรฐาน SD กำกับ แต่ภาพเกี่ยวเนื่องห่วงโซ่อุปทานต้องลงลึกลงไป ไม่ใช่แค่ผิวเผิน เนื่องจากมีเทรนด์ความต้องการของผู้บริโภคเป็นภาคบังคับ ร่วมเชิงนโยบาย เกิด กรีนไฟแนนซิ่ง, นักลงทุนต่างชาติ ก็ให้ความสำคัญกับเรื่องสิ่งแวดล้อม ถ้าไม่ไปทั้งองคาพยพ ทิ้งคนข้างหลังไว้ คงเกิดขึ้นได้ยาก เราหวังสร้างมาตรฐานไปด้วยกัน”

 

ตัวอย่างของบริษัทที่บ่งชี้ว่าประสบความสำเร็จในเรื่องนี้ เช่น การก่อสร้างอาคารตาม มาตรฐาน LEED มีเทคโนโลยีประหยัด พลังงานและพื้นที่สีเขียวในอาคาร เอส โอเอซีส, การใช้หลักความยั่งยืน และพลังงานธรรมชาติ แสงอาทิตย์ ลม เป็นส่วนสำคัญในการออกแบบโครงการที่อยู่อาศัย เพื่อลดการพึ่งพาเครื่องใช้ไฟฟ้า และการมีส่วนร่วมดูแล เพิ่มพื้นที่แหล่งสมดุลคาร์บอน เพื่อความยั่งยืนของระบบนิเวศ เช่นเดียวกับ การพัฒนานิคมอุตสาหกรรมในจังหวัดอ่างทอง 1,900 ไร่ ในรูปแบบ Eco-industrial Estate และอีก 1,000 ไร่ จะจัดเป็นพื้นที่ ให้ผู้ประกอบการขนาดเล็กที่ต้องการผลักดันไปธุรกิจ ไปสู่ Net-Zero เข้ามาต่อยอดอีกด้วย