“ซีโร่ คาร์บอน” โอกาสธุรกิจใหม่ แข่งรับจ้างปลูกป่าทั่วไทย

14 พ.ค. 2565 | 08:12 น.
อัปเดตล่าสุด :14 พ.ค. 2565 | 15:42 น.
1.6 k

“ซีโร่ คาร์บอน”สร้างโอกาสใหม่ทางธุรกิจ กรมทรัพยากรทางทะเลฯ เผยบริษัทชั้นนำแห่ขอพื้นที่ปลูกป่าชายเลน 5 แสนไร่ เพื่อคาร์บอนเครดิต 5 บริษัทผ่านเกณฑ์รับปลูก ด้านกรมสรรพสามิตเร่งศึกษาเก็บภาษีคาร์บอน 5 สินค้า รับมือ CBAM อียู

 

ภาคธุรกิจของไทยยังต้องเผชิญกับความท้าทายที่เป็นทั้งวิกฤติและโอกาส อย่างต่อเนื่อง ไล่จากดิจิทัล ดิสรัปชั่น สงครามการค้าสหรัฐฯ-จีนที่ไทยมีส่วนได้เสีย มาถึงการระบาดของโรคโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบเศรษฐกิจ การค้าโลกชะลอตัว สอดแทรกด้วยสงครามรัสเซีย-ยูเครน ที่ส่งผลกระทบเงินเฟ้อ ต้นทุนและราคาสินค้าสูงขึ้นทั่วโลก

 

 ล่าสุดภาคอุตสาหกรรมการผลิตและการส่งออกระบุเป็นเสียงเดียวกันว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) ที่โลกได้ให้สัญญาร่วมกันว่าจะช่วยกันลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี ค.ศ.2050 เพื่อควบคุมอุณหภูมิโลกไม่เกิน 1.5 องศาเซลเซียส สร้างแรงกระเพื่อม ประเทศคู่ค้าได้นำประเด็นเรื่องการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมาใช้เป็นมาตรการทางการค้า

 

ทั้งนี้ในเวทีสัมมนา ZERO CARBON วิกฤติ-โอกาสไทยในเวทีโลก จัดโดยหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ (11 พ.ค.65) พบว่าในส่วนของประเทศไทยได้ก่อให้เกิดบริบทใหม่ทางธุรกิจเพื่อใช้ประโยชน์จากคาร์บอนเครดิต ทั้งการปลูกป่าชายเลนเพื่อดูดซับคาร์บอน รวมถึงเกิดตลาดซื้อขายคาร์บอนเครดิตที่เริ่มมีความคึกคักมากขึ้น

 

“ซีโร่ คาร์บอน” โอกาสธุรกิจใหม่ แข่งรับจ้างปลูกป่าทั่วไทย

 

 

แห่ปลูกป่าเพื่อประโยชน์คาร์บอนเครดิต

นายโสภณ ทองดี อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวในช่วงเสวนาในหัวข้อ “Carbon War : จุดเปลี่ยนการค้า-ลงทุนโลก” ใจความสำคัญระบุว่า กรมฯได้สานต่อเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนของไทยให้ได้ภายในปี พ.ศ. 2050 และปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ภายในปี 2065 ให้สำเร็จ

 

โดยการลดก๊าซเรือนกระจกที่ดีที่สุดรูปแบบหนึ่ง คือ การปลูกป่าชายเลนเพื่อดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งเป็นตัวการหนึ่งที่ทำให้เกิดภาวะเรือนกระจก ทั้งนี้กรมฯได้มีการออกระเบียบว่าด้วยการปลูกและบำรุงป่าชายเลนสำหรับองค์กรหรือบุคคลภายนอก พ.ศ. 2564 รวมถึงพื้นที่เป้าหมาย เพื่อให้เอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการขอรับพื้นที่ไปปลูกป่าชายเลนเพื่อดูดซับคาร์บอน และไปใช้เพื่อประโยชน์ทางคาร์บอนเครดิตของภาคธุรกิจ

 

“ซีโร่ คาร์บอน” โอกาสธุรกิจใหม่ แข่งรับจ้างปลูกป่าทั่วไทย

 

 “กรมได้ดำเนินการออกระเบียบการปลูกป่าชายเลนเพื่อประโยชน์จากคาร์บอนเครดิตภาคสมัครใจขึ้น เป็นแผน 10 ปี ตั้งแต่ปี 2565-2575 เป้าหมาย 3 แสนไร่ ในการจัดสรรพื้นที่ให้กับภาคธุรกิจในการเข้ามาร่วมปลูกป่าชายเลน เพื่อคาร์บอนเครดิตในการช่วยกิจกรรมการส่งออก ซึ่งในปีแรกนี้ มีการประกาศพื้นที่เป้าหมายพร้อมจัดสรรให้กับภาคเอกชน 4.4 หมื่นไร่ ปรากฏมีเอกชนมาขอเข้าร่วม 17 บริษัท/องค์กร ซึ่งใน 17 ราย ที่ขอพื้นที่ปลูกป่ามีจำนวนทั้งสิ้นกว่า 5 แสนไร่

 

17 หน่วยงานที่แสดงความจำนงขอพื้นที่ปลูกป่าชายเลนเพื่อคาร์บอนเครดิต

 

สำหรับ 17 รายนี้มีหลายองค์กรที่ขอพื้นที่สูงถึง 1 แสนไร่ ดังนั้นในหลักเกณฑ์ที่จะพิจารณาเช่น พิจารณาจากความพร้อมของภาคธุรกิจหากพร้อมดำเนินการทันที จะได้แต้มต่อมาก แต่ก็มีบางบริษัทที่ขอที่ดินเข้ามาหากได้รับการจัดสรรก็จะดำเนินการใน 3 ปี แบบนี้จะได้คะแนนน้อย หรือกรณีขอเข้ามาเพื่อที่จะขายคาร์บอนเครดิตจะให้คะแนนไว้หลัง แต่ถ้าเป็นธุรกิจที่ขอเข้ามาเพื่อขอไว้ปกป้องธุรกิจ จะให้คะแนนพิเศษ ซึ่งจะประกาศรายชื่อและพื้นที่ที่ได้การจัดสรรในเร็ว ๆ นี้

 

 อย่างไรก็ดีงานปลูกป่าชายเลน เพื่อประโยชน์จากคาร์บอนเครดิตจะต้องเป็นบริษัทที่มีประสบการณ์ มีผลงานการปลูกป่ากับภาคราชการ หรือรับจ้างปลูกป่ากับหน่วยงานเอกชนที่น่าเชื่อถือ ซึ่งมีบริษัทที่เข้ามารับสมัครทั้งหมด  7 ราย ผ่านเกณฑ์การพิจารณาแล้ว 5 รายที่ประกาศแล้วว่าเป็นบริษัทที่พร้อมจะรับจ้างปลูกป่าจากองค์กรที่ได้รับการจัดสรรที่ดินจากกรม

 

“ซีโร่ คาร์บอน” โอกาสธุรกิจใหม่ แข่งรับจ้างปลูกป่าทั่วไทย

 

  • ไทยเร่งปรับโครงสร้างภาษีคาร์บอน

 

 นายณัฐกร อุเทนสุต ที่ปรึกษาด้านการพัฒนาระบบควบคุมทางสรรพสามิต กรมสรรพสามิต กล่าวว่าวัตถุประสงค์ของการจัดเก็บภาษีคาร์บอน เพื่อทำให้การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มีต้นทุนหรือมีราคาที่ต้องจ่ายสูงขึ้น ทำให้มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนฯลดลง ซึ่งจากมาตรการปรับคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดนหรือ Carbon Border Adjustment Mechanism : CBAM ของสหภาพยุโรป (อียู) ที่จะใช้มาตรการ CBAM เต็มรูปแบบตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2569 ทำให้สินค้าที่นำเข้าไปขายในสหภาพยุโรป จะต้องเสียภาษีคาร์บอนซึ่งกรมฯ อยู่ระหว่างการศึกษาใน 5 สินค้าหลัก คือ ซีเมนต์ เหล็กและเหล็กกล้า อะลูมิเนียม ปุ๋ย และบริการไฟฟ้า ว่าหากไทยมีการเก็บภาษีคาร์บอนในประเทศ เมื่อมีการส่งสินค้าไปขายในอียูอาจไม่ต้องเสียภาษีอีก จากได้เสียภาษีไปแล้ว

 

ณัฐกร  อุเทนสุต

 

 “มองว่าหากไทยมีการจัดเก็บภาษี CBAM เอง โดยเริ่มต้นใน 5 กลุ่มสินค้าส่งออกหลัก ก็จะทำให้ผู้ประกอบการไม่ต้องไปเสียภาษีให้กับประเทศปลายทาง ซึ่งยังส่งผลดีต่อรายได้จากการจัดเก็บภาษีของไทย และรัฐบาลยังสามารถนำเงินจากภาษีส่งกลับไปยังผู้ประกอบการผ่านมาตรการอุดหนุนต่าง ๆ เป็นต้น”

 

 ขณะที่การปรับโครงสร้างภาษีสรรพสามิต เพื่อจูงใจให้ทุกภาคส่วน ทั้งภาคอุตสาหกรรม และครัวเรือนลดการใช้พลังงานและลดการปล่อยคาร์บอนฯ นั้น เช่น การเพิ่มอัตราการจัดเก็บภาษีน้ำมันดีเซล ที่ในอดีตมีอัตราการจัดเก็บต่ำกว่าน้ำมันเบนซิน แต่เนื่องจากมีการปล่อยก๊าซคาร์บอนสูงกว่า กรมจึงมองว่าอัตราภาษีน้ำมันดีเซลควรจะเทียบเท่าหรือมากกว่าน้ำมันเบนซิน ทำให้ปัจจุบันอัตราภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลอยู่ที่ 6 บาทต่อลิตร

 

อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่ปี 2565 เป็นต้นมา กรมฯ ยังได้มีการปรับภาษีรถยนต์ครั้งใหญ่ ผ่านมาตรการสนับสนุนการใช้รถยนต์ไฟฟ้า หรือ อีวี โดยการให้เงินอุดหนุนและการปรับโครงสร้างภาษี รวมทั้งจะมีการปรับโครงสร้างภาษีสรรพสามิตรถยนต์ ปี 2569 ในส่วนของอัตราภาษีไฮบริด และปลั๊กอินไฮบริด ให้มีความแตกต่างกัน เพื่อส่งเสริมให้มีการใช้พลังงานไฟฟ้ามากขึ้น

 

และในปี 2593 จะมีการจัดเก็บภาษี เช่น ถ่านหิน รวมทั้ง NGV มากขึ้น เพราะมีการปล่อยก๊าซคาร์บอนฯ ในปริมาณสูง ซึ่งเป็นปัญหาหลักที่เกิดขึ้น นอกจากนี้ในอนาคตจะมีการนำคาร์บอนเครดิตมาใช้ คือ หากจะมีการปล่อยก๊าซคาร์บอน จะต้องมีการซื้อคาร์บอนเครดิตเพื่อมาถัวเฉลี่ยการปล่อยก๊าซคาร์บอนฯ

 

  • คาร์บอนโอกาสธุรกิจใหม่

 นายเกียรติชาย ไมตรีวงษ์ ผู้อำนวยการองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) อบก. หรือ TGO กล่าวว่า สังคมคาร์บอนต่ำเป็นกระแสโลกที่เราไม่เปลี่ยนตามไม่ได้ จึงต้องกลับมาดูหน่วยงาน / องค์กรของเรา ว่าจะปรับตัวลดการปล่อยคาร์บอนได้อย่างไรแล้วใช้เป็นจุดขายในการสร้างขีดความสามารถการแข่งขันหากทำได้ดีจริง ๆ จนมีส่วนเหลือสามารถเป็นคาร์บอนเครดิตที่สามารถนำไปซื้อขายเป็นรายได้ใหม่ ตลอดจนอาจเป็นโอกาสในธุรกิจใหม่ เช่น การรับจ้างปลูกป่าเพื่อเอาคาร์บอนเครดิต และธุรกิจสีเขียวต่าง ๆ

 

เกียรติชาย  ไมตรีวงษ์

 

สำหรับ TGO มีภารกิจสร้างความรับรู้เรื่องภาวะก๊าซเรือนกระจก และจะแก้ไขอย่างไร กำกับดูแลมาตรฐานการวัด ตลอดจนการสร้างตลาดคาร์บอน เพื่อสนับสนุนภาคธุรกิจในการปรับตัวให้เข้าสู่เป้าหมายระดับต่าง ๆ ในกติกาโลก ให้การวัดของไทยอยู่ในมาตรฐานสากลที่เป็นที่ยอมรับ ตลอดจนส่งเสริมกิจการให้รวมตัวเป็นเครือข่าย “Carbon Footprint Network” ที่มีผู้ประกอบการเข้าร่วมโดยสมัครใจกว่า 100 กิจการ เพื่อเตรียมพร้อมในการปรับตัวสู่กติกาใหม่

 

นายเกียรติชายกล่าวอีกว่า การสร้างตลาดคาร์บอนจะมีส่วนช่วยภาคธุรกิจ ในการปรับตัวสู่การลด ละ และเลิก การปล่อยคาร์บอนหรือก๊าซเรือนกระจกสู่สิ่งแวดล้อม เนื่องจากในกระบวนการผลิตของธุรกิจต่าง ๆ จะมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกออกมา เรียกว่าสร้างคาร์บอน ฟุตพริ้นท์ให้เกิดขึ้น กิจการไหนที่ปล่อยมากก็จะมีค่าคาร์บอน ฟุตพริ้นท์สูง ขณะที่กิจกรรมที่ทำแล้วลดการปล่อยคาร์บอน เรียกว่ามีคาร์บอนเครดิต หากหักกลบแล้วมีส่วนเหลือสามารถนำไปซื้อขายแลกเปลี่ยนกันได้ทำให้เกิดตลาดคาร์บอน (Carbon Trading System) ขึ้น

 

“ตอนตั้ง TGO เราได้ส่งเสริมไป 222 โครงการ ให้สามารถไปขอคาร์บอนเครดิตในตลาดคาร์บอนโลก โดยเวลานั้นยังไม่ได้เป็นผู้รับรองคาร์บอนฟุตพริ้นท์เอง ต้องให้องค์กรของสหประชาชาติเป็นผู้ตรวจรับรอง แต่วันนี้เราได้พัฒนามาตรการฐานวัดที่เป็นมาตรฐานสากล และต้องติดตามศึกษาและพัฒนาการวัดเทียบเกณฑ์ใหม่ ๆ ที่แต่ละประเทศ หรือเขตเศรษฐกิจจะออกมาเรื่องคาร์บอนฟุตพริ้นท์ เช่น CBAM ของสหภาพยุโรป เพื่อใช้ตรวจวัดกับธุรกิจไทย ถ้าเราจัดเก็บภาษีส่วนนี้ไว้เองแล้ว เมื่อจะส่งไปขายในอียูไม่ต้องเสียภาษีซ้ำอีก ดังนั้น ต่อไปทุกคนต้องลดการปล่อยคาร์บอนหมด อยู่ที่ว่าใครจะทำได้ในต้นทุนที่ถูกกว่า ก็จะสามารถแข่งขันได้ดีกว่า ต่อไปต้องแข่งกันตรงนี้” นายเกียรติชาย กล่าว