เอกชน ผวา คู่ค้าดัน “ภาษีคาร์บอน” กีดกันสะเทือนเกษตร-ปศุสัตว์ไทย 1 ล้านล้าน

12 ธ.ค. 2564 | 20:20 น.
อัปเดตล่าสุด :13 ธ.ค. 2564 | 03:32 น.
636

เอกชน ผวา “ภาษีคาร์บอน” คู่ค้า เขย่าสินค้าปศุสัตว์-เกษตรไทย 1 ล้านล้านบาทสะเทือน กรมปศุสัตว์ ลุยจัดระเบียบโรงงานอาหารสัตว์ ใช้วัตถุดิบสีเขียวจาก 3 พืช “ข้าว-ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์-มันสำปะหลัง” นำร่อง รับมือ “สหรัฐฯ-อียู” ตั้งการ์ดกีดกันการค้า ชี้ไม่เร่งใน 2 ปี ไทยอ่วมแน่

 องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ อบก. ระบุที่มาของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของไทย 4  อันดับแรก มาจากภาคพลังงาน (253 ล้านตันคาร์บอนฯ ต่อปี) คิดเป็นสัดส่วน 70% ของปริมาณก๊าซเรือนกระจกทั้งหมดของไทยส่วนอีก 30% มาจากภาคเกษตรกรรม

 

โดยเฉพาะ "นาข้าว" และ การทำปศุสัตว์ (52 ล้านตันคาร์บอนฯ) ภาคอุตสาหกรรม โดยเฉพาะการผลิตซีเมนต์ (31 ล้านตันคาร์บอนฯ) และภาคของเสีย (17 ล้านตันคาร์บอนฯ) ดังนั้นหากไทยไม่ปรับตัว ในอนาคตอาจจะถูกกีดกันการค้าผ่านการเก็บภาษีคาร์บอน

 

พรศิลป์ พัชรินทร์ตนะกุล

 

นายพรศิลป์  พัชรินทร์ตนะกุล นายกสมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ต้นทุนวัตถุดิบอาหารสัตว์ของไทยเป็นไปตามกลไกตลาดโลก จากไทยไม่สามารถควบคุมต้นทุนได้ทุกพืช โดยวัตถุดิบหลัก อาทิ กากถั่วเหลือง และเมล็ดถั่วเหลืองมีการนำเข้าจำนวนมาก เพราะผลผลิตในประเทศมีไม่เพียงพอ รวมถึงต้นทุนราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ขึ้นลงตลอดเวลาทำให้ไม่สามารถควบคุมต้นทุนให้มีเสถียรภาพได้

 

“นอกจากนี้ผู้ผลิตอาหารสัตว์ยังต้องช่วยดูแลเกษตรกรในส่วนของราคาข้าวโพดอาหารสัตว์ที่เป็นอีกวัตถุดิบหลักเพื่อไม่ให้เกษตรกรมีปัญหา เพราะฉะนั้นเรื่องต้นทุนมีทั้งเป็นไปตามกลไกตลาด และเป็นไปตามนโยบายของรัฐบาล ที่ผ่านมาก็คุยเรื่องนี้มาตลอดจากข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เป็นสินค้าการเมือง แต่สิ่งที่อยากเห็นคือ ควรปล่อยให้เป็นไปตามกลไกตลาด เพราะอีกด้านหนึ่งรัฐก็มีการอุดหนุนและช่วยเหลือทางการเงินกับเกษตรกรในแต่ละพืชอยู่แล้ว”

ขณะที่สิ่งที่อยากให้รัฐบาลเร่งดำเนินการนับจากนี้ คือ “เกษตรสีเขียว” (การผลิตและบริโภคสินค้าอาหาร เส้นใย พืช และผลิตภัณฑ์จากสัตว์ต่าง ๆ โดยใช้กระบวนการผลิตที่ปกป้องและส่งเสริมสภาพแวดล้อม สุขภาพ ชุมชน และสวัสดิการแรงงาน และสวัสดิการปศุสัตว์) เพื่อรักษาสิ่งแวดล้อมและลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และก๊าซมีเทน

 

ปัจจุบันประเทศคู่ค้าในยุโรปเริ่มเก็บภาษีคาร์บอนจากสินค้านำเข้าแล้ว และคาดในอนาคตฉลากและภาษีคาร์บอนจะถูกนำมาใช้เป็นมาตรการกีดกันการค้าเพิ่มขึ้น และอาจส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมอาหารสัตว์ตลอดทั้งห่วงโซ่อุปทาน และการส่งออกสินค้าปศุสัตว์ของไทยได้ (อุตสาหกรรมอาหารสัตว์ตลอดห่วงโซ่ของไทย และการส่งออกสินค้าปศุสัตว์มีมูลค่ารวมประมาณ1.07 ล้านล้านบาทต่อปี)

 

ขณะเดียวกันในอนาคตไทยจะมีการเก็บภาษีคาร์บอนจากสินค้านำเข้าเช่นกัน ดังนั้น ต้องเร่งเตรียมตัวได้แล้ว

 

ภาคเกษตร/ปศุสัตว์ เตรียมรับมือคู่ค้าเก็บภาษีคาร์บอน

 

“รัฐบาลยังไม่ได้ทำอะไรมากเพื่อเตรียมความพร้อมในเรื่องต่าง ๆ เหล่านี้ รัฐบาลจะอุดหนุนต้นทุนก็อุดหนุนไป แต่ต้องเร่งพัฒนาควบคู่ไปด้วย เพราะวันข้างหน้า อาจขายของไม่ได้ และจะถูกเก็บภาษีเพิ่มขึ้น มองว่าอีกไม่เกิน 2 ปี เราโดนแน่ ถ้าไม่ทำอะไรเลย ดังนั้นอยากให้รัฐบาลมีนโยบายปูพรมมาเลยว่าจะต้องลดคาร์บอนอย่างไรในการผลิตสินค้าเกษตรภายใน 5 ปี”

 

อย่างไรก็ดี ล่าสุด ทางสมาคมฯอยู่ระหว่างดำเนินการร่วมกับกรมปศุสัตว์  เรื่องการพัฒนาการผลิตวัตถุดิบอาหารสัตว์ในประเทศให้เข้าสู่ระบบ “สีเขียว”  เพื่อรองรับความต้องการของตลาดในอนาคต โดยเริ่มต้นใน 3 วัตถุดิบหลัก ได้แก่ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ข้าว และมันสำปะหลัง มีเป้าหมายเข้าสู่ระบบสีเขียวใน  5  ปี (2565-2569 ) เนื่องจากสภาวการณ์การผลิตและการค้าโลกที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ธุรกิจปศุสัตว์และสัตว์น้ำต้องมีการปรับตัวอยู่ตลอดเวลา

 

 ปัจจุบันตลาดต่างประเทศได้มีนโยบายที่มุ่งเน้นไปในด้านการผลิตสินค้าที่ยั่งยืน และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นเงื่อนไขการแข่งขันทางการค้าที่นอกเหนือจากการแข่งขันทางด้านราคาและคุณภาพความปลอดภัย โดยสหภาพยุโรป (อียู) และสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นตลาดส่งออกหลักสินค้าปศุสัตว์ของไทยได้ออกมาตรการเกี่ยวกับสินค้ายั่งยืน อาทิ EU  Green deal และ ESG : Environmental Social and Governance เป็นต้น

 

 ที่สำคัญภาคเอกชนในต่างประเทศ อาทิ Tesco และ Walmart ได้มีออกนโยบายเกี่ยวกับสินค้ายั่งยืน โดยจะต้องตรวจสอบย้อนกลับแหล่งที่มาของสินค้าได้ เช่น พืชวัตถุดิบที่นำมาผลิตอาหารสัตว์จะต้องไม่มาจากการทำลายป่า เป็นต้น ที่ผ่านมารัฐบาลไทยได้มีการดำเนินโครงการและมีเครื่องมือในการส่งเสริมอยู่บ้างแล้ว

 

อาทิ คู่มือมาตรฐานการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีและปลอดภัย (GAP) การส่งเสริมการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์หลังนาและลดการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในพื้นที่ป่า แต่ต้องเร่งในอีกหลายเรื่องให้มากกว่าที่เป็นอยู่

 

 

หน้า 9 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3,739 วันที่ 12-15  ธันวาคม 2564