ราคาน้ำมันพุ่งไม่หยุด “คมนาคม” เปิดมาตรการเยียวยา อุ้มผู้ประกอบการ

13 พ.ค. 2565 | 15:48 น.
อัปเดตล่าสุด :13 พ.ค. 2565 | 22:54 น.

“คมนาคม” สั่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตรึงค่าโดยสารช่วยประชาชน เผยมาตรการอุดหนุนดีเซล-ภาษี อุ้มผู้ประกอบการขนส่ง หลังแบกต้นทุนอ่วม เหตุราคาน้ำมันพุ่งต่อเนื่อง

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า คมนาคมได้สั่งการให้หน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคม พิจารณาหาแนวทางมาตรการเยียวยาผู้ประกอบการภาคคมนาคมที่ได้รับผลกระทบจากราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้น โดยมอบหมายให้นายสรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์ รองปลัดกระทรวงคมนาคม หัวหน้ากลุ่มภารกิจด้านการ เป็นประธานการประชุมหารือมาตรการเยียวยาผลกระทบจากราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้น โดยการประชุมในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อพิจารณาแนวทางมาตรการที่ช่วยเหลือเยียวยาผู้ประกอบการด้านคมนาคมขนส่งทั้งหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน ให้ตรงกับความต้องการ เพื่อนำเสนอ ไปยังหน่วยงานกลางพิจารณาให้การสนับสนุน

 

 

“ที่ประชุมได้พิจารณากำหนดให้หน่วยงานภาคขนส่งในสังกัด ได้แก่ บริษัท ขนส่ง จำกัด องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ และ การรถไฟแห่งประเทศไทย คงตรึงราคาค่าโดยสาร เพื่อเป็นการลดภาระค่าครองชีพของประชาชน โดยให้ชะลอการปรับขึ้นอัตราค่าโดยสารทุกชนิดทุกประเภท จนกว่าสถานการณ์ราคาน้ำมันจะเปลี่ยนแปลงไป จนอยู่ในระดับที่ไม่สามารถรับภาระต้นทุนได้ จึงจะกลับมาพิจารณาใหม่อีกครั้ง ทั้งนี้ได้มีข้อสั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมาย ระเบียบ มติคณะรัฐมนตรี และหลักธรรมาภิบาลอย่างเคร่งครัด”

 

 

 สำหรับมาตรการเยียวยาที่มีความจำเป็นเร่งด่วน ประกอบด้วย 1.การเสนอขออุดหนุนค่าน้ำมันดีเซล 2 บาทต่อลิตร ระยะเวลา 3 เดือน วงเงิน 3,607 ล้านบาท แบ่งเป็น ด้านการขนส่งสินค้า 2,592 ล้านบาท และด้านการขนส่งผู้โดยสาร 1,015 ล้านบาท

 

 

ส่วนมาตรการอุดหนุนราคาน้ำมันดีเซล เป็นการเสนออุดหนุนราคาน้ำมันดีเซลให้กับรถบรรทุกไม่ประจำทาง (70) โดยมีรถที่ใช้น้ำมันดีเซล จำนวน 240,000 คัน คิดเป็นร้อยละ 62 ของรถทั้งหมด (388,620 คัน) ซึ่งใช้น้ำมันดีเซลเฉลี่ย 120 ลิตรต่อวันต่อคัน ซึ่งจะเสนอขออุดหนุนค่าน้ำมัน 60 ลิตรต่อวันต่อคัน ที่ราคา 2 บาทต่อลิตร คิดเป็น 120 บาทต่อวันต่อคัน ระยะเวลา 3 เดือน วงเงินรวมทั้งสิ้น 2,592 ล้านบาท

ทั้งนี้จะเสนออุดหนุนราคาน้ำมันดีเซลให้กับรถโดยสารประจำทาง โดยมีรถที่ใช้น้ำมันดีเซล จำนวน 42,842 คัน คิดเป็นร้อยละ 69 ของรถทั้งหมด (62,491 คัน) ซึ่งใช้น้ำมันดีเซลเฉลี่ย 142 ลิตรต่อวันต่อคัน ซึ่งจะเสนอขออุดหนุนค่าน้ำมัน 60 ลิตรต่อวันต่อคัน ที่ราคา 2 บาทต่อลิตร คิดเป็น 120 บาทต่อวันต่อคัน ระยะเวลา 3 เดือน วงเงินรวมทั้งสิ้น 465 ล้านบาท (รวมรถโดยสารของ ขสมก. และ บขส. แล้ว) รวมทั้งเสนออุดหนุนราคาน้ำมันดีเซลให้กับรถโดยสารไม่ประจำทาง โดยมีรถที่ใช้น้ำมันดีเซล จำนวน 50,947 คัน คิดเป็นร้อยละ 85 ของรถทั้งหมด (60,088 คัน) ซึ่งใช้น้ำมันดีเซลเฉลี่ย 142 ลิตรต่อวันต่อคัน ซึ่งจะเสนอขออุดหนุนค่าน้ำมัน 60 ลิตรต่อวันต่อคัน ที่ราคา 2 บาทต่อลิตร คิดเป็น 120 บาทต่อวันต่อคัน ระยะเวลา 3 เดือน วงเงินรวมทั้งสิ้น 550 ล้านบาท

 

 


2.มาตรการทางภาษี เสนอขอปรับลดภาษีประจำปี ร้อยละ 90 เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการรถสาธารณะ ประมาณ 170,000 คัน ประกอบด้วย รถจักรยานยนต์รรับจ้าง จำนวน 111,552 คัน รถรับจ้างสามล้อ จำนวน 10,472 คัน  รถรับจ้างแท็กซี่ จำนวน 66,462 คัน โดยต้องดำเนินการตราเป็นพระราชกฤษฎีกาเพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณา ให้มีการลดภาษีในรอบปี เพื่อเป็นการบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายของผู้ประกอบการต่อไป

 

 


ด้านการขนส่งทางน้ำ โดยกรมเจ้าท่า ยังคงตรึงราคาค่าโดยสารเรือประจำทาง ทั้งในส่วนของเรือด่วนเจ้าพระยา เรือคลองแสนแสบ และเรือข้ามฟาก ขณะเดียวกันจะเสนอขอรับมาตรการช่วยเหลือกรณีค่าน้ำมันปรับตัวสูงขึ้นจากกระทรวงพลังงาน ให้กับผู้ประกอบการเรือโดยสารสาธารณะ (เรือด่วนเจ้าพระยา เรือคลองแสนแสบ และเรือข้ามฟาก) ประมาณการการขอความช่วยเหลือ คิดเป็นจำนวน 13,328 ลิตรต่อวัน สนับสนุนลิตรละ 2 บาท เป็นเงินรวม 26,656 บาทต่อวัน รวมทั้งสิ้น 2,399,040 บาท เป็นระยะเวลารวม 3 เดือน รวมทั้งจะเสนอขอขยายระยะเวลามาตรการลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซล จนถึงเดือนธันวาคม 2565
 

ขณะเดียวกันมาตรการที่กรมเจ้าท่าอยู่ระหว่างดำเนินการ คือ การเสนอออกประกาศกระทรวงคมนาคมและกฎกระทรวง เกี่ยวกับการงดเว้นค่าธรรมเนียมการตรวจเรือและการออกใบอนุญาตใช้เรือ สำหรับเรือพลังงานไฟฟ้าเพื่อส่งเสริมและพัฒนาเรือพลังงานไฟฟ้า (EV) ทดแทนเรือพลังงานน้ำมัน โดยงดเว้นค่าธรรมเนียมเป็นระยะเวลา 10 ปี และหลังจากนั้นเก็บค่าธรรมเนียมเพียงกึ่งหนึ่ง ขณะนี้อยู่ระหว่างการหารือสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา โดยคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในเดือนตุลาคม 2565

 

 

ด้านการขนส่งทางราง โดยการรถไฟแห่งประเทศไทย จะเยียวยาผู้ประกอบการการขนส่งสินค้าทางรถไฟ โดยจะตรึงราคาค่าธรรมเนียมน้ำมันดีเซล ที่เก็บจากผู้ประกอบการขนส่ง โดยจะตรึงอัตราเฉลี่ยที่ 29.76-30.00 บาท/ลิตร (ไม่ปรับเพิ่มตามราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้นจริง) ส่งผลให้รายได้จากค่าธรรมเนียมน้ำมันต่อเดือนลดลง การรถไฟแห่งประเทศไทยจึงต้องแบกรับภาระต้นทุนในส่วนดังกล่าว 

 

 


นอกจากนี้ด้านการขนส่งทางอากาศ โดยสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย ได้เสนอมาตรการการให้ความช่วยเหลือสายการบินสัญชาติไทยและสายการบินที่ทำการบินภายในประเทศ เนื่องจากสายการบินมีต้นทุนค่าใช้จ่ายจากราคาน้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้น โดยจะขอขยายระยะเวลาการตรึงอัตราภาษีสรรพสามิตของน้ำมันเชื้อเพลิงสำหรับเครื่องบินไอพ่น หน่วยละ 0.20 บาท ที่เดิมรัฐบาลสนับสนุนถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2565 เป็นสิ้นปี 2565 เป็นระยะเวลาเพิ่มเติมอีก 6 เดือน